Connect with us

Politics

เงินเข้ากระเป๋าใคร? นรุตม์ชัย แฉ!! กทม.ปล่อย “เอกชน” หากินกับป้ายเถื่อนนับสิบปี นับหมื่นล้าน!!

Published

on

“ไทยสร้างไทย” ซัด กทม.รื้อป้ายเถื่อนแค่ปาหี่ แฉ “สำนักขนส่งฯ” สัญญาเอกชนให้ปักป้ายผิด กม.-มติ ครม.นับพันป้าย แลกค่าเช่าจิ๊บจ๊อย จากผลประโยชน์นับหมื่นล้าน ชี้บ่อเกิดคอรัปชัน จี้รื้อทิ้งให้หมด

ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า จากกรณีที่ กรุงเทพมหานคร เริ่มดำเนินการตรวจสอบ และรื้อถอนป้ายโฆษณาที่ติดตั้งโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือป้ายโฆษณาเถื่อน หลังมีประชาชนโพสต์ร้องเรียนผ่านสังคมออนไลน์ว่า พบป้ายโฆษณาที่มีลักษณะกีดขวางทางเดิน และบดบังทัศนวิสัย พร้อมเชิญชวนให้ประชาชนแจ้งเหตุหากพบการกระทำผิด และจะนําพิกัดป้ายโฆษณาในจุดต่างๆ ลงในแผนที่ใหญ่เป็น One Map เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการเก็บภาษีป้ายของ กทม. นั้น

นายนรุตม์ชัย บุนนาค พรรคไทยสร้างไทย ตั้งข้อสังเกตถึงกรณีที่ กทม. เข้ารื้อถอนป้ายโฆษณาบริเวณปากซอยราชปรารภ 14 ว่า ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. ชี้แจงว่า จะเร่งจัดการต่อการติดป้ายโฆษณาที่ไม่ถูกต้องตามกฏหมาย แต่กลับมิได้มีการชี้แจงถึงการปฎิบัติหน้าที่โดยไม่ถูกต้องของ สจส.เอง ในการให้เอกชนเข้าทำสัญญาเพื่อติดตั้งป้ายโฆษณาตามจุดต่างๆ อาทิ เกาะกลางถนน, ศาลาที่พักผู้โดยสาร หรือป้อมตำรวจ ใน กทม.โดยผิดกฎหมาย และควรจะมีการรื้อถอนด้วย เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ก่อให้เกิดการทุจริตคอรัปชัน ผ่านการเอื้อประโยชน์ให้เอกชน

นายนรุตม์ชัย กล่าวต่อว่า นับตั้งแต่ปี 2555 กทม. โดย สจส. อาจมีการหลีกเลี่ยงกฎหมายอนุญาตให้บริษัทเอกชนเข้ามาทำสัญญาเพื่อติดป้ายโฆษณาในพื้นที่ต่างๆทั่ว กทม. ซึ่งประชาชนทั่วไปอาจคิดว่า การติดป้ายเหล่านี้ถูกต้องตามกฎหมาย และบริษัทเอกชนสามารถดำเนินการได้ ตามสัญญาที่มีกับ กทม. แต่หากได้ดูข้อกฎหมายจะเห็นว่า ป้ายโฆษณาเหล่านี้ได้ถูกติดตั้งแบบผิดกฎหมาย อีกทั้งยังมีผลประโยชน์มหาศาลที่อาจเข้าข่ายการทุจริตคอร์รัปชัน รวมถึงทำให้มีการลักลอบติดตั้งป้ายโฆษณาเถื่อนเพิ่มขึ้น

นายนรุตม์ชัย กล่าวต่อว่า กทม.มีกฏหมายเพื่อควบคุมการติดตั้งป้ายโฆษณาหลัก 2 ฉบับ คือ ประกาศ กทม. ว่าด้วยเรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการติดตั้งป้ายโฆษณาในที่สาธารณะ 2548 ในข้อ 4.2 ระบุว่า การติดตั้งป้ายโฆษณาในบริเวณหรือสถานที่ที่ กทม.ได้จัดไว้ให้ มิให้ติดตั้งในบริเวณเกาะกลางถนน หรือศาลาที่พักผู้โดยสาร และข้อ 4 ของข้อบัญญัติ กทม. เรื่องกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลงอาคารประเภทป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้น สำหรับติดหรือตั้งป้ายในพื้นที่บางส่วน ในท้องที่ กทม. 2549 ระบุว่า ห้ามบุคคลใดก่อสร้างอาคารประเภทป้าย หรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายทุกชนิด

รวมทั้งยังมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 ม.ค.2562 เกี่ยวกับมาตรการป้องกันการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับป้ายโฆษณาบนทางสาธารณะ กิจการที่มีป้ายโฆษณาบนทางสาธารณะเป็นจำนวนมาก ทำให้บ้านเมืองดูไม่สะอาด ขาดความปลอดภัย และขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อย และเพื่อป้องกันมีให้มีการทุจริตเกี่ยวกับการติดตั้งป้ายโฆษณาบนทางสาธารณะและการละเว้นการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ อีกด้วย

“สิ่งที่เกิดขึ้น กทม. โดย สจส. กลับให้บริษัทเอกชนเข้าทำสัญญาเพื่อติดตั้งป้ายโฆษณาสาธารณะในที่ต่างๆตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน ให้ติดตั้งป้ายโฆษณาบนเกาะกลางถนน, ป้อมตำรวจ และศาลาที่พักผู้โดยสาร โดยมักจะเป็นการทำสัญญาในระยะยาวเป็นเวลา 5-10 ปี และจัดเก็บค่าเช่าจากบริษัทเอกชนในจำนวนเงินราว 2 พันกว่าบาท ต่อป้าย/เดือน มีจำนวนประมาณ 1-2 พันป้าย ในขณะที่บริษัทเอกชนนำป้ายโฆษณาเหล่านี้ให้กับบุคคลหรือบริษัททั่วไปเช่า เก็บค่าเช่าเป็นจำนวนเงินหลักแสนบาทต่อป้าย/เดือน” นายนรุตม์ชัย ระบุ

นายนรุตม์ชัย กล่าวด้วยว่า จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า มีป้ายลักษณะนี้อยู่กว่า 1,000 ป้ายทั่วพื้นที่ กทม. โดย กทม.ได้รับค่าเช่าป้ายโฆษณา 2,540 บาทต่อป้าย/เดือน ขณะที่ เอกชน นำไปปล่อยเช่าในอัตราหลักแสนบาทต่อป้าย/เดือน เมื่อคำนวณระยะเวลา 10 ปี ในอัตราค่าเช่า   2 แสนบาท ต่อป้าย/เดือน จำนวนกว่า 1,000 ป้าย ระยะเวลา 120 เดือน (10 ปี) มูลค่าจะสูงถึง 2.8 หมื่นล้านบาท แต่ กทม.ได้รับค่าเช่าเพียง 356 ล้านบาท หรือราวปีละ 35.6 ล้านบาทเท่านั้น หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่พบว่า มีการติดตั้งป้ายเหล่านี้กลางถนน, กลางสี่แยก หรือศาลาที่พักผู้โดยสาร ไม่เป็นไปตามข้อบังคับของประกาศ กทม.และข้อบัญญัติ กทม. รวมถึงมติ ครม. 8 ม.ค.2562

“จึงเป็นที่สงสัยว่า เจ้าหน้าที่ภาครัฐ สจส. กทม. อาจกระทำผิดต่อกฎหมายโดยเจตนาเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชน นับตั้งแต่ปี 2555-ปัจจุบัน มีบุคคลที่เกี่ยวข้องหลากหลายภาคส่วน และการกระทำดังกล่าวทำให้ กทม.และภาครัฐสูญเสียรายได้ เสื่อมเสียชื่อเสียง รวมไปถึงอาจมีการทุจริตคอรัปชันอีกด้วย” นายนรุตม์ชัย ระบุ

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: