Connect with us

Politics

“สุรนันทน์” ฝาก 3 ข้อ!! ก่อนการเมืองไทยเสื่อมถึงจุดต่ำสุด

Published

on

“สุรนันท์” แชร์มุมมอง 90 ปีประชาธิปไตยไทย ชี้! ทหารต้องเลิกยุ่งการเมือง คืนอำนาจให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจ

ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า

90 ปีประชาธิปไตยไทยในสายตาชายอายุ 61

ผมเกิดปี พ.ศ. 2504 ยุคจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี จึงใช้ชีวิตภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่ลุ่มๆดอนๆ มา 61 ปีแล้ว ผมเริ่มสนใจการเมืองก็ช่วง 14 ตุลาคม 2516 – 6 ตุลาคม 2519 อายุ 12 – 15 ด้วยคุณพ่อเป็นโฆษกรัฐบาลในยุครัฐบาลอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ และด้วยเป็นยุคเปิด ประชาชนมีความหวังในระบอบประชาธิปไตย เสรีภาพเบ่งบาน มีหนังสือหลากหลายความคิดพิมพ์ขาย ที่บ้านผมจึงมีหนังสือการเมืองเต็มชั้นเต็มห้อง และได้อ่านเกือบทุกเล่ม บางเล่มซ้ำไปซ้ำมาหลายรอบ

แต่แล้วกระบวนการ “ขวาพิฆาตซ้าย” การปราบปรามนิสิตนักศึกษาและผู้เห็นต่าง ทำให้เหตุการณ์ที่นำไปสู่ความรุนแรงในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และการกวาดล้างกล่าวหาที่ตามมา กลายเป็นโจทย์ที่คาใจผม เมื่อไปเรียนต่อต่างประเทศจึงเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์การเมือง (Political Economy) ทำให้ได้ศึกษาระบบเศรษฐกิจ และระบอบการปกครองต่างๆ รวมทั้งได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับประเทศไทยที่หาอ่านไม่ได้ในบ้านเกิดตัวเอง แรงบันดาลใจหลายๆ อย่างที่มีจากการเรียนการอ่าน จึงกลับมารับราชการที่สภาพัฒน์ในยุค ดร.เสนาะ อูนากูล เป็นเลขาธิการฯ ภายใต้รัฐบาล “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ของรัฐบาล พลเอกเปรม ติณสูลานนท์

ด้วยความเมตตาของ ดร.เสนาะ ผมจึงได้เป็นศิษย์คนหนึ่งที่ได้ถือกระเป๋าหอบเอกสารตามไปประชุมทั้งในและต่างประเทศ ที่สำคัญคือถึงแม้จะต้องนั่งแถวหลังสุดในห้องประชุมหรือท้ายเครื่องบิน แต่ก็ได้เห็น พลเอกเปรมทำงาน ความไม่ชอบ “ทหาร” ของผมที่ติดตาติดใจตอนเด็กๆ ลดลงไปบ้าง เพราะพลเอกเปรม เป็นผู้นำที่รับฟัง หาข้อมูลครบถ้วนทุกฝ่าย กล้าตัดสินใจ และที่สำคัญไม่ชอบการคอรัปชั่น ตัวท่านไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง

เมื่อพอมีประสบการณ์ทำงาน ประกอบกับความสนใจการเมือง จึงลาออกจากราชการ และได้มีโอกาสไปเป็นทีมงานของพรรคความหวังใหม่ ที่ตั้งโดย พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ในปี 2533 โดยการชักชวนจากคุณไพศาล พืชมงคล แห่งสำนักธรรมนิติ “นายจิ๋ว” เป็นทหารนักประชาธิปไตย ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศ ต้องการเห็น “อีสานเขียว” และยอมออกจากการเป็นผู้บัญชาการทหารบก เพื่อมาตั้งพรรคการเมือง ทั้งๆ ที่บารมีขณะนั้นจะเลือกแนวทางขึ้นสู่อำนาจด้วยการรัฐประหารก็ทำได้

และโลกก็เหมือนจะเปลี่ยนแปลงสู่ยุคเสรีประชาธิปไตย การทลายกำแพงเบอร์ลินในปี 2532 (1989) ถึงขนาดนักวิชาการอย่าง Francis Fukuyama มีวรรคทองว่าเป็น “The End of History” แต่ประเทศไทยกลับถอยหลังด้วยการรัฐประหารคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) โดยพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ การแก่งแย่งอำนาจระหว่างทหารรุ่น 5 รุ่น 7 การมีนายทุนใหม่ที่เกิดขึ้นการผลพวงของการ “โชติช่วงชัชวาล” ในยุค “ป๋าเปรม” และนโยบายการ “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” ของ​ “น้าชาติ” พลเอกชาติชาย ชุณหวัณ การเปิดโลกโลกาภิวัฒน์ และเทคโนโลยีการสื่อสารดาวเทียม ทำให้เงื่อนไข “ทุน” ตรงกับ “ทหาร” ขุนศึกจับมือกับพ่อค้า เป็นตัวขับเคลื่อนเปลี่ยนการเมืองไทย

“นายจิ๋ว” โดนทหารรุ่นน้อง “ไล่บี้” พรรคความหวังใหม่โดน “บล็อก” ในทุกทิศ ผมเป็นพลเรือนคนหนึ่งกับทีมทหารคนสนิทของท่านที่ตระหนักถึงแรงกดดันเพื่อทำลายล้าง

ยังดีที่มี “เทคโนแครต” อย่างนายอานันท์ ปันยารชุน มาคั่นเป็นนายกรัฐมนตรีไว้ แต่เมื่อโฉมหน้า พลเอกสุจินดา คราประยูร โผล่เพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีเอง ประชาชน ชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ไม่ยอมรับ นำไปสู่การประท้วงและความรุนแรงในการปราบปราม “พฤษภาทมิฬ” ในปี 2535 ช่วงนั้นผมทำงานบริษัทเอกชน ชวนลูกน้องพากันส่ง “Fax” ชวนคนไปประท้วง และไปนอนกลางราชดำเนินในฐานะหนึ่งใน “ม็อบมือถือ” กระโดดหลบกระสุนกัน ถึงกับ “Phonelink” ตกหายแถวสะพานมัฆวาน

ผลพวงตรงนั้นทำให้เกิด สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) และการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ มีหลายคนที่ผลักดัน แต่ก็ต้องให้เครดิต นายกรัฐมนตรี นายบรรหาร ศิลปอาชา ที่เป็นแรงผลักดันจนได้รัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่สุดฉบับหนึ่ง ในสายตาคนที่ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง ดูมีความหวังขึ้นสำหรับคนไทย

ผมเองไปลงเลือกตั้งกับ คุณทักษิณ ชินวัตร ในนามพรรคพลังธรรม ปี 2538 และ “สอบตก” แต่ได้บทเรียนมากมาย ทำให้เข้าใจคนกรุงเทพฯ และความเป็นอยู่มากขึ้น เพราะเมื่อก่อนถึงผมจะเป็นเด็กเกิดกรุงเทพฯ แต่ด้วยงานที่สภาพัฒน์ และการอยู่กับ “นายจิ๋ว” ทำให้ผมเข้าใจประเทศไทยในต่างจังหวัดมากกว่า ทำให้เมื่อมาลงพื้นที่จริงในกรุงเทพฯ จึงเหมือนเห็นอีกโลกของความเหลื่อมล้ำและไม่เท่าเทียม บ้านมีรั้ว บ้านตึก ชุมชน คนเดินถนน ฯลฯ

ประสบการณ์นั้นทำให้ผมตัดสินใจร่วมหัวจมท้ายกับ คุณทักษิณ ในการตั้งพรรคไทยรักไทยในปี 2542 ทำงานช่วยสร้างพรรคการเมือง เป็นโฆษกพรรค และได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อในปี 2544 ต่อด้วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในปี 2548 ไทยรักไทยเป็นพรรคที่มีนโยบาย “ก้าวหน้า” มีเวลาตกผลึกความคิดการพัฒนาประเทศที่ไม่ต้องไปลอก “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” และ คุณทักษิณ เป็นผู้นำที่เสนอแนวคิดการ “เปลี่ยน” ประเทศได้ชัดเจนที่สุดคนหนึ่ง ซึ่งคือปัจจัยของความสำเร็จของพรรค และรัฐบาลในยุคนั้น

ผมไม่เคยรังเกียจการประท้วงของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำโดย คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ในยุคคุณทักษิณ ผมถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย แต่ที่ “ทำลาย” ประชาธิปไตยในขณะนั้น คือการ “บอยคอต” การเลือกตั้งของพรรคการเมืองฝ่ายค้านในเวลานั้น เพราะถ้ามีความขัดแย้ง การยุบสภาเพื่อให้ประชาชนเป็นคนตัดสินเป็นไปตามวิถีประชาธิปไตย การที่คิดว่ารัฐบาลคุณทักษิณผิด ไม่ว่าในกรณีใด ต้องให้กติกาตามรัฐธรรมนูญเป็นวิถีในการเดินต่อ เพราะเมื่อเรามีชีวิตอยู่และเชื่อมั่นในประชาธิปไตย เราต้องเคารพอำนาจการตัดสินใจของประชาชน ประชาชนจะเห็นเองด้วยข้อเท็จจริงที่ถกเถียงกันว่าจะเชื่อใคร และ “บัตรเลือกตั้ง” ของแต่ละคน คือ เสียงที่ตัดสิน จง “อย่าดูถูกประชาชน”

แต่นั่นคือทัศนะของฝ่ายอำนาจนิยมและอนุรักษ์นิยมในประเทศไทย การบอยคอตการเลือกตั้งทำให้เกิดปรากฏการณ์การเลือกตั้งที่บิดเบี้ยวและนำไปสู่การรัฐประหารในที่สุด เป็นการเริ่มต้นของความขัดแย้งที่รุนแรง การเผชิญหน้าที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศ เป็น “Lost Decades” 2 ทศวรรษที่หายไปของคนไทยอย่างแท้จริง

ผมเป็นคนหนึ่งใน 111 คนของกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกยุบและถูกตัดสิทธิทางการเมือง ซึ่งรวมถึงการตัดสิทธิการลงคะแนนในการเลือกตั้ง ซึ่งถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน การยุบพรรคการเมืองเป็นการทำลายคู่ต่อสู้ทางการเมือง เป็นการตัดตอน ซึ่งขัดกับหลักประชาธิปไตย เพราะพรรคการเมืองเป็นของสมาชิกที่เข้ามาร่วมอุดมการณ์ ในยุคนั้นไทยรักไทยมีสมาชิกเป็นล้านคน เป็นผลพวงให้เกิดความไม่เป็นธรรมในระบอบการปกครอง และถูกบิดเบี้ยวหนักขึ้นเรื่อยๆ เกิดความขัดแย้งในชาติสูง และมีการใช้ความรุนแรง การใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมจนทุกวันนี้

ถึงผมคิดว่าการประท้วงและเห็นต่างกับรัฐบาลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการที่พันธมิตร “เสื้อเหลือง” เข้ายึดทำเนียบรัฐบาลและสนามบินสุวรรณภูมิ หรือการที่ กปปส. เข้ายึดสถานที่ราชการเพื่อขับไล่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และผมก็ไม่เห็นด้วยกับการที่ “เสื้อแดง” ปิดสี่แยกราชประสงค์ ไล่ทุบรถนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือการเข้าไปบุกสถานที่ประชุมสุดยอดอาเซียนที่พัทยา

ผมว่าเกินเลย เป็นการเอาชนะคะคานนอกกติกา และเป็นการทำลายประชาธิปไตย จากทั้งสองฝ่าย

แต่ที่เศร้าใจมาก คือการใช้กำลังปราบปรามประชาชนกลางเมืองหลวง มีผู้เสียชีวิตทั้งประชาชนและทหาร เป็นเกมการเมืองที่โหดร้าย ใครที่เป็นรัฐบาลในช่วงเวลาที่มีผู้เสียชีวิตกลางเมืองกว่าร้อยคนจากการใช้กำลังทหาร ต้องรับผิดชอบ

ผมไม่เคยได้ยินคำขอโทษจากนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือนายทหารที่รับผิดชอบการปฏิบัติการ ซึ่งวันนี้มีอำนาจในประเทศ และผมเป็นคนหนึ่งที่จะไม่มีวันให้อภัย ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้ารัฐบาล หรือผู้ปฏิบัติการ จนกว่าข้อเท็จจริงจะปรากฏ และผู้ที่กระทำการถูกเปิดโปงและสังคมลงโทษ แม้ทางกฎหมายจะเอาผิดไม่ได้ด้วยการแทรกแซงหรือเทคนิคเพื่อเลี่ยงบาลีก็ตาม

ผมไม่ได้ขมขื่นเพราะเป็นคนที่อยู่ในรัฐบาลที่ถูกรัฐบาลที่โดนรัฐประหารสองครั้งสองหน ครั้งแรกเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร หนีไปนอนหลบในโรงแรม 7 วัน โดนตัดสิทธิการเมือง รอบสองเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี รัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นอนค่ายทหาร 7 วัน

ที่ผมเห็นว่าน่าเป็นห่วงมากกว่า คือ การทำให้เกิดเงื่อนไขรัฐประหาร เมื่อนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ยุบสภา ก็คือการคืนอำนาจให้กับประชาชน รัฐบาลจะถูกจะผิดประชาชนเป็นผู้ตัดสิน แต่การใช้มวลชน และกองกำลัง ขัดขวางการเลือกตั้ง ขัดขวางการลงคะแนน เป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุดในการทำลายระบอบประชาธิปไตย

การรัฐประหารที่ตามมายิ่งเลวร้าย ครั้งนี้หัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นนายกรัฐมนตรี สร้างฐานอำนาจให้ “3ป.” อยู่มายาวนาน จาก ปี 2557-2562 และจัดให้มีการเลือกตั้งด้วยระบบที่ทำให้พรรคที่ได้ที่ 1 คือพรรคเพื่อไทยไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล สืบทอดอำนาจให้กับพวกตนเองผ่านพรรคพลังประชารัฐ เป็นการสนองความทะเยอทะยานแบบล่อนจ้อน (Naked Ambition) เพราะไม่คิดแม้จะตั้งพลเรือนมารักษาการณ์ และรีบจัดให้มีการเลือกตั้งคืนอำนาจให้กับประชาชนอย่างในอดีต แต่ใช้วิธีสร้างความ “กลัวผี” คือ “คุณทักษิณ” มาหลอกชาวบ้าน เพื่อรักษาอำนาจของพวกตนเอง

หากการเมืองไทยยังเป็นเช่นนี้ ความเสื่อมจะถึงจุดต่ำสุด ผมขอฝากข้อคิดดังนี้

  1. ทหาร ผมมีเพื่อนเป็นทหารเยอะ รู้จักนายทหารดีๆ หลายคน และนับถือคนอย่างพลเอกเปรมและพลเอกชวลิต แต่เอาเข้าจริงทหารไม่เหมาะกับการบริหารประเทศ ทหารถูกฝึกมาให้สั่งและปฏิบัติการในยามสงคราม ไม่ใช่การบริหารประเทศในยามปกติหรือวิกฤตอย่างในปัจจุบัน

ทหารที่ไม่ดีคือ ทหารที่หลงตัวเอง คิดว่าจะเป็นพระเอกขี่ม้าขาว หรือที่เลวร้ายกว่า คือ คิดเข้ามาวางรากฐาน เพื่อกอบโกยจากประชาชน ทั้งคิดว่าจะ “สั่ง” ประชาชนได้ เมื่อไม่ได้ก็ใช้ปากกระบอกปืนกดหัวให้ยอมรับ

ความจริงสถาบันทหารผมชื่นชมอย่างหนึ่ง คือ ด้วยระบบการคัดเลือกคัดสรร ลูกชาวบ้านลูกชาวนาสามารถขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ. หรือ ผบ.เหล่าทัพอื่นๆ ได้ เรื่องนี้เป็นปัจจัยที่ดี แต่คงต้องฝากนักวิชาการที่ตามเรื่องการทหารในประเทศไทยอย่างอาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข ช่วยไขว่าเหตุใดบางคนเข้าสู่อำนาจทางการเมืองแล้วดี บางคนชั่วร้ายสร้างความเสียหาย

สำหรับผม “ทหาร” ควรกลับเข้ากรมกอง ในสถานะโลกที่มีความไม่แน่นอนเรื่องสงคราม ทหารควรกลับไปทบทวนบทบาท ยุทธศาสตร์ และหน้าที่ เพื่อป้องกันประเทศจากการรุกราน “ภายนอก” ผมไม่เคยไม่เห็นด้วยกับการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ แต่ขอให้สิ่งที่ซื้อเป็นของดี มีคุณภาพ ตรงตามยุทธศาสตร์การรักษาความมั่นคงของประเทศในฐานะ “รั้วของชาติ” และไม่มี “เงินทอน”

ที่สำคัญที่สุด ทหารต้องเป็นมืออาชีพ เลิกยุ่งกับการเมืองและแสวงหาผลประโยชน์จากอำนาจทางการเมือง

  1. นักการเมืองและพรรคการเมือง ผมได้รู้จักนักการเมืองหลายคนที่มีความตั้งใจดี อยากทำจังหวัดบ้านเกิดของตนเองให้เจริญ อยากเห็นบ้านเมืองพัฒนา แต่ก็มีจำนวนหนึ่งที่มองว่าตัวเองได้ “ลงทุน” ไปแล้วในการลงเลือกตั้ง ก็ย่อมต้องหาลู่ทาง “ถอนทุน” และ “สะสมทุน” เพื่อการเลือกตั้งครั้งต่อไป (หรือเป็นเงินเก็บยามเกษียณ)

แต่ “ธนาธิปไตย” มีวงจรที่ขยายใหญ่กว่า “นักเลือกตั้ง” แต่ละคน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำลายประชาธิปไตย ทั้งเป็นข้ออ้างให้ทหารเข้ามาสู่อำนาจด้วยการรัฐประหาร เมื่อประชาชนเอือมระอากับพฤติกรรมนักการเมือง

พรรคการเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบัน น้อยพรรคที่มีอุดมการณ์ชัดเจน และเสนอว่าจะเปลี่ยนแปลงพัฒนาประเทศอย่างไร ต้องแก้โครงสร้างที่เป็นต้นตอของปัญหาอย่างไร ส่วนใหญ่จะพูดระดับโครงการมาตรการ และใช้ในการหาเสียง ไม่แตะประเด็นที่จะกระทบทุนใหญ่ ขณะเดียวกันก็จะดำเนินงานทางการเมือง รวบรวมจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้มากพอที่จะเข้าร่วมรัฐบาล และใช้จำนวน ส.ส. ในมือต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีต่อไป

วงจรการคืนทุนจึงไม่จบสิ้น

ยิ่งเมื่อทุนรวมกับพรรคที่ทหารตั้งเพื่อสืบทอดอำนาจอย่างพรรคพลังประชารัฐ การกวาดต้อน ส.ส. เพื่อเข้าสู่และรักษาอำนาจ เป็นการสร้างวงจรอุบาทว์เข้าสู่ทุกวงการ “ตั๋วช้าง” เป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ขึ้นมา

วิธีแก้วิธีเดียว คือ ให้เลือกตั้งบ่อยๆ ประชาชนจะเรียนรู้ว่าควรเลือกใครไม่เลือกใคร ใครดีใครไม่ดี ชนชั้นนำ (Elite) ไม่ต้องไปตัดสินแทน ไม่ต้องเรียกทหารออกมาทำรัฐประหาร แผนปฏิรูปการเมืองที่ร่างๆกันเป็นเพียงความฝันแบบยูโทเปีย (Utopia) ไม่ใช่ไม่ดี แต่ดีที่สุดคือประชาชนไต่เส้นการเรียนรู้ (Learning Curve) จากประสบการณ์

  1. รัฐธรรมนูญ หลายฉบับมีรากที่มาจากการรัฐประหาร ดังนั้นเนื้อหาสาระสำคัญ คือการให้อำนาจที่ยึดมาได้คงอยู่ โดยเฉพาะฉบับปัจจุบันที่เอื้อให้ สมาชิกวุฒิสภามีบทบาทในการคัดเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อรักษาฐานอำนาจที่มีจุดเริ่มต้นจากการรัฐประหาร ถึงเวลาแล้วที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดีที่ให้มี สสร. ที่ประชาชนเลือกขึ้นมา และดำเนินการแก้ไขให้เสร็จก่อนวาระของ ส.ว. ปัจจุบันจะจบสิ้นในปี 2567 รวมถึงโครงสร้างอื่นๆ ที่ยังบิดเบี้ยวอำนาจของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย

ผมเชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ถึงแม้ไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็ดีกว่าเผด็จการ ประชาธิปไตยที่แท้จริงจะมีการวาง การคานและดุลอำนาจ มีการตรวจสอบระหว่างอำนาจต่างๆ ได้ มีความโปร่งใสในการใช้อำนาจ และให้ความเป็นธรรมที่เท่าเทียม ให้คนมีโอกาสที่เท่าเทียมในทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ
24 มิถุนายน 2565

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: