ชาย สิทธิพล ชี้ อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยจะไปต่ออย่างไร ในยุคที่รถอีวีครองเมือง รถสันดาปไปต่อไม่ไหว ส่วนรัฐบาลไร้แผนรองรับ
ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า ดร.ชาย สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 โดยตั้งคำถามถึงนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของรัฐบาล โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปที่กำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างหนัก ในโลกที่มีแนวโน้มมุ่งหน้าสู่อุตสาหกรรมใหม่อย่างรถยนต์ไฟฟ้า (EV)
สิทธิพลกล่าวว่า ตนเชื่อว่าอุตสาหกรรมใหม่จะเป็นหัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่ด้วยการจัดสรรงบประมาณเช่นนี้ รัฐบาลกำลังจะนำพาประเทศไปสู่สถานการณ์ “Growth เก่าไม่ไหว Growth ใหม่ไม่รอด”
Growth เก่าก็คืออุตสาหกรรมรถยนต์สันดาป ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของเศรษฐกิจไทย คิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP ถึง 1 ใน 5 โดยปัจจุบันการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยกว่า 90% เป็นรถยนต์สันดาป แต่จากการประเมินในอีก 5 ปีข้างหน้า การผลิตรถยนต์สันดาปในไทยจะลดลงเหลือต่ำกว่า 60% ด้วยหลายปัจจัย เช่น ทิศทางตลาดโลกที่มุ่งสู่รถยนต์ไฟฟ้า หนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงจนกระทบต่อกำลังซื้อ และมาตรการของรัฐบาลที่สนับสนุนให้ประชาชนซื้อรถยนต์ไฟฟ้า
การถดถอยของอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจและการส่งออกของไทย โดยปัจจุบันมีกิจการไทยที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์สันดาปกว่า 2,500 กิจการ เนื่องจากรถยนต์สันดาปแต่ละคันต้องการชิ้นส่วนประกอบกว่า 30,000 ชิ้น แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ความต้องการชิ้นส่วนลดเหลือเพียงคันละ 3,000 ชิ้น สุดท้ายจึงเสี่ยงกระทบพี่น้องแรงงานในอุตสาหกรรมกว่า 1 ล้านคน
สิทธิพลย้ำว่า ตนไม่ได้คัดค้านการสร้าง Growth ใหม่ผ่านอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า แต่ต้องตั้งคำถามสำคัญว่า รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณและวางมาตรการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปอย่างครอบคลุม-เพียงพอหรือยัง?
ปัจจุบันรัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนให้ประชาชนซื้อรถยนต์ไฟฟ้า โดยให้คูปองส่วนลดเพื่อทำให้ราคาถูกลง ซึ่งต้องตั้งคำถามว่าคุ้มค่าหรือไม่ เพราะวันนี้รถยนต์ไฟฟ้าขายได้กว่า 100,000 คัน รัฐเสียประโยชน์ไปแล้ว 28,000 ล้านบาท และเป็นรถยนต์จากต่างประเทศทั้งนั้น
นอกจากนี้ การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของแบรนด์ต่างประเทศในไทย ที่ดูเหมือนเป็นการลงทุนจากต่างประเทศ แต่ส่วนใหญ่ขนทั้งอุปกรณ์ รวมถึงอาจจะขนแรงงานจากต่างประเทศมาผลิตในไทย การยกฐานการผลิตมาทั้งห่วงโซ่อุปทานเช่นนี้นอกจากไทยจะไม่ได้ประโยชน์ทั้งต่ออุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้ว ยังทำให้คนไทยที่ทำงานในอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปเดิมเสี่ยงตกงานด้วย
การจะรักษาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมยานยนต์ รัฐบาลต้องรักษาการผลิตจากตลาดในประเทศ รักษาการเติบโตจากการส่งออก และรักษาการจ้างงานให้ได้ หากรักษาการเติบโตจากของเก่าไม่ได้ ขณะที่ของใหม่ก็ยังไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือเปล่า ก็เสี่ยงกระทบการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย
“ตอนนี้ผู้ประกอบการและแรงงานในอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปกำลังตั้งคำถามต่อนายกฯ ว่า ท่านจะทิ้งพวกเขาไปง่ายๆ อย่างนี้เลยหรือ? ง่ายเหมือนที่นักข่าวไปถามท่านตอนมีโรงงานต่างชาติเลิกผลิตในไทย ท่านฝากนักข่าวไปบอกว่า ‘ขอให้โชคดี’ คนในอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปเขาเสียใจกับคำตอบของท่านมากๆ นะครับ”
ด้วยเหตุนี้ สิทธิพลได้แนะนำรัฐบาลว่า ในงบประมาณปี 2568 รัฐบาลควรจัดสรรงบให้การเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยเป็นไปอย่างราบรื่น โดยต้องทำใน 3 ส่วนคือ
1) อุปสงค์ (Demand) คือการหาตลาดใหม่ๆ ให้กับรถยนต์สันดาป เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกาใต้ ออสเตรเลีย โดยเฉพาะภายใต้รัฐบาลปัจจุบันที่เน้นการเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ก็ควรใช้โอกาสนี้ไปเจรจากับประเทศต่างๆ
2) อุปทาน (Supply) คือการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรถยนต์สันดาปเข้าถึงเทคโนโลยีสูงขึ้น และสนับสนุนผู้ประกอบการชิ้นส่วนในยานยนต์สันดาปปรับตัวสู่อุตสาหกรรมใหม่ เช่น เครื่องมือแพทย์ ชิ้นส่วนอากาศยาน รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น ขยะจากเทคโนโลยี
3) การพัฒนาทักษะแรงงาน (Re-skill) จากอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปเดิมไปสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงมีมาตรการดูแลและเยียวยาแรงงานที่ไปต่อกับอุตสาหกรรมใหม่ไม่ได้
สิทธิพลเน้นย้ำว่า การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้จะกระทบกับแรงงานและครอบครัวของแรงงานในอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปนับล้านคน ดังนั้น รัฐบาลควรมีมาตรการและงบประมาณที่เป็นรูปธรรมในการเปลี่ยนผ่านแรงงานไปยังอุตสาหกรรมใหม่
“ที่ผ่านมาเราขาดแผน ขาดเจ้าภาพ ขาดข้อมูล ไม่มีแผนพัฒนาทักษะแรงงาน หน่วยราชการต่างคนต่างทำ ขาดข้อมูลอุปสงค์และอุปทาน โครงการพัฒนาแรงงานในอุตสาหกรรมไม่ได้พาแรงงานไปไหนเลย ไม่ตอบโจทย์การเปลี่ยนผ่านใดๆ หากรัฐบาลยังไม่ทำอะไร แรงงานไทยจะไม่ได้อะไรเลยจากการพัฒนาอุตสาหกรรมอีวี และระวังอุตสาหกรรมอีวีจะกลายเป็นทัวร์ศูนย์เหรียญอันใหม่”
#เพื่อไม่พลาดข่าวสารดีๆ อย่าลืมกดติดตามพวกเรา TOJO NEWS