Connect with us

Politics

วรรณวรี ฉะ! “เจอ-แจก-จบ” ผลักภาระประชาชน เข้าไม่ถึงยา !!

Published

on

วรรณวรี แนะ สธ. ควรจะให้การเข้าถึง ‘ยาสามัญรักษาตามอาการ’ เป็นสิ่งที่ประชาชนเข้าถึงได้เอง ไม่ต้องรอข้อมูลจากภาครัฐ หรือรอลงทะเบียนที่ไม่มีความหวัง

ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า น.ส.วรรณวรี ตะล่อมสิน ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล เขียนข้อความแสดงความเห็นต่อนโยบาย ‘เจอ-แจก-จบ’ ว่า เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง แต่สิ่งที่มีคือ ‘เจอ-เจ็บ-จบ’ เพราะนโยบายของ สปสช. กระทรวงสาธารณสุข ที่ประกาศว่า หลังวันที่ 1 มีนาคม 2565 ผู้ที่ตรวจเจอว่าติดโควิดและอาการไม่หนัก รัฐจะมีนโยบายแจกยา กลับบ้านกักตัวทำ Home Isolation (HI) โดยมีขั้นตอน ดังนี้

หากตรวจพบเชื้อจากผล ATK ให้เข้ามายื่นที่โรงพยาบาลตามสิทธิ (บัตรทองหรือประกันสังคม) เพื่อรับการตรวจและแจก ‘ยาสามัญรักษาตามอาการ’ ไม่ต้องทำ RT-PCR ซ้ำ

ไม่จำเป็นต้องโทรเข้า 1330 หรือ 1669 เพื่อสงวนคู่สายไว้ให้เคสหนักเคสฉุกเฉินจริงๆ

แพทย์จะพิจารณาแจกยารักษา 3 สูตร คือ ยาฟาวิพิราเวียร์ ยาฟ้าทะลายโจร และยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ แก้ไอ ลดน้ำมูก

มาตรการของรัฐมีทิศทางไปในแนวทางเดียวกับสากลโลก เนื่องด้วยเชื้อโควิดที่กลายพันธุ์และแสดงอาการน้อยลงจนเกือบเหมือนไข้ประจำถิ่น ควรเน้นไปที่การดูแลตัวเองของผู้ป่วยและเคสสีเขียวที่ไม่รุนแรงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าพักโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือ hospitel อีกต่อไป

…แต่สิ่งที่ประชาชนพบเจอ คือ

1.ในหลายเคสที่นำผล ATK ไป รพ. แต่ไม่ได้รับยาทันที ได้รับแจ้งให้กลับบ้าน แบบนี้จึงไม่อาจเรียกว่า ‘เจอ-แจก-จบ’ ได้ เพราะว่าผู้ป่วยต้องการยากลับมารักษาตัวเพื่อกักตัวที่บ้านในทันที ไม่ใช่การรอคอยอย่างไร้ความหวัง

2.ประชาชนเข้าไม่ถึงยา เพราะเมื่อประชาชนพร้อมจะรักษาตัวอยู่บ้านแต่ยังไม่ได้รับยาที่จัดสรรมาจากภาครัฐ หรือได้รับล่าช้าก็ทำให้ไม่เกิดประสิทธิภาพในการรักษา หลายเคสหายเพราะหาซื้อยาเองตามยถากรรมจนหาย แล้วเพิ่งมียาส่งมาให้ก็มี

3.มีลักษณะผลักภาระ เพราะในหลายครั้ง มีหลักฐานว่าภาครัฐพยายามผลักภาระเรื่อง ‘ยาสามัญรักษาตามอาการ’ มาให้ฝ่ายการเมือง มูลนิธิหรือสังคมสงเคราะห์ต่างๆ คือ ให้ไปรับยาจากภาคเอกชนก่อน แทนที่หน่วยงานภาครัฐ (สาธารณสุข) จะแจกยาให้เองดังที่กล่าว

4.คู่สายของรัฐไม่เพียงพอ การที่ประชาชนพยายามหาข้อมูลและพยายามช่วยเหลือคนใกล้ชิดโดยการโทรเข้าสายด่วนที่รัฐจัดเตรียมไว้ ถือว่าเป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับเท่าเทียมกัน แต่ช่องทางการลงทะเบียนไม่เพียงพอต่อความต้องการทำให้ประชาชนหาที่พึ่งไม่ได้ และเข้าไม่ ถึงยารักษา

ยิ่งถ้าเป็นเคสหนักที่อาการเริ่มทรุดแต่ยังเข้าไม่ถึงช่องทางการรักษาเกรงว่าจะสายเกินการณ์

ดังนั้น นอกจากข้อสังเกตต่อนโยบาย จึงมีข้อเสนอ ดังนี้

  • ควรจะให้การเข้าถึง ‘ยาสามัญรักษาตามอาการ’ เป็นสิ่งที่ประชาชนเข้าถึงได้เอง ไม่ต้องรอข้อมูลจากภาครัฐ หรือรอลงทะเบียนที่ไม่มีความหวัง โดยการให้ประชาชนซื้อยาเหล่านี้ได้จากร้านขายยาทั่วไป
  • ภาครัฐควรส่งเสริมในเรื่องความรู้ในการจัดชุดยา เช่น แบบ 1 สำหรับเคสสีเขียว+บุคคลทั่วไป / แบบที่ 2 สำหรับเด็กเล็ก / แบบที่ 3 สำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีภาวะเสี่ยงเปราะบางมีโรคแทรกซ้อน / แบบที่ 4 สำหรับสตรีมีครรภ์ เป็นต้น

“รัฐบาลนำโดยกระทรวงสาธารณสุขควรจะเป็นหัวเรือใหญ่ในการกำหนดชุดยาจากผู้เชี่ยวชาญให้เป็นมาตรฐานเดียว เพื่อให้ร้านขายยาสามารถจัดชุดยาได้เหมาะสมที่สุด และประชาชนสามารถซื้อยาได้โดยไม่สร้างความสับสน การซื้อชุดโควิดนี้ควรจะมีหลักฐานรูปถ่ายบัตรประชาชนคู่กับผลตรวจ ATK และสามารถนำมาเบิกค่าใช้จ่ายกับรัฐได้ในภายหลัง ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียน ใครใคร่เบิกก็เบิก ใครพอมีฐานะก็อาจจะไม่เบิก ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายของรัฐได้ในทางหนึ่งด้วย”

“ดิฉันเห็นด้วยกับทิศทางที่รัฐจะปฏิบัติกับเชื้อโรคโควิด-19 โอมิครอนนี้ เสมือนเป็นไข้ประจำถิ่น แต่สมควรที่จะต้องทบทวนการปฏิบัติการขั้นตอนการเข้ารักษาให้ประชาชนได้พึ่งพาตนเองได้มากกว่านี้ นโยบายนี้เป็นนโยบายที่ออกจากส่วนกลางคือ สปสช. และกรุงเทพมหานครก็รับแนวทางมาปฏิบัติ แต่พอถึงเวลา นโยบายดังกล่าว กลับทำไม่ได้จริง ผู้ปฏิบัติการหน้างานกลายเป็นคนที่ต้องรับหน้าเสื่อเสมอ และเหตุการณ์ลักษณะนี้ เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง ที่รัฐออกนโยบายสวยๆ มาบอกประชาชน แต่ถึงเวลาแล้วทำไม่ได้ และสร้างความผิดหวังให้ประชาชนซ้ำแล้วซ้ำเล่า”

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: