ดร.อานนท์ คาด ศาลจะมีคำวินิจฉัยให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนับแต่บัดนี้เป็นต้นไป เหตุข้อโต้แย้งฟังไม่ขึ้น กระทำสิ่งมิบังควร ปมตั้ง พิชิต ชื่นบาน ผู้มีคดีพิพากษาจำคุก
ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสต์เฟซบุ๊ก Arnond Sakworawich ระบุว่า….
ผมขอแสดงความคิดเห็นต่อกรณีการทูลเกล้าเสนอชื่อนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
การเขียนแสดงความคิดเห็นนี้ มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อก้าวล่วงอำนาจศาล กดดันศาล หรือหมิ่นศาล แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยหลักสุจริตและหลักวิชาการเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประโยชน์สาธารณะ
ทั้งนี้ผมไม่ได้เป็นนักกฎหมายแต่เป็นผู้สนใจศึกษาหลักกฎหมายอันเป็นหน้าที่ของพลเมืองซึ่งจะอ้างว่ามิรู้กฎหมายมิได้เพียงเท่านั้น
นายพิชิต ชื่นบาน ถูกพิพากษาว่าละเมิดอำนาจศาล จากพฤติกรรมให้สินบนศาลโดยการจ่ายเงินในถุงขนมแล้วแกล้งทำลืมไว้ที่หน้าบัลลังก์ศาล ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4599/2551 ถูกพิพากษาจำคุก และได้ถูกจำคุกจนพ้นโทษออกมาแล้วนั้น
ประเด็นที่นายพิชิต ชื่นบานมีปัญหาคุณสมบัติในการเป็นรัฐมนตรีตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 160 นั้นมีสองประการ ประการแรกคือความซื่อสัตย์สุจริต ประการที่สองคือการทำผิดประมวลจริยธรรม
สำหรับประเด็นแรก ความซื่อสัตย์สุจริตนั้น นายพิชิต ชื่นบานถูกพิพากษาโดยศาลฎีกาอันเป็นที่สิ้นสุดแล้วว่ามีพฤติกรรมและความผิดในการให้สินบนต่อเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม กรณีนี้จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดต้องวินิจฉัยว่านายพิชิต ชื่นบานเป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติซื่อสัตย์สุจริต อันขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 160 มิอาจดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้
ประเด็นที่สอง การประพฤติผิดประมวลจริยธรรม ตามที่มีบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ การให้สินบนถือเป็นการประพฤติผิดประมวลจริยธรรมร้ายแรง ทั้งนี้ข้ออ้างในการต่อสู้ว่ายังมิมีผู้ชี้ว่านายพิชิต ชื่นบานเป็นผู้ประพฤติผิดจริยธรรมนั้นหาได้เป็นจริงไม่ เนื่องจากศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาหมายเลขดำที่ 1386/2553 และคดีหมายเลขแดงที่ 828/2557 ลงวันที่ 30 พค. 2557 ว่าสภาทนายความแห่งประเทศไทยใช้อำนาจทางปกครองโดยชอบด้วยกฎหมายในการลบชื่อนายพิชิต ชื่นบาน ออกจากทะเบียนทนายความ และนายพิชิต ชื่นบานมิได้อุทธรณ์ต่อ จึงถือเป็นอันสิ้นสุด
ทั้งนี้สภาทนายความแห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติเป็นการเฉพาะของตัวเอง ทั้งยังได้รับงบประมาณแผ่นดินเป็นประจำทุกปีในการดำเนินกิจการ จึงต้องถือว่าเป็นหน่วยงานที่ใช้อำนาจรัฐ และการที่นายพิชิต ชื่นบานถูกเพิกถอนในอนุญาติทนายความเพราะประพฤติผิดมรรยาท ทนายความ อันเป็นการกระทำที่ผิดจริยธรรมร้ายแรง ย่อมต้องถือว่ามีผู้ชี้การกระทำผิดประมวลจริยธรรมแล้ว ข้อโต้แย้งจึงฟังไม่ขึ้น
อนึ่งการโต้แย้งว่านายพิชิต ชื่นบานได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีไปแล้วนั้น จึงไม่ถือว่าเป็นการกระทำความผิด ก็มิอาจรับฟังได้ ทั้งนี้ ชื่อของนายพิชิต ชื่นบาน ได้มีการทูลเกล้าลงพระปรมาภิไธยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ความผิดจึงสำเร็จแล้ว การลาออกจึงมิได้เป็นการลบล้างความผิดแต่ประการใด
ทั้งนี้บรรดาราชการแผ่นดินต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 สำหรับกรณีนี้ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการคือนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในการแต่งตั้งรัฐมนตรี
ตามหลักของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขนั้น องค์พระมหากษัตริย์จะกระทำผิดมิได้ ซึ่งสากลเรียกว่าหลัก The king can do no wrong. อันบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 6 วรรคสอง ผู้ใดจะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์มิได้
เมื่อพฤติกรรมปรากฎชัดว่านายพิชิต ชื่นบานมีคุณสมบัติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 160 จึงต้องมีผู้รับผิดชอบตามหลัก The king can do no wrong. มิเช่นนั้นจะกลายเป็นว่าองค์พระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเสียเอง อันเป็นการขัดต่อหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข และจะเป็นการเสื่อมเสียพระเกียรติทั้งจะเป็นการเสียหลักการที่องค์พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง จึงทรงเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ อันบัญญัติไว้ในชัดเจนในรัฐธรรมนูญมาตรา 6 วรรคแรกแล้วนั้น
มีข้อโต้แย้งว่านายเศรษฐา ทวีสิน มิทราบประเด็นกฎหมายรัฐธรรมนูญดังกล่าว แต่การที่นำเรื่องเข้าปรึกษาคณะกรรมการกฤษฎีกาให้มีวินิจฉัยแต่ไม่ตรงประเด็นที่ควรต้องให้วินิจฉัย ตลอดจนการที่สื่อมวลชนขอสัมภาษณ์นายเศรษฐา ทวีสินหลายครั้ง ย่อมแสดงว่านายเศรษฐา ทวีสิน ทราบดีว่านายพิชิต ชื่นบานมีคุณสมบัติที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในการเป็นรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญโดยเจตนา นำรายชื่ออันไม่บริสุทธิ์ มีมลทิน ไปทูลเกล้าถวายให้ลงพระปรมาภิไธย เป็นการทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องมัวหมอง การกระทำดังกล่าวของนายเศรษฐา ทวีสิน จึงเป็นสิ่งที่ไม่บังควรเป็นอย่างยิ่ง
อาศัยความตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พศ. 2560 มาตรา 6 และ มาตรา 182 นายกรัฐมนตรีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ต้องรับผิดชอบในการรักษาหลักการในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง และองค์พระมหากษัตริย์มิอาจจะกระทำผิดได้
ทั้งนี้นายพิชิต ชื่นบาน ขาดความซื่อสัตย์สุจริต และประพฤติผิดประมวลจริยธรรม อันได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 160 จึงมีวินิจฉัยให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนับแต่บัดนี้เป็นต้นไป
#เพื่อไม่ให้พลาดข่าวสารดีๆ อย่าลืมกดติดตามพวกเรา TOJO NEWS