วิโรจน์ ย้ำ! ไทยเป็นผู้เสียหาย กองทัพเรือต้องแจง! จ่ายเงินไปแล้วเท่าไหร่ ปมเปลี่ยนเรือดำน้ำเป็นเรือฟริเกต ชี้ ทางออกที่ดีที่สุด คือ ขอเงินคืน
ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า จากกรณีนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ระบุถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาโครงการเรือดำน้ำ ว่า กระทรวงกลาโหม กองทัพเรือ และรัฐบาล ร่วมแก้ปัญหาและศึกษาทางออกมาตลอด เห็นว่าจะต้องทบทวนโครงการโดยยึดหลักความคุ้มค่า ไม่เป็นที่ครหาของสังคม โดยมี 2 แนวทาง คือ เปลี่ยนรายการจากเรือดำน้ำ เป็นเรือฟริเกตที่รบได้ 3 ระบบ ราคาประมาณ 17,000 ล้านบาท ราคาสูงกว่าเรือดำน้ำประมาณ 1,000 ล้านบาท หรือจัดหาเรือตรวจการระยะไกล (OPV) โดยลือกแนวทางที่ 1 ส่วนราคาที่สูงกว่าเรือดำน้ำประมาณ 1,000 ล้านบาท จะนำงบประมาณสร้างอาคารเรือดำน้ำมาเสริม โดยเรือฟริเกตมีสมรรถนะปราบเรือดำน้ำได้
ต่อมา นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า
“กรณี เรือดำน้ำ เข้าใจว่าต้องมีการเจรจา และต้องหาทางออกร่วมกันเพื่อรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”
“แต่ต้องตระหนักว่า ไทยเป็นผู้เสียหาย และเป็นผู้ถูกละเมิดสัญญา ดังนั้นการเจรจาใดๆ จะต้องคำนึงถึงความยุติธรรมที่ประเทศไทยพึงได้รับด้วย”
“กรณี #เรือดำน้ำ เรื่องการใช้เครื่องยนต์จีน CHD620 ที่จีนก็ยังไม่ได้ใช้ คงเป็นเงื่อนไขที่เห็นตรงกันว่า ไม่ควรรับ”
“แต่กองทัพเรือต้องชี้แจงว่า ในกรณีที่ EU มีข้อตกลงห้ามส่งออกอาวุธให้จีน กองทัพเรือได้ตรวจสอบในเรื่องนี้ก่อนทำสัญญาหรือไม่ มีหนังสือยืนยันจากทางจีน หรือเปล่า”
“ความเสียหายของ #เรือดำน้ำ ไม่ใช่แค่ เงินที่จ่ายไปก่อน 7,000 ล้านบาท
แต่งบประมาณที่ลงไปแล้ว ทั้งการฝึกอบรม เรือยกพลขึ้นบก ท่าจอด โรงซ่อมบำรุง ฯลฯ (วงเงิน 11,438 ล้าน) ก็ควรต้องชี้แจงว่า จ่ายไปเท่าไหร่แล้ว และจะชดเชยในส่วนนี้อย่างไร”
“กรณี #เรือดำน้ำ ทางออกที่ดีที่สุด คือ ขอเงินคืน และขอให้ทางจีนเสนอการชดเชยที่สมเหตุสมผล มาให้พิจารณา อย่างไรในเรื่องนี้ คงต้องดูสัญญาว่า ได้มีเงื่อนไขค่าปรับ หรือไม่ และคงต้องเจรจาด้วยความเข้าใจ เพราะจีนเองก็คงไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น”
“ถ้าขอเงิน 7,000 ล้าน คืนจากจีนไม่ได้ ก็ต้องเจรจาไปแลกอย่างอื่นมา ในราคาที่สูงกว่า 7,000 ล้าน (เพราะต้องคิดความเสียหายด้วย)”
“อาจจะเป็นแม่ปุ๋ย หรือสารเคมีที่ใช้ในเกษตรกรรม หรือจะเป็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง OPV หรือเรือฟริเกต ก็ต้องเอาเงื่อนไขมาพิจารณา เป็นการสาธารณะ”
“กรณีที่จะแลกเป็นเรือฟริเกต ผมย้ำตรงนี้ว่า ต้องดูเรื่องราคา การสำรองอะไหล่ซ่อมบำรุง และเงื่อนไขการต่อเรือ ว่าเอามาต่อที่ประเทศไทยได้หรือไม่”
“และการมีเรือหลายรุ่น ต้องสำรองอะไหล่ซ่อมบำรุงที่หลากหลาย จะขัดกับยุทธศาสตร์ Compact & Modernized Navy ที่ระบุในสมุดปกขาวกองทัพเรือ หรือไม่”
#เพื่อไม่พลาดข่าวสารดีๆ อย่าลืมกดติดตามพวกเรา TOJO NEWS