ขณะที่ พรรคไทยสร้างไทยเตรียมนำงานวิจัยฯ และรายงาน กมธ.กฎหมายฯ มาปรับใช้เป็นแนวทางแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ กรรมการยุทธศาสตร์ พรรคไทยสร้างไทย คณะทำงานย่อยแก้ไขปัญหา 3 จชต. ให้ความเห็นกรณีมีความพยายามจะดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องในการจัดสัมมนาทางวิชาการที่ มอ.ปัตตานี หลังมีการเสนอทำประชามติเห็นด้วย หรือ ไม่เห็นด้วยกับการแบ่งแยกดินแดน นั้น
ตนเห็นว่า การแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทุกภาคส่วนควรอดทน ละเอียด รอบคอบต่อการแก้ไขปัญหา ระวังอย่าเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวส่งผลให้ปัญหาบานปลายเหมือนเช่นที่เคยเป็นมาในอดีต
ในฐานะที่เคยทำงานในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ในสมัยที่ผ่านมา ตนมีข้อสังเกตต่อแนวทางแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 2 ประการ ดังนี้
- สถาบันพระปกเกล้า โดย พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาส ผอ.สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า เคยทำงานวิจ้ยแนวทางแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้ชื่องานวิจัยนั้นว่า PEACE SURVEY ทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 5 ครั้ง โดยในครั้งที่ 5 สำรวจความเห็นระหว่างเดือนกันยายน – ตุลาคม 2562 โดยถามความเห็นประชาชนถึง “รูปแบบการปกครองที่ต้องการ”
พบว่า รูปแบบการปกครองที่เป็นอิสระจากประเทศไทย เป็นรูปแบบที่ประชาชนต้องการ
“น้อยที่สุด”
ส่วนรูปแบบการปกครองที่ประชาชนต้องการมากที่สุด คือ รูปแบบการปกครองที่มีการกระจาย
อำนาจมากขึ้นด้วยโครงสร้างการปกครองที่มีลักษณะเฉพาะของพื้นที่ภายใต้กฎหมายของประเทศไทย (เอกสารงานวิจัย หน้าที่ 68)
ข้อสังเกตในประเด็นนี้ก็ คือ ความคิดเห็นของประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการเป็นอิสระจากประเทศไทยนั้นมี แต่น้อย
มีข้อสังเกตว่า ถ้าไม่ปรับนโยบายและยุทธศาสตร์
ในการแก้ไขปัญหา ปล่อยให้ปัญหาความไม่สงบ ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ความยากจน และความอยุติธรรม เป็นปัญหาที่จมลึกอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน ไปมากกว่านี้ ก็จะกระทบและสร้างความเสียหายต่อการพัฒนาประเทศโดยภาพรวมมากขึ้น ๆ
- คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้ทำการศึกษา เรื่อง แนวทางสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ เพื่อการพัฒนาสร้างสันติสุขและประชาธิปไตย ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งรายงานของคณะกรรมาธิการดังกล่าวมีตัวแทนจากทุกพรรคการเมืองร่วมเป็นคณะกรรมาธิการได้ให้ความเห็นชอบกับรายงานพร้อมทั้งเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรและบรรจุอยู่ในระเบียบวาระการประชุมแล้ว แต่การพิจารณาไม่ถึง ระเบียบวาระ หมดสมัยประชุมไปก่อน
บทสรุปของคณะกรรมาธิการ ฯต่อการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปรับนโยบายและยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหา โดยใช้นโยบายเศรษฐกิจ การเมือง นำการทหาร และ น้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”
มาปรับใช้อย่างจริงจัง
ประการสำคัญ เวลาของความขัดแย้ง ความไม่สงบ ได้ยืดเยื้อยาวนานเกือบ 20 ปีติดต่อกัน สร้างความเสียหายต่อชีวิต จิตใจ ทรัพย์สิน ทั้งของประชาชนและทางราชการมากมาย ถึงเวลาที่จะให้ “อภัย” ต่อกัน โดยหลักศาสนาทั้งพุทธและมุสลิม โดยนำคำสั่งสำนักนายกรัฐมนครี ที่ 66/2523 มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์
(ขอเอกสารรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการ ฯ ได้จากสภา ฯ)
ในส่วนข้อเสนอจากพรรคไทยสร้างไทย นั้น พรรคได้นำงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าและรายงานของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฏร มาปรับใช้ มีไทม์ไลน์ ในการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง และระยะยาว
โดยระยะยาวซึ่งเป็นระยะสุดท้าย เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด เมื่อบริหารจัดการ 2 ขั้นตอนแรกเรียบร้อย จึงถึงขั้นตอนการกระจายอำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ประการสำคัญ ผู้บริหารพรรคโดย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ หัวหน้าพรรค และ ดร.โภคิน พลกุล ประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรค นอกจากเห็นด้วยกับแนวทางการแก้ไขปัญหาทั้ง 3 ขั้นตอนดังกล่าว ซึ่งนำงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า และรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร มาปรับใช้แล้ว
ยังแนะนำให้เพิ่มมิติด้านการต่างประเทศโดยให้ความสำคัญกับการประสานกับมิตรประเทศที่จะร่วมกันสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในภูมิภาค ซึ่งผมได้แจ้งต่อที่ประชุมคณะทำงานย่อย ฯ ในการประชุมครั้งแรกที่พรรคก้าวไกล เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาแล้ว และจะติดตามในการประชุมครั้งที่สอง ในวันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน 2566 ณ พรรคประชาชาติต่อไป