เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 7 สิงหาคม 2566 ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย ได้มีการจัดการแถลงข่าว การร่วมมือกันจัดตั้งรัฐบาล ระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย เพื่อร่วมมือกันจัดตั้งรัฐบาล โดยหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองต่างๆ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองพันธมิตร ซึ่งขณะนี้มีเสียงเกินกึ่งหนึ่งแล้ว รวมถึงยังต้องการเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด และสมาชิกวุฒิสภาเพื่อให้จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จโดยเร็ว
โดยมีคำแถลงการจากการร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลของ พรรคเพื่อไทย และ พรรคภูมิใจไทย ดังนี้
- พรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทยจะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล โดยการสนับสนุนจากพรรคการเมืองต่างๆ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากหลายพรรคการเมือง ซึ่งขณะนี้มีเสียงเกินกึ่งหนึ่งแล้ว แต่เรายังคงต้องการเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาเพื่อให้จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ สามารถบริหารประเทศ และเร่งแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้โดยเร็ว
- รัฐบาลที่จะจัดตั้งขึ้นในครั้งนี้ แม้จะมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งแล้ว แต่เรายังต้องการการสนับสนุนจากทุกฝ่าย เนื่องจากปัญหาของประเทศชาติ และพี่น้องประชาชนที่กำลังเผชิญอยู่นี้ มีความเดือดร้อนรุนแรง การประวิงเวลาออกไปยิ่งทำให้เกิดความเสียหายยิ่งขึ้น การจัดตั้งรัฐบาลได้เร็วเท่าไรจะยิ่งแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วมากขึ้นเท่านั้น
- เรามีความประสงค์จะทำงานการเมืองอย่างสร้างสรรค์ โดยเฉพาะในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความพิเศษ ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ความขัดแย้งในสังคม และวิกฤตรัฐธรรมนูญก่อตัวเป็นปัญหาของประเทศ และประชาชนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เราจึงต้องการเสียงสนับสนุนจากทุกพรรคการเมืองให้มาสนับสนุนนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย โดยยึดถือประโยชน์ของประเทศ และประชาชนเป็นหลัก อาทิ เมื่อฝ่ายค้านเสนอกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม รัฐบาลพร้อมจะให้การสนับสนุน นอกจากนี้จะเปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้อย่างเต็มที่
พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ร่วมกับพรรคภูมิใจไทย เห็นว่าทุกฝ่ายสามารถทำงานร่วมกันได้ จึงกำหนดแนวทางในการจัดตั้งรัฐบาล ดังนี้
- ยึดวาระของประเทศ และประชาชนเป็นที่ตั้ง โดยเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ และประชาธิปไตย นำความปรองดอง สมานฉันท์กลับคืนสู่ประเทศ
- 2. จะเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยการประชุมคณะรัฐมนตรีในวาระแรก จะมีมติให้ทำประชามติขอจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยกระบวนการจัดตั้ง สสร.
- 3. ดำเนินงานการเมืองอย่างสร้างสรรค์ ฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาลสามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างเต็มที่ สิ่งใดที่เป็นประโยชน์จะร่วมกันผลักดันให้สำเร็จ สิ่งใดที่เป็นปัญหาจะต้องถูกตรวจสอบและเร่งแก้ไขให้ถูกต้อง
- 4. จัดตั้งรัฐบาลที่มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้
- 5. การจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้เปิดกว้างให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภามีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อผ่าทางตันระบบการเมืองของประเทศ และฝ่าวิกฤตรัฐธรรมนูญที่สร้างปัญหาอยู่ในปัจจุบัน
หลังจากนี้ เราจะเดินหน้าทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนในสังคม รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา เพื่อแสวงหาความร่วมมือ และกำหนดเจตนารมณ์ในการบริหารประเทศ จึงร้องขอการสนับสนุนจากทุกพรรคการเมือง ทุกฝ่าย ทุกคน มาร่วมกันกอบกู้วิกฤตของประเทศในครั้งนี้
7 สิงหาคม 2566