เรืองไกร ยื่น กกต.ฟัน “สุรชาติ เทียนทอง” ปมเข้าพิธีอุปสมบทมุ่งสู่ทางธรรม ขาดคุณสมบัติ มีลักษณะต้องห้าม
ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า เป็นรายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. แจ้งว่า สัปดาห์หน้าทางสำนักงานกกต.เตรียมเสนอเรื่องให้ที่ประชุมพิจารณาว่าจะประกาศรับรองให้นายสุรชาติ เทียนทอง ผู้ได้รับเลือกตั้งจากพรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นส.ส.กทม. เขตเลือกตั้งที่ 9 แทนตำแหน่งที่ว่างหรือไม่ เนื่องจากในวันที่ 30 มี.ค.นี้ จะครบกำหนดระยะเวลา 60 วันตามที่กฎหมายกำหนด
ทั้งนี้ นอกจากมีประเด็นคำร้องของนายสิระ เจนจาคะ อดีต ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยื่นขอให้ตรวจสอบกรณีขึ้นป้ายหาเสียงว่า “รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ลดรายจ่ายประชาชน”เข้าข่ายกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 73 (5) ที่ระบุว่า หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคามใส่ร้ายด้วยความเท็จจูงใจให้เข้าใจผิด ในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง หรือไม่แล้ว ยังมีกรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยื่นกกต.ขอให้ตรวจสอบว่านายสุรชาติ เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยหรือไม่ด้วย
สืบเนื่องจาก นายเรืองไกร ได้ยื่นร้องว่าจากการตรวจสอบเว็บไซต์ของสำนักงานกกต.เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2565 พบว่า นายสุรชาติ เป็นสมาชิกของพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค. 2552 แต่จากการตรวจสอบกูเกิ้ลพบ ข่าวเว็บไซต์มติชน เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2563 หัวข้อ “สุรชาติ เทียนทอง” เข้าพิธีอุปสมบทมุ่งสู่ทางธรรม ป๋าเหนาะ – ส.ส.- แม่ยก ร่วมงานบุญอย่างคึกคัก จึงมีมูลเหตุตรวจสอบว่า การบวชเพื่อศึกษาธรรมะนั้น จะทำให้นายสุรชาติ ขาดจากความเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยตามข้อบังคับพรรคเพื่อไทย ข้อ 16(3) ประกอบข้อ 12(4) หรือไม่
ทั้งนี้ ข้อบังคับพรรคเพื่อไทย ข้อ 16(3) ระบุว่า “สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลง เมื่อขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 11 หรือ ข้อ 12 กรณีเว้นแต่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 12 (4) และเป็นการบวชตามประเพณีนิยม แต่ในระหว่างมีลักษณะต้องห้ามดังกล่าวจะใช้สิทธิในฐานะสมาชิกมิได้” และ ข้อ 12(4) ระบุว่า บุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ เป็นภิกษุ สามเณร นักพรด หรือ นักบวช เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้เป็นสมาชิก ดังนั้นหากกกต.ตรวจสอบว่านายสุรชาติ บวชเพื่อศึกษาธรรมะ จะเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกพรรคพท.สิ้นสุดลงหรือไม่ และการที่พรรคเพื่อไทย ส่งนายสุรชาติ ลงสมัคร ส.ส. เมื่อวันที่ 30 ม.ค.2565 จะเป็นการฝ่าฝืน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยพรรคการเมืองและพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ด้วยหรือไม่.