Connect with us

Politics

“มาร์ค” ลั่น ปชต. ถดถอย เผด็จการเรืองอำนาจ

Published

on

“อภิสิทธิ์” ชี้ประชาธิปไตยถดถอย เหตุเผด็จการยังเกิดขึ้นมากมาย

ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวอภิปรายในเวทีอภิปรายนานาชาติ 30 ปีพฤษภาประชาธรรม หยุดวัฎจักรรัฐประหาร สร้างรัฐธรรมนูญประชาชน และประสบการณ์จากต่างประเทศ ผ่านระบบซูมตอนหนึ่งว่า ตนเชื่อว่าเหล่าวีรชนและผู้ที่เคยต่อสู้ในเหตุการณ์พฤษภา 35 คาดหวังเพียงแค่ว่าประเทศไทยจะสามารถมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยในมาตรฐานของสากลที่ประชาชนสามารถกำหนดอนาคตของตนเองได้ และได้รับการเคารพเรื่องสิทธิเสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 30 ปีผ่านไปเราต้องยอมรับว่าเป็น 30 ปีที่ผู้สนับสนุนประชาธิปไตยในโลกค่อนข้างผิดหวังและตกใจ โดยเฉพาะเหตุการณ์เดือนพฤษภา 35 ใกล้เคียงกับเหตุการณ์สงครามเย็นกำลังสิ้นสุดลง โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาค ทั้งฟิลิปปินส์ ไทย กำลังเคลื่อนเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์มากขึ้น แต่ในรอบประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา ปรากฎการณ์ความถดถอยของระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นอย่างมาก และเรายังพบกับผู้นำอำนาจนิยม หรือที่เราเรียกว่าเผด็จการเกิดขึ้นอยู่มากมาย แต่ที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือรูปแบบของการใช้อำนาจมีความหลากหลายสลับซับซ้อน แนบเนียน และมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะฉะนั้นวันนี้แม้แต่ผู้นำที่ถูกมองว่าไม่ได้เป็นประชาธิปไตยกลายเป็นจำนวนมากก็ยังผ่านกระบวนการของการเลือกตั้ง ผ่านกระบวนการตามรัฐธรรมนูญของประเทศเหล่านั้นมาได้ แต่ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตยในเชิงหลักการ หรือตามมาตรฐานที่เรารู้จักหรือเคยเรียกร้องกัน

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ในประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยมาช้านานก็ยังเกิดปรากฎการณ์ของการถดถอยด้วย ในสหรัฐฯก็ยังมีปรากฎการณ์ที่น่าตกใจ ที่เรียกว่ามีความพยายามที่จะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง และล่าสุดแม้กระทั่งศาลสูงก็มีแนวโน้มที่จะริดลอนสิทธิของผู้หญิงในเรื่องการทำแท้งเป็นต้น จริงอยู่ที่แต่ละประเทศมีสภาวะแวดล้อมเฉพาะของตนเองแต่ต้องยอมรับว่าการต่อสู้ อุดมการณ์ประชาธิปไตยยังมีเส้นทางที่ต้องต่อสู้อีกยาวไกล และคิดว่าหลายคนอาจจะเข้าใจเมื่อ 30 ปีที่แล้วว่ามันจะราบรื่นกว่านี้ และจะเป็นพลังไปในทิศทางเดียวกันทั้งโลกมากกว่านี้ แต่ตนอยากบอกว่าเราอย่าไปมองว่าในประเทศไทยประชาธิปไตยก็จะถดถอย รัฐธรรมนูญก็ถดถอย อาจจะ 30 ปีหรือยาวนานกว่านั้น แต่อีกหลายมุมเราเห็นว่าประชาธิปไตยก็ได้หยั่งรากลงในหมู่ประชาชน แสดงออกผ่านความคาดหวังในกระบวนการการเลือกตั้งที่จะได้นโยบายที่ตอบสนองความต้องการของตนเอง แสดงออกมาจาการที่คนรุ่นใหม่กล้าที่จะเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงและเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ รวมถึงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปอย่างกว้างขวางอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้นเมื่อพัฒนาการของประชาธิปไตย ไม่อาจเป็นสิ่งที่เรามีความสบายใจหรือประมาทได้เลย เพราะสามารถถดถอยได้ตลอดเวลา แต่ขณะเดียวกันเราก็ได้มีความก้าวหน้าในบางเรื่องแล้ว ดังนั้นเราต้องเรียนรู้และจะต้องเดินหน้าต่อไปอย่างไร

“สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าพยายามทำให้มากขึ้น จริงอยู่ที่เราคิดว่าประชาธิปไตย เป็นระบอบการปกครองซึ่งจะนำมาสู่คุณภาพชีวิตที่ดีหรือตอบสนองความต้องการของประชาชน แต่ในข้อเท็จจริงคือประชาธิปไตยไม่ได้เป็นหลักประกันเสมอไปว่าเราจะได้รัฐบาลที่ดี หรือผู้นำที่ดี หรือผู้นำและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะแก้ปัญหาได้อย่างประสบความสำเร็จหรือไม่มีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่การทำอย่างไรให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะต้องอยู่ในแนวทางที่ยึดประโยชน์ของประชาชน และหากมีความจำเป็นที่ต้องแสดงออกหรือคัดค้านหรือประท้วง เป็นการประท้วงเฉพาะตัวรัฐบาล และไม่นำมาสู่การล้มระบบที่เป็นประชาธิปไตย อันนี้คือบทเรียนสำคัญประการหนึ่งที่เราต้องช่วยกันเรียนรู้และแสวงหาทางออก และลำพังตัวกฎหมาย ตัวรัฐธรรมนูญคงไม่สามารถเป็นหลักประกันที่ทำให้เกิดความต่อเนื่องหลักประชาธิปไตยได้ แต่ต้องมีค่านิยมวัฒนธรรมทางการเมืองที่เข้ามาสนับสนุนด้วย ปัจจุบันมีความท้าทายสุ่มเสี่ยงทำให้ทุกคนมีความขัดแย้งกันมากขึ้น มีความอดทนต่อความคิดเห็นที่แตกต่างลดลง และสุ่มเสี่ยงต่อการนำไปสู่ความรุนแรง โดยมีเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาเกี่ยวข้อง” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ถ้าจะเดินหน้าในการสานต่อเจตนารมณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ปัจจุบันเรากำลังเผชิญปัญหากับอะไรบ้าง และต้องทำอะไร ข้อห่วงใยของตนคือ 1.การที่รัฐธรรมนูญยังเปิดโอกาสให้ส.ว.สามารถเลือกนายกฯได้โดยที่วุฒิสภาไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หลังการเลือกตั้งครั้งต่อไปมีความสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งในกรณีที่ส.ว. 250 คนกับเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนที่ลงคะแนนเลือกตั้งครั้งต่อไปเห็นไม่ตรงกัน ตนไม่อยากให้สถานการณ์แบบนั้นเกิดขึ้นจนกลับไปสู่สถานการณ์คล้ายกับปี 35 ดังนั้นความเห็นของตน ล็อคคือล็อคที่จะต้องปลดเร่งด่วนคือมาตรา 272 คืดว่าจริงๆแล้วถ้าผู้มีอำนาจจะเปิดใจกว้างแล้วยอมรับว่า ถ้าสมมติเสียงข้างมากในสภาฯไม่ตรงกับวุฒิสภา รัฐบาลที่วุฒิสภาอยากสนันบสนุนก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้ เราไม่ควรปล่อยให้เกิดเงื่อนไขของความขัดแย้งเช่นนั้น และควรปล่อยให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินเลือกรัฐบาลได้หลังการเลือกตั้งครั้งต่อไป เพื่อปลดฉนวนความขัดแย้ง 2. ตนหวังว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป พรรคการเมืองและส.ว.ควรจะได้แสดงท่าทียอมรับว่าการจะให้การเมืองของเราเป็นประชาธิปไตย หรือเป็นการเมืองที่ราบรื่น จะต้องเป็นการเมืองที่ระบบได้รับการยอมรับจากคนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง ดังนั้นการจะปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ที่เป็นฉบับของประชาชนน่าจะเป็นขั้นตอนสำคัญที่เราต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดขึ้น แล้วใช้โอกาสนั้นมาสร้างระบบที่เราปรารถนาให้เกิดขึ้นโดยเรียนรู้จุดบอด

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า สำคัญของปัญหาที่ผ่านมาที่เราพยายามสร้างประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ แม้แต่รัฐธรรมนูญที่เขียนด้วยเจตนาที่ดีที่สุด มีบทบัญญัติที่หลายคนคิดว่าดีที่สุด แต่ในที่สุดไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มที่ คือเรายังหาความลงตัวเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่ลงตัว จนความขัดแย้งลงไปสู่ท้องถนน ถ้าเราใช้โอกาสของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เรียนรู้บทเรียนนี้ร่วมกันแล้วอาศัยเวทีนั้นในการเอาความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายที่เกี่ยวข้องกับอนาคตของประชาธิปไตยมาใช้เวทีนั้นเป็นการหาทางออกก็น่าจะเป็นช่องทางที่ชัดเจนที่สุดในการสร้างระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งต่อไป และถ้าจะหาทางป้องกันรัฐประหารต่อไปในอนาคต อย่างไรก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการที่จะหาให้ฝ่ายตุลาการเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนหลักการทางกฎหมายที่จะไม่ยอมรับการทำรัฐประหาร โดยอาจจะอาศัยรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นใหม่เขียนบทบัญญัติบางประการที่สามารถเป็นเครื่องมือให้ฝ่ายตุลาการใช้อ้างอิงสิ่งเหล่านี้ได้

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: