อาจารย์อุ๋ย ย้ำ ! ไทยต้องเร่งสร้าง “อธิปไตยไซเบอร์” หลังเหตุมือถือแบรนด์ดัง ติดตั้งแอปฯ เงินกู้ ลั่น ! ไทยต้องเป็นเอกราชทางไซเบอร์ ไม่ตกเป็นเมืองขึ้นทางไซเบอร์ของใคร !
ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ อดีตอนุกรรมการ กสทช. ด้านกฎหมาย และที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการศึกษามาตรการในการปกป้องและส่งเสริมอุตสาหกรรม e- Commerce ในประเทศไทย ได้แสดงความเห็นว่า “จากเหตุการณ์โทรศัพท์มือถือยี่ห้อดัง ได้ออกมายอมรับว่ามีการติดตั้งแอพลิเคชั่นเงินกู้ซึ่งไม่ได้ผ่านขั้นตอนที่ถูกต้องตามกฎหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยและไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ใช้งาน อีกทั้งไม่สามารถลบออกได้โดยวิธีปกติ ซึ่งถือเป็นการละเมิดกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค และกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และสุ่มเสี่ยงที่ผู้ใช้งานแอพจะถูกนำข้อมูลส่วนตัวไปแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบ นั้น
ผมเชื่อว่าเป็นการยากที่กลไกทางกฎหมายของประเทศไทยในปัจจุบันจะเอาผิด ลงโทษหรือแม้แต่เรียกร้องค่าเสียหายที่ได้สัดส่วนกับความร้ายแรงของความผิดที่เกิดขึ้นจาก ‘ตัวการผู้กระทำผิด’ ทั้งที่อยู่ในประเทศและต่างประเทศได้ เนื่องจากรัฐบาลไทยไม่เคยให้ความสำคัญกับ ‘อธิปไตยไซเบอร์’ ทั้งนี้ สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ได้ให้นิยามคำว่า อธิปไตยไซเบอร์ (Digital Sovereignty) ว่าหมายถึง ‘การมีความสามารถในการกำหนดชะตากรรมด้านดิจิทัลด้วยตัวของเราเอง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ฮาร์ดแวร์ หรือซอฟต์แวร์ที่เราสร้างหรือใช้งานอยู่’
ผมจึงอยากตั้งคำถามไปยังรัฐบาลว่าตอนนี้ประเทศไทยสามารถกำหนดชะตากรรมทางดิจิทัลอะไรได้บ้าง ? เพราะกลไกรัฐและกลไกทางกฎหมายของไทย แทบไม่เคยป้องกัน ตรวจสอบ หรือแม้แต่เอาผิดกับตัวการผู้กระทำผิดในต่างประเทศได้เลย ทำให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งในกรณีที่แพลตฟอร์มโซเชียล และระบบปฏิบัติการชื่อดังล่มจนเกิดความเสียหาย กฎหมายไทยก็ไม่สามารถเอาผิดกับใครได้เลย
ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย ทั้ง ๆ ที่ จากสถิติ คนไทยดำเนินกิจกรรมมทางดิจิทัลติดอันดับต้น ๆ ของโลกมาตลอด แต่ประเทศกลับไม่มีอำนาจต่อรองกับผู้ประกอบการต่างชาติได้มากเท่าที่ควร ไม่สามารถควบคุมและกำกับดูแลมาตรฐานของการให้บริการของระบบดิจิทัลเหล่านี้ได้ และปล่อยให้เจ้าของระบบเหล่านี้กอบโกยประโยชน์ที่ประชาชนชาวไทยควรจะได้กลับประเทศแม่ไปหมด และกระทำการตามอำเภอใจโดยไม่สนใจผู้บริโภคคนไทย
ผมจึงขอเสนอให้รัฐบาลเร่งสร้างอธิปไตยทางไซเบอร์ ออกแบบมาตรการทางกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมมาตรฐานการให้บริการของอุปกรณ์สื่อสาร รวมทั้งแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติเหล่านี้ สร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อสร้างเครือข่ายอธิปไตยไซเบอร์ในระดับอาเซียน รวมทั้งสนับสนุนอุปกรณ์สื่อสารแพลตฟอร์มดิจิทัล และระบบป้องกันภัยทางไซเบอร์ที่สร้างและดำเนินการโดยคนไทย ให้เป็นแพลตฟอร์มใหญ่ที่สามารถแข่งขันกับต่างชาติและเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคได้
เพื่อที่ประโยชน์จากกิจกรรมทางไซเบอร์เหล่านี้จะตกอยู่กับพี่น้องคนไทย และเพื่อให้คนไทยปลอดภัยจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ด้วยการพึ่งพาตนเอง เพื่อสร้างอำนาจต่อรองและเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระยะยาวของประเทศต่อไป ด้วยความปรารถนาดี”
#เพื่อไม่พลาดข่าวสารดีๆ อย่าลืมกดติดตามพวกเรา TOJO NEWS