Connect with us

Politics

แฉ! สร้างรัฐสภา เป็น “ไม้พะยอม” ไม่ใช่ “ไม้ตะเคียนทอง”

Published

on

วัชระ ไม่ปล่อยพรพิศลอยนวล!! กก.ตรวจการจ้างเสนอบอกเลิกสัญญาก่อสร้างซิโน-ไทย หลังพบโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ส่อทุจริตอื้อ เตรียมส่งเรื่องให้ชวน-ป.ป.ช.ฟันต่อ

ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า (28 มี.ค.65)เมื่อเวลา 13.45 น.ที่อาคารรัฐสภา นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือผ่านงานสารบรรณถึงนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ว่า ได้ขอให้ดำเนินการตามกฎหมาย กรณีมีการกระทำที่ส่อถึงการกระทำความผิดทางอาญา แพ่ง วินัย และละเมิด ในการไม่ปฏิบัติตามสัญญาการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เกี่ยวกับไม้ในการก่อสร้างและตกแต่งอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ และขอสอบถามพฤติกรรมของเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จากการที่ตนได้มีหนังสือถึงเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้ตรวจสอบกรณีการทุจริตโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งข้อกำหนดในสัญญาก่อสร้าง ระบุให้ผู้รับจ้างใช้ “ไม้ชนิดตะเคียนทอง” ปูพื้น แต่ปรากฏผลการพิสูจน์จากกรมป่าไม้แจ้งผลการตรวจพิสูจน์ตัวอย่างไม้ ปรากฏว่าเป็น “ไม้พะยอม” มิใช่ “ไม้ตะเคียนทอง” ตามข้อกำหนดในสัญญาก่อสร้าง ซึ่งการใช้ “ไม้พะยอม” มาปูพื้นแทน “ไม้ตะเคียนทอง” เป็นเหตุให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (ผู้ว่าจ้าง) ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง เนื่องจากคุณภาพของไม้ไม่ตรงตามข้อกำหนดในสัญญาก่อสร้าง และมีคุณภาพต่ำกว่าที่กำหนดในสัญญาก่อสร้าง ประกอบกับได้มีการจ่ายเงินซึ่งได้มาจากงบประมาณแผ่นดิน อันมาจากภาษีอากรของประชาชนทั้งประเทศให้แก่ผู้รับจ้างไปแล้วเป็นจำนวนเงินกว่า 11,000 ล้านบาท จากจำนวนเงินทั้งสิ้น 12,280 ล้านบาทนั้น เนื่องจากการกระทำดังกล่าวครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา กรณีจึงมิใช่การที่ยังมิได้รับมอบงานจากผู้รับจ้าง แต่เป็นความผิดทางอาญาสำเร็จแล้ว ดังนั้นจึงต้องมีผู้รับผิด
ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. 2554 บัญญัติให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ประกอบพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. 2554 บัญญัติให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้ง รวมทั้งมีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาและเห็นชอบในการประเมินเลื่อนเงินเดือน และลงโทษข้าราชการ พนักงานราชการ ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่กระทำความผิดทางวินัย ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่โดยตรงตามกฎหมายในฐานะเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อสืบหาและลงโทษข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่กระทำความผิดดังกล่าว ตลอดจนสั่งการให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ดำเนินการตามกฎหมายกับบุคคลภายนอกที่กระทำความผิดต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรอย่างเคร่งครัด อย่าได้ละเว้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และอื่น ๆ ขณะเดียวกันขอสอบถามการปฏิบัติหน้าที่ของตัวท่าน (นางพรพิศ เพชรเจริญ) เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กรณีดังต่อไปนี้
1.ตามที่มีข่าวว่าท่านเคยประชุมร่วมกับข้าราชการการเมือง ข้าราชการสภาฯ และเอกชน เรื่อง การขยายเวลาก่อสร้างอาคารรัฐสภาครั้งที่ 5 ว่าจะไม่ขยายเวลาการก่อสร้างแต่จะช่วยเรื่องค่าปรับ จริงหรือไม่
2.คณะกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่มีมติ 6 ต่อ 2 ไม่อนุมัติให้ขยายสัญญาการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ครั้งที่ 5 แต่ท่านแถลงข่าวกับสื่อมวลชนว่า “คณะกรรมการตรวจการจ้างมีมติ 6 ต่อ 3 ไม่อนุมัติให้ขยายสัญญา” ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงเพราะเหตุใดจึงแถลงข่าวเช่นนั้น
3.ท่านบอกกล่าวกับนายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตสมาชิกรัฐสภาในวันไปฉีดวัคซีนโควิด-19 เรื่องการตรวจสอบการทุจริตสภาฯ ว่า “ให้เบา ๆ หน่อย” นั้นหมายความว่าอย่างไร
4.ท่านสั่งให้ข้าราชการสภาฯ รายงานท่านว่า “หาก ส.ส.วิลาศเข้าสภาฯ ไปพบใครในสภาฯ ให้รายงานท่านและให้ส่งภาพ หรือกล้องวงจรปิดรายงานท่านว่า ส.ส.วิลาศไปหาใครที่ไหน” เป็นความจริงหรือไม่ ใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายข้อใด เป็นการละเมิดสิทธิของอดีตสมาชิกรัฐสภาหรือไม่
5.ท่านพูดจาเชิงข่มขู่หรือกดดันข้าราชการประจำผู้ใต้บังคับบัญชาของท่านกรณีการตรวจสอบการทุจริตสภาฯ หรือไปเป็นพยานศาลเป็นความจริงหรือไม่

ทั้งนี้ นายวัชระจะนำเรื่องดังกล่าวร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายต่อไปอย่างรวดเร็วที่สุด และจะได้รายงานพฤติกรรมของนางพรพิศให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรทราบเพื่อวินิจฉัยต่อไป

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: