ความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องส่วนตัว
“ประชาธิปัตย์” มุ่งมั่นแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เอาจริง แม้เป็นเรื่องยาก แต่ก็ต้องทำ
ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า ในวันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปี องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้เป็นวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล (International Day for the Elimination of Violence against Women) พรรคประชาธิปัตย์ จึงได้จัดเวทีเสวนา “ลานพระแม่ทอล์ก” เพื่อแสวงหาหนทางที่จะนำไปสู่การยุติความรุนแรงในครอบครัว ภายใต้หัวข้อ “ความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องส่วนตัว สร้างสุข ปลอดภัย ไร้ความรุนแรง” (Act now to End Violence against Women and Childs) โดยมี นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรค มาเป็นประธานกล่าวเปิดเวที พร้อมกับมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย พ.ต.อ.หญิงฉัตรแก้ว วรรณฉวี อดีต ผกก.(สอบสวน) กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 นางจันทิมา ธนาสว่างกุล อัยการอาวุโส น.ส.กฤษฎี บุญสวยขวัญ ผู้อำนวยการกลุ่มคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ น.ส.สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม กลุ่มกฎหมาย กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท อดีต สส. บัญชีรายชื่อของพรรค เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยมีกรรมการบริหารพรรค อดีต สส. และประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมชมการเสวนาดังกล่าว
โดยนายอลงกรณ์ กล่าวว่า ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องพื้นฐานสำคัญของประเทศ พรรคประชาธิปัตย์นำโดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรค ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรค ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงมีนโยบายเพื่อขับเคลื่อนสังคมนำไปสู่การสร้างครอบครัวที่อยู่ดีมีสุข ไร้ความขัดแย้ง จึงต้องการผลักดันให้เกิด “วิศวกรครอบครัว” โดยเปิดรับอาสาสมัครเข้าทำงานกับเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) ตลอดจน อสม. และ อสส. โดยมี ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรค และนางเจิมมาศ จึงเลิศศิริ กรรมการบริหารพรรค อดีต สส. กทม. ร่วมกันทำงานกับรองหัวหน้าพรรคที่ดูแลภาคต่างๆ ต่อไป
“เด็กที่อยู่ในครอบครัวเหมือนน้ำที่ใสสะอาด เมื่อสมาชิกในครอบครัวเติมความรุนแรง สิ่งที่ตามมาคือครอบครัวสีดำ สิ่งนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของความจริงที่เกิดขึ้น นอกจากครอบครัวไร้สันติสุขแล้ว ยังก่อให้เกิดความไม่มีเสถียรภาพ ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์จึงมีความมุ่งมั่นแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ และเอาจริงเอาจัง โดยทำงานแบบไร้รอยต่อแบบไม่มีผลประโยชน์ทางการเมือง ที่ถือเป็นจุดยืนใหม่ให้การเมืองเป็นเรื่องข้างหลัง แม้ประชาธิปัตย์จะไม่มี สส. แม้แต่คนเดียวในสภา แต่พรรคจะยังคงอยู่ต่อไปเพื่อทำงานให้กับสังคม” นายอลงกรณ์ กล่าว
ด้านนางเจิมมาศ ได้กล่าวถึงบทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ที่ทำงานต่อต้านความรุนแรงในครอบครัวมาอย่างยาวนาน จากการที่คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ของพรรค เป็นประธานปฏิญญาปักกิ่งในปี 2538 ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติการเพื่อความก้าวหน้าของสตรี ที่สะท้อนถึงความตั้งใจของประชาคมโลกในเรื่องความเสมอภาค การพัฒนา และสันติภาพสำหรับสตรีทุกคนแล้ว พรรคยังผลักดันให้มี พ.ร.บ.ยุติความรุนแรงในครอบครัวต่อเด็กและสตรี โดยมีผลบังคับใช้ในสมัยรัฐบาลชวน พ.ศ. 2543
พ.ต.อ.หญิงฉัตรแก้ว กล่าวว่า ความรุนแรงในครอบครัวถือเป็นเรื่องอาชญากรรมใต้หลังคาบ้าน ซึ่งคนที่จะเข้ามาทำงานเรื่องนี้ต้องมีใจ ต้องเข้าใจ และต้องสมัครใจทำด้วย เพราะปัญหาความรุนแรงมีหลายรูปแบบไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะคู่สามี-ภรรยา แต่ยังรวมถึงผู้สูงอายุถูกทำร้าย ถูกทิ้งให้อยู่อย่างลำพัง จากประสบการณ์การทำงานพบว่า สังคมไทยมองปัญหาความรุนแรงในครอบครัวว่าเป็นเรื่องเล็ก ตัวผู้ถูกกระทำไม่ทราบสิทธิของตัวเอง ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาขึ้นการจะให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้รับเรื่อง ควรขยายขอบเขตการรับเรื่องให้พนักงานฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้สามารถไประงับยับยั้งเหตุได้ด้วย เพราะผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่มักไม่อยากให้เป็นคดี แต่ต้องการให้ปัญหาได้รับการแก้ไข และได้รับความช่วยเหลือ
“การนำชุมชนมาเป็นหลัก เป็นการช่วยเหลือป้องกันปัญหาความรุนแรงในครอบครัวได้ดีที่สุด” พ.ต.อ.หญิงฉัตรแก้ว กล่าว
นางจันทิมา ธนาสว่างกุล อดีตอัยการอาวุโส เปิดเผยว่า จากการที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ มีดำริให้มีโครงการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงในประเทศ โดยให้สำนักอัยการ และภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วม เพื่อสร้างจิตสำนึกห่วงใยในสถาบันครอบครัว ทำให้ชุมชนและสังคมได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว ซึ่งปัญหาความรุนแรงนั้นมีหลายมิติ ตั้งแต่ Silence Violence หรือความไม่แยแส การไม่ได้รับการดูแลด้านรายได้ การปล่อยปละละทิ้งผู้สูงอายุ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาความรุนแรงทั้งสิ้น ดังนั้นการจะแก้ปัญหาความรุนแรงได้ ต้องใช้สหวิชาชีพ ที่ต้องบูรณาการจากหลายภาคส่วน แต่ภาครัฐยังมีจุดอ่อนในเรื่องนี้ ดังนั้นจึงต้องปรับ mindset ให้มีการทำงานแบบ integrate ทั้ง เด็ก – สตรี – แม่ – ผู้สูงอายุ เพื่อให้สามารถพิจารณาดึงเอาหลายองค์กรเข้ามาช่วยกันดูแลได้
“โครงการของพระองค์ภา ได้วางรากฐานไว้ แผนทุกแผนในสำนักงานอัยการสูงสุดที่เกี่ยวกับความรุนแรงก็เกิดจากสิ่งที่พระองค์ได้กำหนดไว้ ฝากภาคการเมืองว่าหากเรื่องนี้คือรากฐานสังคม ก็จะต้องสร้างบุคคล มีความคิดเรื่อง mindset กระตุ้นให้เกิดการทำงานเครือข่ายร่วมกัน ตลอดจนข้อกฎหมายต่างๆ เพื่อยกระดับคุณค่าของสังคมให้ดีขึ้น” นางจันทิมา กล่าว
ด้านนางสาวกฤษฎี กล่าวว่า ทาง พม. ได้จัดตั้งศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) สังกัดกระทรวง พม. ผ่าน สายด่วน 1300 พม. ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อช่วย เร่งรัด – จัดการ แก้ปัญหาสังคมให้ประชาชน พร้อมส่งหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ซึ่งจากสถิติที่ทาง พม. จัดเก็บพบว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวมาก 3 อันดับ ประกอบด้วย บันดาลโทสะ ยาเสพติด และสุรา
สำหรับนางสุเพ็ญศรี กล่าวว่า ผู้ที่จะต้องทำงานทางด้านกฎหมายคุ้มครอง ทั้งตำรวจ ศาลยุติธรรม ควรได้รับการฝึกอบรมจิตวิทยา เพื่อให้เกิดความเข้าใจทั้งตัวผู้กระทำผิด และผู้ถูกกระทำ
“เหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวจะมีความซ้ำซ้อน ดังนั้นต้องมีการปรับปรุงกระบวนการ เพราะเวลาทำงานกฎหมายจะตีความแบบกฎหมายมหาชน แต่เวลาตั้งงบประมาณกลับตีความแบบกฎหมายอาญา คนที่ทำงานด้านนี้จึงต้องมีลักษณะพิเศษคือต้องมีความเข้าใจ ต้องมีทักษะเรื่องการจัดสรรงบประมาณ และต้องมีที่ปรึกษาเพื่อช่วยชี้แนะด้วย” นางสุเพ็ญศรี กล่าว
สำหรับ นางรัชฎาภรณ์ ได้กล่าวสรุปว่า เรื่องความรุนแรงของครอบครัวนั้น ด้านหลักเป็นเรื่องทัศนคติ แม้ตัวบทกฎหมายได้วางหลักเอาไว้ แต่ในทางปฏิบัติจริงนั้นมักประสบปัญหาอยู่เสมอ ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องยากเพราะมีความละเอียดอ่อน แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำ และต้องทำอย่างจริงจังต่อไป
#เพื่อไม่พลาดข่าวสารดีๆ อย่าลืมกดติดตามพวกเรา TOJO NEWS