นพดล ชี้ ไทย 10 ปีที่แล้ว เป็นเหมือนการวิ่งมาราธอนที่เราอยู่แถวหน้า ขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้านกำลังแซงหน้าเรา
ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ร่วมอภิปรายในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 โดยกล่าวว่า ประเทศไทยใน 10 ปีที่แล้ว เป็นเหมือนการวิ่งมาราธอนที่เราอยู่แถวหน้า แต่ในขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้านกำลังแซงหน้าเรา สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความสามารถเราลดน้อยถอยลง เป็นเพราะขีดความสามารถในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ถดถอย โดยการพัฒนาทุนมนุษย์ หรือการเพิ่มศักยภาพบุคลากร เป็นเหรียญ 2 ด้านกับการพัฒนาการศึกษา ปัญหาการศึกษาหรือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มี 2 ประเด็น ได้แก่
1. ปัญหาความเหลื่อมล้ำ หรือ Inequality และ 2. ปัญหาการศึกษาขาดคุณภาพ หรือ Quality ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
เริ่มจากปัญหาต้นน้ำ คือ ปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำ เรามีเด็กและเยาวชนทยอยหลุดออกจากระบบการศึกษาไทยในทุก ๆ ปี ในปี 2566 เฉลี่ย 1 ล้านคน ถือเป็นโศกนาฎกรรมทางการศึกษา อย่างไรก็ตาม ขอให้เครดิต รัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ที่ได้เริ่มนโยบายตั้งเป้าเด็กหลุดจากระบบการศึกษาเป็นศูนย์ ซึ่ง 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้เด็กกลับมาสู่ระบบการศึกษา 1.4 แสนคน หรือ 13.6% ของจำนวนเด็กที่หลุดจากระบบ และเชื่อว่าท่านนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร จะทำต่อ
ส่วนปัญหาด้านคุณภาพ มาจากการท่องจำ และขาดทักษะในการคิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์ ผลสัมฤทธิ์ ทางการศึกษาต่ำ และไม่สามารถเตรียมคนให้มีทักษะที่เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ได้ จากการศึกษาของ OECD และ UNESCO โดยเด็กอายุ 1-6 ขวบ เป็นช่วงที่สมองกำลังเติบโต เป็นช่วงที่สำคัญมาก นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เจมส์ เจ. เฮกแมน (James J. Heckman) บอกว่า เราลงทุนในเด็ก 6 ขวบ ให้ผลตอบแทน 6 เท่า แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับการลงทุนที่ดี เพื่อให้เด็กเติบโตเป็นคนที่มีคุณภาพ
ทั้งนี้ รัฐบาลมีนโยบายให้ เด็กทุกคนจะต้องเข้าถึงศูนย์ดูแลเด็กปฐมวัยที่มีมาตรฐาน เพื่อให้พ่อแม่สามารถฝากเด็กแล้วไปทำงานได้ ทำให้เด็กได้เล่นตามพัฒนาการที่สมวัย
ขณะที่ปัญหากลางน้ำ คือ ตัวชี้วัดคุณภาพการศึกษาต่ำ ดูจากตัวชี้วัดทางวิชาการ ในโลกนี้มีตัวชี้วัดที่ยอมรับ 2 ตัว คือ PISA ทำโดย OECD ไทยเคยได้ 425 คะแนนในยุคอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร แต่ในปี 2565 คะแนนกลับเหลือ 394 คะแนน อีกทั้งตัวชี้วัดด้านภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาเชื่อมโลกและคว้าโอกาสในโลกมาอยู่ในมือคนไทย เมื่อปี 2555 สมัยนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไทยเคยอยู่ในลำดับที่ 53 ต่อมาปี 2565 หล่นลงมาอยู่ที่ 97 และล่าสุดปี 2566 อยู่ที่ลำดับ 101
ทั้งนี้ รัฐบาลนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร พร้อมสานต่อการสร้างระบบการศึกษาที่มีคุณภาพดี ที่ให้ความสำคัญกับการคิดวิเคราะห์ การศึกษาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การพัฒนาระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น เรียนรู้ตลอดชีวิต โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาสนับสนุนส่งเสริมการเรียนสองภาษา และใช้ AI เป็นตัวช่วย เน้นการสอนทักษะที่ใช้สร้างรายได้ (learn to earn )
ส่วนปัญหาในระดับปลายน้ำ ที่สำคัญที่สุดคือเราไม่สามารถสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่ตอบสนองความต้องการของตลาด และตามทันกับห่วงโซ่อุปทานโลกในปัจจุบันได้ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว แรงงานไทยต้องได้รับการยกระดับทักษะเดิม (Up-skill) และเรียนรู้ทักษะใหม่ (Re-skill) ขนานใหญ่
ซึ่งรัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน และรัฐบาลชุดนี้จะดำเนินการต่อเพื่อยกระดับทักษะและปลดล็อคศักยภาพของคนไทยเพื่อสร้างงานสร้างรายได้ได้วางรากฐานการ ยกระดับแรงงานไทยกว่า 20 ล้านคนให้สูงขึ้นผ่านนโยบาย Soft Power ตลอดจนผลของการเดินสายเจรจาของนายกฯ เศรษฐากับกลุ่มธุรกิจและนักลงทุนทั่วโลก ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่อย่างกูเกิล (Google) แอมะซอน (Amazon) และ ไมโครซอฟท์ (Microsoft) ในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งอยากให้รอดูการผลิดอกออกผลในช่วงรัฐบาลนายกฯ แพทองธาร
นพดลกล่าวว่า มีข้อเสนอแนะที่อยากให้รัฐบาลพิจารณา คือ
1. เพิ่มงบให้ กสศ. ลดเด็กหลุดจากระบบการศึกษา สู่ zero dropout
2. ยกเครื่องการศึกษาปฐมวัย เด็กเล็ก พัฒนาให้เป็น smart daycare 20,000 แห่ง
3. เอาจริงกับการพัฒนาหลักสูตร ให้เด็กไทยมีcritical and creative thinking
4. เพิ่มเรื่อง STEM เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ วิศวกรรม และภาษาอังกฤษ ตั้งเป้าเพิ่มคะแนน PISA ครั้งต่อไป เพื่อเพิ่ม GDP
5. เพิ่มสัดส่วนการผลิตสายอาชีพและสายสามัญจาก 30:70 ให้ได้ 50:50
6. เพิ่มการผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็น สัดส่วน 50:50 กับสายสังคม
“ตลอดชีวิตของผมศรัทธาคนที่พูดแล้วทำ ศรัทธาผลงานมากกว่าคนที่พูดเก่ง ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน นโยบายจะเขียนสวยหรูอย่างไรบนแผ่นกระดาษ ถ้าไม่ทำให้สำเร็จ ไม่มีทางที่ชีวิตคนไทยจะดีขึ้น ปีศาจอยู่ในรายละเอียด แต่เทวดาอยู่ในผลสัมฤทธิ์ จึงต้องทำให้สำเร็จ เราไม่ขาดแคลน Vision แต่เราขาดแคลน Action วันนี้เราได้นายกและรัฐบาลใหม่ รัฐบาลนี้ไม่ใช่บทที่ 2 ของเล่มที่ 1 แต่เป็นบทที่ 1 ของหนังสือเล่มที่ 2 ผมศรัทธาในจิตวิญญาณความเป็นแม่ของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร และศรัทธาในจิตสำนึกความเป็นนายกรัฐมนตรีของท่าน บิดาของท่านเคยสร้างตำนานผ่านโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำเร็จ ผมอยากให้ท่านทำสำเร็จเช่นกัน อยากให้รัฐบาลนี้เหมือนแพที่นำคนไทยไปข้างหน้า สร้างโอกาสทองให้คนไทย เป็นกระแสธารแห่งความหวัง ผมสนับสนุนรัฐบาลแพทองธารและนโยบายของรัฐบาลชุดนี้” นพดลกล่าว
#เพื่อไม่พลาดข่าวสารดีๆ อย่าลืมกดติดตามพวกเรา TOJO NEWS