Connect with us

Politics

“ชัชชาติ” ยังไม่เคาะ! ราคารถไฟฟ้า

Published

on

“ชัชชาติ” หารือสภาองค์กรผู้บริโภค ยอมรับสัญญาค่าโดยสารรถไฟฟ้า ยังไม่สรุป

ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) หารือร่วมกับสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) โดยมี น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค พร้อมคณะผู้บริหาร กทม. เข้าร่วมประชุม โดย สภาองค์กรของผู้บริโภค ยื่นข้อเสนอ ให้นายชัชชาติ คงราคาสายสีเขียว 44 บาท ก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทานปี 2572 รวมถึงการเปิดเผยสัญญาต่อผู้บริโภค

น.ส. สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า วันนี้ได้ยื่นข้อเสนอแก่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 6 ประเด็น ได้แก่

1.ยุติแผนระยะสั้นเก็บค่าบริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวสูงสุดไม่เกิน 59 บาททันที

2.เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดร่างสัญญาสัมปทานที่กำหนดค่าบริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวสูงสุด 65 บาท และสัญญาจ้างเดินรถที่เกินเลยสัญญาสัมปทานถึงปี 2585 และแก้ไขสัญญาจ้างเดินรถให้สิ้นสุดพร้อมกันในปี 2572

3.กำหนดค่าบริการอัตราสูงสุดใกล้เคียงกับรถไฟฟ้าทุกสายทุกระบบที่ 44 บาท ตามสิทธิสัญญาสัมปทานของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

4.กำหนดสัดส่วนของค่าบริการขนส่งมวลชนต่อรายได้ขั้นต่าของประชาชนต่อวันต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ขั้นต่า เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคทุกกลุ่มเข้าถึงและใช้บริการได้

5.ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต้องเป็นผู้นำการเจรจาร่วมกับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จากัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในการนำโปรโมชั่นเที่ยวเดินทาง 30 วันกลับมา เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้บริโภค

6.สนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้แทนสภาองค์กรของผู้บริโภคในฐานะตัวแทนผู้บริโภคตามกฎหมายร่วม เป็นคณะกรรมการหรือคณะทำงานด้านขนส่ง และยานพาหนะของหน่วยงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร

น.ส.สารีกล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้รับฟังปัญหาของผู้บริโภคที่มีความยากลำบากในการใช้บริการรถไฟฟ้า จึงขอให้ยกเลิก Hot Fix การเก็บค่าโดยสาร 59 บาทตลอดสายทันที แต่ขอให้ใช้หลัก 44 บาทตลอดสายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและเอกชน เช่น บีทีเอส ที่เดินรถอยู่ด้วย และจะเป็นต้นแบบให้รถไฟฟ้าสายอื่นๆ ได้อีกด้วย รวมถึงขอให้แก้ไขสัญญาจ้างเดินรถ ตั้งแต่ปี 2572 – 2585 ซึ่งหากสามารถทำได้ หลังหมดสัญญาปี 2572 จะสามารถลดค่าโดยสารให้เหลือ 25 บาทได้

ด้านนายชัชชาติ กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่ได้มาคุยกัน ประเด็นแรกที่สภาองค์กรของผู้บริโภคกังวล ราคา 59 บาท และ 44 บาท เป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้น ซึ่ง กทม.จะต้องจัดเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายทุกวัน ส่วนไข่แดงสูงสุดก็อยู่ที่ 44 บาทอยู่แล้ว และผู้บริโภคกลุ่มอื่นที่ไม่ได้ใช้บริการรถไฟฟ้าต้องมารับภาระไปด้วย ซึ่งไม่เป็นธรรม ดังนั้นจะต้องไปคำนวณหากจัดเก็บในราคา 59 บาท หรือ 44 บาท กทม.จะต้องสนับสนุนเท่าไร รวมทั้งนำราคาค่าโดยสารทั้ง 2 ราคา ไปเปรียบเทียบกับราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ต้องมีเหตุผลที่อธิบายได้เพื่อชี้แจงให้สภาองค์กรของผู้บริโภค รับทราบ

นายชัชชาติ กล่าวว่า ปัญหาใหญ่วันนี้คือสัญญาการจ้างเดินรถปี 2572-2585 มีการลงนามในสัญญาไปนานแล้วมีค่าใช้จ่ายประมาณหมื่นกว่าล้านต่อปี ซึ่งเป็นกรอบที่ค้ำคออยู่ ทำให้ขยับตัวได้ยาก แต่จะพิจารณาหาแนวทางให้สัญญาที่ลงนามไปแล้ว ทำอย่างไรไม่ต้องถึงปี 2585 อย่างไรก็ตามจะรับข้อเสนอดังกล่าว โดยในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมหารือร่วมกับนายธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (มหาชน) หรือเคที เพื่อหาข้อสรุป ส่วนหนี้ที่เดินรถจนถึงปัจจุบัน จะต้องพิจารณาค่าโดยสารให้รอบคอบก่อน

รวมทั้งพิจารณาว่าหนี้เป็นหนี้ที่มาอย่างถูกต้องหรือไม่ ซึ่งมองว่าหากจะใช้เวลาก็ไม่ทำให้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมากจากเดิม ส่วนการหาแหล่งเงินมาจ่ายหนี้นั้น อาจหาแหล่งเงินกู้ แต่เท่าที่ทราบเอกชนจะมีดอกเบี้ยสูงกว่าภาครัฐ ดังนั้นจึงต้องคิดอย่างรอบคอบ และให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย

ส่วนกรณีเรื่องตั๋วเดือน และตั๋วนักเรียน นำกลับคืนมานั้น นายชัชชาติ กล่าวว่า ต้องมาเจรจากับบีทีเอสต่อไป ส่วนข้อเรียกร้องให้เปิดเผยสัญญาการจ้างการเดินรถนั้น นายชัชชาติ กล่าวว่า ต้องไปดูว่ากทม.มีสิทธิเปิดเผยได้หรือไม่ ตอนนี้กทม.ได้รับมาเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะเปิดเผยต่อสาธารณชนได้หรือไม่

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: