ระบุ ในฐานะ ส.ส.รุ่นใหม่ ไม่มีสีเสื้อใด ไม่อยากพกมรดกความแค้นในอดีต ยืนยัน วันนี้เป็น ฝ่ายค้านเต็มตัว ส่วนเอกภาพ ของพรรค ขึ้นอยู่กับ กก.บห.ชุดใหม่
“เดชอิศม์” พร้อม 16 ส.ส.ปชป. ยัน พรรคไม่มีมติแนวทางโหวตนายกฯ ออกเสียงเห็นชอบ “เศรษฐา” แต่ทำเพื่อ ปชช. ไม่ได้กระเหี้ยนกระหือรืออยากร่วมรัฐบาล วันนี้พร้อมเป็นฝ่ายค้าน ทั้งตัวและศักดิ์ศรี ย้ำ!!! คนรุ่นเก่า อย่าเอามรดกความเกลียดชังมาให้คนรุ่นใหม่ ยอมรับ ปชป.ไร้เอกภาพตั้งแต่ประชุมใหญ่ล่ม แต่ยังไม่ถึงขั้นแตกหัก พร้อมเปิดอกพูดคุยหากลดทิฐิ
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม 2566 เมื่อเวลา 09.45 น. ที่รัฐสภา กลุ่มสมาชิกส.ส.พรรคประชาธิปัตย์จำนวน 16 คน นำโดยนายเดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช รักษาการรองเลขาธิการพรรคพร้อมสมาชิกในพรรค รวม 16 คน ร่วมกันแถลงข่าวกรณีโหวตเห็นชอบให้นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกมองว่าขัดกับมติพรรค ที่ให้งดออกเสียง
จากการแถลงข่าว นายเดชอิศม์กล่าวว่า การลงมติที่ดูเหมือนไม่เป็นเอกภาพในครั้งนี้ ความจริงพรรคประชาธิปัตย์ เริ่มไม่มีเอกภาพตั้งแต่การประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ทั้งสองรอบ และมีเจตนาที่จะทำให้องค์ประชุมล่ม ทั้งสองครั้ง ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อพรรค และต่อพี่น้ององค์ประชุมที่มาร่วมกันประชุมจากทั่วประเทศ และเสียหายต่อค่าใช้จ่ายของพรรค ที่ต้องใช้ครั้งละ 3-4 ล้านบาท และเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 66 ที่ผ่านมา ได้ประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อพิจารณาว่าจะโหวตนายกรัฐมนตรีในวันที่ 22 ส.ค. 66 อย่างไร ซึ่งในที่ประชุมมีความเห็นแบ่งออกเป็น 3 เรื่องคือ
- มีความเห็นว่า “ไม่เห็นชอบ” เมื่อถามว่าสาเหตุคืออะไร ส่วนใหญ่คนที่ไม่เห็นชอบ จะบอกว่าเนื่องจากความขัดแย้งในอดีต ความโกรธในอดีต จึงมี ส.ส.ใหม่โต้แย้งว่า อยากให้แยกหน้าที่ ส.ส.ปัจจุบัน กับความแค้นความโกรธออกจากกัน หากเราแยกออกจากกันไม่ได้ ก็จะเกิดอคติตลอดไป จากการโต้แย้งดังกล่าว ทำให้มีผู้ใหญ่ของพรรคบางคน ได้เดินออกจากที่ประชุมไป
- มีความเห็นว่า “เห็นชอบ” เนื่องจากประเทศมาถึงทางตัน ความเดือดร้อนของประชาชนมีทุกหย่อมหญ้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ปัญหายาเสพติดที่ขยายวงกว้าง และเราเกิดสูญญากาศทางการเมืองไม่ได้ ความเสียหายก็จะเกิดกับประชาชนอย่างแน่นอน และ
- ที่ประชุมส่วนมากบอกว่าควร “งดออกเสียง”เพราะสมัยโหวตนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลขึ้นเป็นนายกฯ พรรคประชาธิปัตย์ ก็งดออกเสียง เนื่องจากเรากังวลเรื่องการแก้ไขเรื่องม.112
จากนั้นนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคได้ลุกขึ้นพูดในที่ประชุมว่า อย่าโหวตกันเลย เพราะจริงๆแล้วเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส. นั่นคือคำพูดของท่าน และในการประชุมวันนั้น ไม่มีการโหวต พวกเราจึงไม่รู้ว่าจะเป็นมติหรือไม่เป็นมติกันแน่ แล้วก็ปิดประชุมไป
แต่พอมาวันที่ 22 ส.ค. 66 วันโหวตเลือกนายกฯ พวกเรามานั่งฟังการอภิปรายอยู่อีกห้องหนึ่ง ฟังเรื่องความเหมาะสมไม่เหมาะสมของนายเศรษฐา ซึ่งฟังในภาพรวมแล้วเกือบ 100 เปอร์เซนต์ รับได้ เพราะส่วนใหญ่เป็นเรื่องส่วนตัวของนายเศรษฐา ไม่ใช่เรื่องที่จะมาทำหน้าที่นายกฯ
“เรานั่งคุยกันกับ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ประมาณ 20 คน พอมีการโหวต เรานั่งดู 3 คนแรกที่โหวตคือ นายจุรินทร์ งดออกเสียง นายบัญญัติ บรรทัดฐาน โหวตไม่เห็นชอบ นายชวน หลีกภัย ก็โหวตไม่เห็นชอบ นี่คือสามเสาหลักของประชาธิปัตย์ในเวลานี้ ลงคะแนนก็ไม่เหมือนกันแล้ว พวกเราจึงนั่งคุยกันว่านี่เป็นมติของพรรคหรือไม่ เพราะคำว่ามติพรรค จะขอยกเว้นไม่ได้ มติไปทางใดต้องไปทางนั้น พวกเราจึงมีความเห็นว่า อย่างนี้ก็ไม่ใช่มติพรรค”
นายเดชอิศม์กล่าวว่า เราจึงมาแยกพิจารณาว่า
หนึ่งพรรค สองประเทศชาติและประชาชน เราควรจะเลือกข้างไหน จริงๆเราเอาทั้งสองข้าง แต่ถ้าจำเป็นต้องเลือก เราเห็นตรงกันว่าเอา ชาติ และประชาชนไว้ก่อน และเห็นว่าวันนี้ พรรคเพื่อไทย เขารวบรวมเสียงได้เกิน 250 เสียง และเป็นรัฐบาลที่เรามองแล้วว่าเป็นรัฐบาลสมานฉันท์ กปปส. เคยขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ หรือกลุ่มเพื่อนเนวิน เคยเป็นงูเห่าออกจากพรรคภูมิใจไทยมาโหวตให้นายอภิสิทธิ์ เป็นนายกฯ เขายังมาสมานฉันท์กันได้เลย แล้วเราเป็นประชาธิปัตย์ยุคใหม่ทั้งหมด ซึ่งทุกคนมีความเห็นว่า ขอให้ชาติเดินไปข้างหน้าได้ เราควรสนับสนุนให้เขาเป็นนายกฯ แต่ตัวพวกเรายังเป็นฝ่ายค้าน แต่เปิดโอกาสให้เขาได้ทำหน้าที่ นั่นคือเหตุผลที่เราโหวตให้นายเศรษฐา
เมื่อนักข่าวถามว่า ชัดเจนแล้วหรือไม่ว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน นายเดชอิศม์กล่าวว่า ณ วันนี้เราเป็นฝ่ายค้านเต็มตัว ทั้งตัว ส.ส. และศักดิ์ศรีความเป็นประชาธิปัตย์ เราไม่กระเสือกกระสน กระเหี้ยนกระหือรือ อยากไปเป็นรัฐบาล เพราะหลักการร่วมรัฐบาลของประชาธิปัตย์ยังเหมือนเดิม คือ
- เขาต้องเทียบเชิญเรามาก่อน
- ต้องประชุมร่วมระหว่างกรรมการบริหารพรรค
ชุดรักษาการกับ ส.ส. และลงมติ มติว่าอย่างไร
ทุกคนต้องปฏิบัติตาม ซึ่งทุกอย่างยังเหมือนเดิม
ไม่เปลี่ยนแปลง
นอกจากนั้นนายเดชอิศม์ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สิ่งที่เราทำ ไม่ได้จงใจสร้างเงื่อนไขเพื่อให้ถูกขับไล่ออกจากพรรค เพราะตัวพรรคเอง ในขณะนี้ยังไม่มีเอกภาพ ยังต้องรอการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ เพื่อทำให้เกิดเสถียรภาพและแก้ปัญหาภายในพรรค พร้อมทั้งยังระบุอีกว่า ยินดีร่วมงานกับทุกฝ่ายโดยขอให้ใช้เหตุผลเป็นหลัก มากกว่าใช้อารมณ์ความโกรธแค้นในอดีตเป็นที่ตั้ง เพื่อให้พรรคเดินหน้าต่อไปได้