Connect with us

Politics

สส.สิทธิพล เผย 3 ปัญหา นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ไม่มีประสิทธิภาพ-ไม่คุ้มค่า-ไม่โปร่งใส

Published

on

สส.สิทธิพล เผย 3 ปัญหาใหญ่! ปมแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ก้าวไกลเคยเตือน อดีตฯผู้ว่าแบงก์ชาติก็กังวล!!

ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก กรณีนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยระบุว่า

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมให้สัมภาษณ์กรณี 99 นักเศรษฐศาสตร์และคณาจารย์ ลงชื่อแถลงการณ์ เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายแจกเงิน Digital 10,000 บาท มีสาระดังนี้ครับ

  • การที่อดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ถึง 2 คน รวมถึงอาจารย์ และนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์จำนวนมาก แสดงความกังวลจริงจัง แถลงการณ์ต่อสาธารณะ สะท้อนภยันตราย ขนาดของความเสียหายที่รออยู่ข้างหน้า
  • ปรากฏการณ์นี้ เป็นสัญญาณสำคัญที่รัฐบาลต้องฟัง และเป็นสิ่งที่สังคม/ประชาชนต้องสะท้อนถึงรัฐบาล และนักการเมืองฝั่งรัฐบาล
  • ก้าวไกลเคยเตือนเเล้วทั้งตอนดีเบตหาเสียง และตอน ครม.แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ว่ามันจะได้ไม่คุ้มเสีย เพราะต้นทุนที่ใช้ สูงกว่าประโยชน์ที่ได้มา ซึ่งผมเห็นด้วยกับทุกข้อในแถลงการณ์

สำหรับผม ถ้าให้สรุป ปัญหาสำคัญของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต มีอย่างน้อย 3 ข้อ
1.ไม่มีประสิทธิภาพ
2.ไม่คุ้มค่า
3.ไม่โปร่งใส ไม่ยั่งยืน เป็นภาระในอนาคต

ไม่มีประสิทธิภาพ

มีหลักฐานคือ ช่วงโควิด ปี 64 เราใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเม็ดเงินประมาณ 5 แสนล้าน ขนาดใกล้เคียงกับนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต ผลคือเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวน้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่น

สิ่งนี้สะท้อนว่า การที่รัฐบาลพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเครื่องมือแบบเดิม โดยหวังผลให้มันดีกว่าเดิม เป็นไปได้ยาก

ดิจิทัลวอลเล็ต มีเป้าหมายกระตุ้นผ่านการบริโภค หวังให้คน กิน ใช้ เที่ยว จับจ่ายใช้สอย เพื่อให้เศรษฐกิจบูม สิ่งนี้คาดหวังได้ยากเมื่อดูจากโครงสร้างการจับจ่ายใช้สอยของคนไทย

สัดส่วนการบริโภคต่อรายได้ของคนไทย อยู่ที่ 70% หมายความว่า คนไทยมีเงิน 100 บาท ใช้จ่ายกินเที่ยว 70 บาท ในเมื่อวันนี้คนไทยบริโภคเยอะอยู่แล้ว การเอาเงินมาแจก สุดท้ายประชาชนอาจไม่ได้ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แค่เปลี่ยนเอาเงินที่ตัวเองจะใช้ มาเก็บ แล้วเอาเงินที่รัฐบาลบังคับให้ใช้ภายใน 6 เดือน ไปใช้ก่อนแทน

“พูดง่ายๆ ประชาชนอาจเก็บเงินของตัวเองไว้ แล้วใช้เงินของรัฐบาลก่อน และเอาเงินของตัวเองที่เก็บไว้ ไปใช้หลังจาก 6 เดือน ดังนั้นความคาดหวังที่รัฐบาลบอกว่า อยากช่วยให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจ อาจจะไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลคาดหวัง สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลคาดหวังและรัฐบาลพูดคืออยากให้กระตุ้นการใช้จ่ายและหวังให้กระตุ้นการลงทุนให้เอกชนต่างๆ ลงทุนถามจริงๆ เถอะว่า ในมุมผู้ประกอบการถ้าเขารู้ว่าเงินนี้มันมาแค่หกเดือนเขาจะไปลงทุนเครื่องจักรเพิ่ม หรือจะไปลงทุนขยายการผลิตเพิ่มหรือ ไม่น่าใช่ เพราะรู้ว่าเงินนี้มาช่วงสั้นๆ การหวังว่าจะให้มีการขยายการลงทุนมากขึ้นก็เป็นไปได้ยาก”

ไม่คุ้มค่า

ทุกอย่างมีค่าเสียโอกาส และราคาที่ต้องจ่าย รัฐบาลกำลังเอาเงิน 560,000 ล้านบาท ไปแจก โดยที่ประเทศยังมีโครงการอื่นที่ต้องการใช้งบ เช่น เพื่อการศึกษา สาธารณสุข สวัสดิการ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ สิ่งเหล่านี้ต้องถูกตัดแน่นอน ถ้าไม่ถูกตัด แปลว่ารัฐบาลจะต้องไปกู้เงิน หรือหาเงินจากแหล่งอื่นๆ

เรื่องนี้มีหลักฐาน คือ งบประมาณ ปี 66 ทั้งปี รัฐใช้ทั้งสิ้น 3 ล้านล้าน เป็นงบลงทุน 490,000 ล้าน งบนี้สำหรับทั้งสร้างถนน สะพาน จัดการน้ำ พัฒนาที่ดิน จัดหาครุภัณฑ์ อุปกรณ์การแพทย์ อุปกรณ์การศึกษา รวมกันทั้งหมดของปี 66 อยู่ที่ประมาณห้าเเสนล้านบาท

หมายความว่า ค่าเสียโอกาสของเงิน 560,000 ล้านบาทที่ไปทำดิจิทัลวอลเล็ต เทียบเท่ากับการเอางบลงทุนของทั้งประเทศ ไปเทหมดหน้าตักให้กับเรื่องเรื่องเดียว แล้วมันเป็นเรื่องระยะสั้นด้วย ผลที่ได้คือเราต้องเสียสละสะพาน อาคาร อุปกรณ์การศึกษา อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์การแพทย์

อีกเรื่องของหลักฐานความไม่คุ้มค่า คือ มีงานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ ที่สถาบันวิจัยของสถาบันการเงินเขาประเมินเลยว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบดิจิทัลวอลเล็ต เกิดผลน้อยมาก ใช้งบกระตุ้นประมาณ 3.6% ของจีดีพี แต่กระตุ้นได้เพียง 1% ของจีดีพีเท่านั้น นี่คือตัวเลขงานวิจัยที่โชว์ให้เห็นชัดว่า ได้ไม่คุ้มเสีย

ไม่โปร่งใส ไม่ยั่งยืน เป็นภาระในอนาคต

สิ่งที่รัฐบาลกำลังจะทำ ต้องเอาภาษีที่เก็บจากประชาชน มาใช้จ่าย งบประมาณมันไม่ได้งอกจากท้องฟ้า แต่มาจากภาษีของประชาชน

สิ่งที่เกิดขึ้นกำลังสร้างภาระทางการคลังในอนาคต ทั้งที่รัฐบาลเผชิญข้อจำกัดหลายอย่างในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นหนี้สาธารณะ สังคมผู้สูงอายุ

สำคัญสุด ที่ต้องบันทึกไว้ก็คือ รัฐบาลกำลังดำเนินนโยบายภายใต้ความสุ่มเสี่ยงว่าจะไม่โปร่งใส เลี่ยงการตรวจสอบ หันไปใช้แหล่งเงินนอกงบประมาณ อย่างที่รัฐบาลมีนโยบาย ขยายกรอบเงินนอกงบประมาณจาก 32% เป็น 45% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี สิ่งนี้เป็นการเลี่ยงการตรวจสอบ และเลี่ยงไม่ให้ภาระที่เพิ่มขึ้นถูกนับรวมเป็นหนี้สาธารณะ แต่ถามว่าสุดท้ายแล้วรัฐบาลต้องจ่ายไหม ตอบสั้นๆ ง่ายๆ คือต้องจ่าย แล้วเงินนั้นมาจากไหน ก็มาจากภาษีของประชาชน

สิ่งที่ผมในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ และพรรคการเมืองฝ่ายค้าน รวมถึง นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากตั้งคำถามคือ มันไม่ใช่แค่ไม่ยั่งยืน แต่รัฐบาลกำลังดำเนินการด้วยวิธีที่ไม่โปร่งใส เลี่ยงการตรวจสอบ

ทั้งหมดนี้ คือปัญหาสำคัญของนโยบายแจกเงินดิจิทัล ครับ

#เพื่อไม่พลาดข่าวสารดีๆ อย่าลืมกดติดตามพวกเรา TOJO NEWS

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: