Connect with us

Politics

ความขัดแย้งในบ้านเมืองที่ซับซ้อน และแบ่งฝัก แบ่งฝ่าย มาเป็นเวลาเกือบ 20 ปีคือปัญหา

Published

on

“ไทยสร้างไทย” เสนอ “หลักการใหม่” ยึดหลัก”อภัย” ทั้ง “ปกป้องสถาบัน” และ “ป้องกันการกลั่นแกล้งฟ้องร้อง”  หาทางออกของปัญหา “พ.ร.บ. นิรโทษกรรม และคดี ม.112”

ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2567 ที่ผ่านมา  มีการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ฯ โดยมี ดร.โภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ เป็นประธานที่ประชุม ซึ่งตนได้เสนอความเห็นต่อที่ประชุมว่า เมื่อครั้งทำหน้าที่รักษาการประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้ทำรายงานการศึกษา เรื่อง แนวทางการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ของประชาชนในชาติ  ผลของการศึกษามีสาระโดยสรุปว่า

“ให้มีการนิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งกระทำความผิด หรือถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในคดีการเมือง หรือคดีอาญาที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ยกเว้นคดีทุจริต เว้นแต่กระบวนการพิจารณาคดีทุจริตนั้นไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม และไม่นิรโทษกรรมคดีความผิดตามมาตรา 112”  โดยสภาผู้แทนราษฎรได้ให้ความเห็นชอบกับรายงานการศึกษาดังกล่าวอย่างเป็นเอกฉันท์ และทุกพรรคการเมืองที่ให้ความเห็นชอบกับรายงานการศึกษาดังกล่าวก็ยังอยู่ในสภาชุดปัจจุบันครบถ้วน



ดังนั้นจึงควรนำรายงานการศึกษาดังกล่าว มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะคดีความผิดตามมาตรา 112 ที่เป็นประเด็นความขัดแย้งอยู่ในปัจจุบัน ที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวางแล้วมีความเห็นสรุปว่า ความขัดแย้งในบ้านเมืองที่ซับซ้อน และแบ่งฝัก แบ่งฝ่าย มาเป็นเวลาเกือบ 20 ปี เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศในทุกมิติ

ดังนั้น การสร้างกติกาและการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรม เป็นประชาธิปไตย เพื่อสร้างความรัก ความสามัคคี และความปรองดอง สมานฉันท์ของประชาชนในชาติจึงเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด


โดยเห็นว่าถึงเวลาที่ควรนำคุณธรรม “อภัย” มาใช้ในการแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการมีการนิรโทษกรรมคดีการเมือง และคดีอาญาที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ยกเว้นคดีทุจริต เว้นแต่กระบวนการพิจารณาคดีทุจริตนั้นไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมส่วนคดีความผิดตามมาตรา 112 ที่ประชุมเห็นว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงเสนอความเห็นโดยยึด “รัฐธรรมนูญ” เป็นหลัก ทั้งนี้ ควรดำเนินการแก้ปัญหาใน 2 แนวทางไปพร้อมๆกันคือ

1. คดีความผิดตามมาตรา 112 และมาตราอื่นๆที่เกี่ยวข้องในหมวดพระมหากษัตริย์บัญญัติขึ้นเพื่อให้สอดรับกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญซึ่งถือว่าองค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพ สักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ เฉกเช่นเดียวกับประมุขต่างประเทศก็ได้รับการคุ้มครองเช่นกัน และโดยข้อเท็จจริงแล้วเมื่อมีการล่วงละเมิดด้วยการดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาทฯลฯ ต่อองค์พระประมุขของชาติ พระองค์ก็มิอาจจะโต้ตอบ หรือชี้แจง หรือดำเนินการใดๆได้

ดังนั้น ควรแก้ไขกฎหมายให้องค์พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจที่จะ “พระราชทานอภัย” สำหรับกรณีความผิดตามมาตรา 112 ได้ โดยให้เป็นการระงับการดำเนินคดีและให้ถือว่าคดีเป็นอันสิ้นสุด ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตามมาตรา 112 สามารถทำหนังสือ “ขอพระราชทานอภัย” ต่อองค์พระมหากษัตริย์โดยให้คำมั่นว่าจะ”ไม่กระทำซ้ำ” อีกในระหว่างการดำเนินคดีก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด กรณีนี้เรียกว่า “การขอพระราชทานอภัย” ซึ่งต่างจากการ “ขอพระราชทานอภัยโทษ” ที่คดีถึงที่สุดแล้ว

2.การแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเกี่ยวกับการร้องทุกข์ กล่าวโทษความผิดตามมาตรา 112 โดยให้มีคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองในการดำเนินคดีประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิหลายสาขาเพื่อเป็นหลักประกันป้องกันการกลั่นแกล้งในการดำเนินคดี

นอกจากนี้  คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเห็นว่า ทั้ง 2 แนวทางดังกล่าวเป็น “หลักการใหม่” ในการแก้ไขปัญหาการจัดทำ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และการพิจารณาคดีความผิดตามมาตรา 112 จึงได้เสนอให้คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ หัวหน้าพรรค และ ดร.โภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค เพื่อออกแถลงการณ์ในนามพรรคไทยสร้างไทย

และร่วมกันแถลงข่าวการเสนอทางออกของปัญหา พ.ร.บ. นิรโทษกรรม และคดีความผิดตามมาตรา 112 ในเวลาที่เหมาะสม เพื่อภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม พิจารณานำไปปรับใช้ตามที่เห็นสมควร

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: