อาจารย์อุ๋ย ปชป. ชี้ ภาพยนตร์ หลานม่า สะท้อนปัญหาสังคมสูงวัย แนะรัฐบาลผลักดันกฎหมาย “ธนาคารเวลา” สนับสนุนสังคมเพื่อการแบ่งปัน เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ
ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ โพสเฟสบุ๊คแสดงความเห็นว่า “ผมขอแสดงความยินดีกับทีมนักแสดงและทีมผู้สร้างภาพยนตร์ หลานม่า ที่ทำรายได้ไปกว่า 250 ล้านบาท แล้ว สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยยังนับถือและเชิดชูความกตัญญูรู้คุณอย่างไม่มีเสื่อมคลาย
อย่างไรก็ตาม เนื้อหาในภาพยนตร์ก็ได้สะท้อนถึงสภาพปัญหาของสังคมสูงวัย ซึ่งประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 แล้ว เพราะมีประชากรที่อายุ 60 ปีขึ้นไป เกินกว่า ร้อยละ 10 และจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดในปี พ.ศ. 2573 คือมีจำนวนประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปี ขึ้นไป เกินกว่าร้อยละ 20 ตามเกณฑ์ของสหประชาชาติ ซึ่งปัญหาสำคัญคือการขาดผู้ดูแลผู้สูงอายุ เพราะคนในครอบครัวทั้งหญิงและชายก็ต้องประกอบอาชีพ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะเศรษฐกิจยุคปัจจุบันที่รายได้แทบไม่พอกับค่าครองชีพ นอกจากนี้ หากมองในแง่เศรษฐศาสตร์ การที่ใครซักคนต้องลาออกจากงานมาเพื่อดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งถือเป็นการเสียสละอย่างมาก ก็ทำให้รัฐต้องสูญเสียทรัพยากรบุคคลที่จะสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ขาดรายได้จากภาษี ที่จะนำมาเป็นสวัสดิการให้ผู้สูงอายุ กลายเป็นปัญหางูกินหางไม่รู้จบ และประเทศไทยยังจะต้องเผชิญสภาวะ “แก่ก่อนรวย” อีกด้วย
ผมจึงอยากเสนอให้รัฐบาลเร่งสร้างกลไกทางกฎหมายเพื่อผลักดันระบบ ธนาคารเวลา (Time Bank) ซึ่งมีใช้กันในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สวิสเซอร์แลนด์ ฯลฯ โดยธนาคารเวลานี้หมายถึง ระบบหรือแพลตฟอร์มสะสมเวลาในรูปแบบบัญชีส่วนตัว โดยผู้ฝากสามารถเบิกถอนเวลามาใช้ได้เมื่อผู้ฝากต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้สมาชิกในชุมชน หรือผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่เดียวกันดูแลซึ่งกันและกัน ด้วยการแลกเปลี่ยนแบ่งปันทักษะ ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ ในรูปแบบของการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เป็นสมาชิกธนาคารด้วยกัน
เช่น พาผู้สูงอายุไปทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ไปหาหมอ ไปสานที่ราชการ ซื้อของ ไปเที่ยว ทำบุญ ซักผ้า ล้างจาน ซ่อมรถ เครื่องใช้ไฟฟ้า ประปา ตัดต้นไม้ ดูแลสัตว์เลี้ยง ป้อนข้าวผู้ป่วยติดเตียง เป็นต้น โดยมีผลตอบแทนเป็นเวลา คือ 1 ชั่วโมงเท่ากับ 1 หน่วยเวลา ซึ่งจะถูกบันทึกลงในสมุดบัญชีเวลา ซึ่งสมาชิกสามารถเบิกเวลาที่คงเหลืออยู่มาใช้ได้ เมื่อเราต้องการความช่วยเหลือ เช่นถ้าอยากจะซ่อมท่อน้ำ เราก็แจ้งผ่านแพลตฟอร์มขอสมาชิก 1 คนที่ซ่อมเป็น พอเสร็จเราก็ไม่ต้องจ่ายเป็นเงิน แต่จ่ายเป็นเครดิตเวลากับคนที่มาซ่อมไป 1 หน่วยเวลา เป็นต้น
ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยก็นำมาใช้แล้วในบางชุมชนโดย สสส. เป็นผู้ผลักดัน แต่ยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร ผมจึงเสนอให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพผลักดัน หรือออกเป็นกฎหมายหรือนโยบายเพื่อส่งเสริมระบบนี้ด้วยเพราะเป็นระบบที่สนับสนุนให้คนในชุมชนช่วยเหลือและแบ่งปันกัน เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ และพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน ไม่ต้องรอแต่ความช่วยเหลือจากภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียว”
#เพื่อไม่พลาดข่าวสารดีๆ อย่าลืมกดติดตามพวกเรา TOJO NEWS