Connect with us

Politics

“อ.สมคิด” ที่ผมรู้จัก…ยอมเหนื่อย ยอมถูกด่า เห็นผลประโยชน์ประเทศเป็นหลัก

Published

on

“สันติ” ย้อนเหตุการณ์ เจออำนาจลึกลับ! เสนอชื่อ “ประยุทธ์” เป็นนายกฯ ทำ “สมคิด” หลุดรายชื่อแคนดิเดต พร้อมเผย! ความประทับใจถึง “สมคิด” สละแรงกาย แรงใจ พัฒนาประเทศไทย

ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า ดร.สันติ กีระนันทน์ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย โพสต์เฟซบุ๊กแบ่งปันมุมมองที่มีต่อ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ระบุว่า

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ผมรู้จัก

ย้อนไปประมาณปี พ.ศ. 2535 ผมยังทำงานอยู่ที่ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ นครหลวงเครดิต จำกัด ได้พบ อ.สมคิด ครั้งแรกในตอนที่ผมดูแลฝ่ายคอมพิวเตอร์ของบริษัท กำลังเร่งงานระบบคอมพิวเตอร์ที่สาขาเชียงใหม่ เพื่อให้ทันการเปิดบริการ คุณธีรศักดิ์ สุวรรณยศ กรรมการผู้จัดการ ได้พา อ.สมคิด ไปดูงานในฐานะที่ปรึกษาของบริษัท ซึ่งผมก็เห็นเพียงผู้ใหญ่ 2 คน แน่นอนครับว่า อ.สมคิด ก็จำผมที่เป็นพนักงานตัวเล็ก ๆ ไม่ได้แน่นอน

หลังจากนั้นอีก 2 ปี ผมได้ตัดสินใจสมัครเข้าเรียนปริญญาเอกในโครงการ JDBA (Joint Doctoral program in Business Administration) ซึ่งเป็นโครงการนานาชาติ (international program) ร่วมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) อันนับได้ว่าเป็นหลักสูตรปริญญาเอกในประเทศไทยหลักสูตรแรก และที่ต้องร่วมกัน 3 สถาบัน เพราะยังมีอาจารย์ในระดับปริญญาเอกของแต่ละมหาวิทยาลัยไม่เพียงพอ ในรอบการสัมภาษณ์เข้าเรียนนั้น

ผมนอนป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกอยู่ที่โรงพยาบาล ในวันสัมภาษณ์จึงต้องขออนุญาตคุณหมอ ออกจากโรงพยาบาลมา 3 ชั่วโมง เพื่อมาสัมภาษณ์เข้าเรียน วันนั้นมี อ.สมคิด (NIDA) อ. กุณฑลี (จุฬาฯ ปัจจุบันคือ ศ. กิตติคุณ ดร. กุณฑลี รื่นรมย์) และ อ. พิพัฒน์ (ธรรมศาสตร์) เป็นผู้สัมภาษณ์ และกรรมการทั้ง 3 ท่าน คงเห็นความตั้งใจจริงของผม จึงรับผมเข้าเรียนในหลักสูตร และให้ทุน CIDA (Canadian International Development Agency) ซึ่งเป็น merit grant เรียนจนจบหลักสูตร ในสาขาวิชาการเงินจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย … นั่นเป็นครั้งที่ 2 ที่ผมได้พบกับ อ.สมคิด อีกครั้งหนึ่ง … แน่นอนครับ อาจารย์ก็จำผมไม่ได้แน่นอน

มีเกร็ดเล็ก ๆ ระหว่างเรียนปริญญาเอก ผมได้พบกับ อ.อุตตม โดยบังเอิญ ตอนนั้นผมกำลังอ่าน paper เรื่อง CAPM (Capital Asset Pricing Model) และมึนงง เพราะเป็นการอ่านงานวิจัยครั้งแรกในชีวิต ซึ่ง อ.อุตตม เพิ่งจบปริญญาเอก finance กลับมาเมืองไทย ก็ได้ชี้ประเด็นแหลมคมใน CAPM ให้ผมได้เห็น ทำให้ผมเข้าใจมาจนถึงทุกวันนี้ และได้ใช้วิชาความรู้ด้านการเงิน สอนหนังสือในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากที่เรียนจบปริญญาเอก

จนผมมาทำงานที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และได้เติบโตขึ้นมาจนถึงระดับรองผู้จัดการ ดูแลสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ และสายงานผู้ลงทุน (2 สายงานพร้อมกัน) ในช่วงนั้น อ.สมคิด เป็นรองนายกรัฐมนตรี ดูแลเศรษฐกิจ ก็ได้มีโอกาสพบกับ อ.สมคิด อีกหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนองานของตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือจัดงาน Thailand Focus แล้ว อ.สมคิด ก็จะต้องมาเปิดงาน ปาฐกถาให้นักลงทุนที่มาจากทั่วโลกสร้างความมั่นใจในการลงทุนในหลักทรัพย์ของไทย ฯลฯ

มีหลายครั้งที่ อ.สมคิด เรียกผมใช้งานต่าง ๆ ในฐานะของรองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่งานหนึ่งที่ทำให้ใกล้ชิด อ.สมคิด มากขึ้นคือ ช่วงที่ตลาดตราสารหนี้ระยะสั้นมีปัญหา มีตราสารหนี้ระยะสั้นจำนวนไม่น้อยที่จะผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ อ.สมคิด ได้เรียกผมเข้าไปพบที่ทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่ 7:00 น. หลายวัน หลายครั้ง เพื่อนำข้อมูลไปเสนอ แล้วก็สั่งการแก้ไขต่าง ๆ จนทำให้ผ่านพ้นวิกฤติครั้งนั้นไปได้ … ในช่วงเวลาที่ผมทำหน้าที่รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ

นั่นเอง ก็ได้เห็นความมุ่งมั่นในการทำงาน ความรู้ลึก รู้จริง ในระบบเศรษฐกิจไทย ของ อ.สมคิด และเมื่อย้อนกลับไปดูงานต่าง ๆ ที่อาจารย์ได้ทำในด้านเศรษฐกิจ ก็ทำให้เข้าใจได้ชัดเจนว่า อาจารย์มุ่งมั่นในการทำงาน โดยไม่ได้สนใจว่า ขั้วการเมืองจะเป็นอย่างไร ขอเพียงให้ประเทศไทยมีโอกาสพัฒนาที่ดีขึ้น อาจารย์ก็พร้อมที่จะเสียสละทั้งแรงกาย แรงใจ เพื่อใช้โอกาสนั้นพัฒนาประเทศไทย

แน่นอนครับว่า ความไม่สนใจขั้วการเมืองของอาจารย์จึงสร้างความไม่เข้าใจให้คนจำนวนไม่น้อยที่คิดเรื่องแบ่งฝักแบ่งฝ่าย โดยไม่มองไปที่เนื้อหาสาระของการทำงานเป็นหลัก และกลายเป็นเรื่องกล่าวหาโจมตีอาจารย์ ทั้งที่ไม่ทราบความจริงเบื้องหลัง

หลังจากที่ผมลาออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะแพ้การสรรหาเป็นผู้จัดการ ผมก็ตั้งใจว่าจะเลิกทำงาน และใช้ชีวิตเงียบ ๆ ทำสิ่งที่อยากจะทำต่อไป แต่แล้วก็แปลกใจ เพราะ อ.สมคิด เรียกผมเข้าไปหาที่ทำเนียบฯ อีกครั้งหนึ่ง แล้วถามว่า จะทำอะไรต่อไปหลังจากออกจากตลาดฯ ผมก็เรียนความตั้งใจไปว่าจะเลิกทำงานแล้ว ก็ถูกอาจารย์ดุว่า อายุยังน้อย จะเลิกทำงานได้อย่างไร (ตอนนั้นผมอายุ 56)

โดยอาจารย์บอกว่า อาจารย์อายุมากกว่าผม ยังทำงานอยู่เพราะประเทศยังจำเป็นต้องมีคนช่วยกันทำงาน ในที่สุด ผมก็ได้มาพบกับ อ.อุตตม ที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อ.อุตตม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในขณะนั้น) และเสนอ ครม. แต่งตั้งผมเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำกระทรวงอุตสาหกรรม (ผลงานสำคัญของผมขณะนั้น คือ การตั้ง InnoSpace ซึ่งเป็น platform ในการสนับสนุน startups ให้เกิดขึ้นได้ โดยผมไม่ได้ใช้เงินราชการ แต่เดินสายขอทุนจากภาคเอกชนเพื่อมาจัดตั้งให้เกิดเป็น incubator และ ทำหน้าที่ CVC ไปพร้อมกัน) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ผมก้าวเข้ามาในวงการบริหารราชการแผ่นดิน หลังจากนั้น ก็ได้มีโอกาสร่วมเป็นกลุ่มคนที่ก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ และเป็นกรรมการบริหารพรรคชุดแรก

ด้วยความอ่อนหัดทางการเมือง บวกกับความตั้งใจในการทำงานอย่างจริงจัง ผมร่วมงานกับ อ.สุวิทย์ ในการพัฒนานโยบายสำคัญหลายเรื่อง โดยหวังว่าจะเป็นนโยบายที่สร้างความเข้มแข็งให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย และร่วมไปกับ อ.สุวิทย์ เพื่อเดินสายหาเสียงในต่างจังหวัดทุกวันอย่างเข้มข้น ช่วงของการเลือกตั้ง แต่น่าเสียดายว่า นโยบายดี ๆ เหล่านั้น ไม่ได้ถูกนำมาใช้ แต่กลับมีกลุ่มคนที่นำเสนอนโยบายแปลก ๆ ที่ไม่สร้างความเจริญ เข้ามาแทนที่ … นับเป็นการเรียนรู้ทางการเมืองอย่างสำคัญของผมว่า อะไรเป็นอะไร

จำได้ว่า ตอนที่กรรมการบริหาร พปชร. มีมติให้เสนอ พลเอกประยุทธ์ เป็น candidate นายกฯ นั้น ก็มีมติให้เสนอ อ.สมคิด และ อ.อุตตม เป็น candidate นายกฯ รวมเป็น 3 ชื่อ … แต่หลังจากนั้น ก็มีอำนาจลึกลับให้กรรมการบริหาร เปลี่ยนมติใหม่ ให้เสนอชื่อ พลเอกประยุทธ์เพียงชื่อเดียวเท่านั้น … และนั่น ก็เป็นบทเรียนสำคัญทางการเมืองอีกบทหนึ่งของผม

ผมได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 สังกัด พปชร. โดยเป็นสมาชิกแบบบัญชีรายชื่อ และได้เรียนบทเรียนทางการเมืองอีกมากมาย แม้จะเป็น สส. เหมือนกับ สส. เขต แต่การได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างในพรรค ก็เป็นอีกบทเรียนสำคัญทางการเมืองของผมอีกเช่นกัน เพียงแต่ผมใช้เวลาของการเป็น สส. นั้น ทุ่มเทการทำงานในหน้าที่นิติบัญญัติ เรียนรู้ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในงานสภาฯ งานในคณะกรรมาธิการฯ ทั้งสามัญและวิสามัญหลายคณะ

ซึ่งก็นับเป็นโอกาสอันดีที่ผมได้ทำหน้าที่โดยใช้พื้นฐานทางวิชาการที่มีติดตัว เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ แก้ไขกฎหมายทางเศรษฐกิจและธุรกิจหลายฉบับ ได้ทำหน้าที่เลขานุการ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี หลายครั้ง จนทำให้เข้าใจในกระบวนการสำคัญ ๆ ติดตัวมา … ซึ่งก็แตกต่างจาก สส. หลายคน ที่ไม่ได้ตั้งใจในการทำงานอย่างที่ผมตั้งใจ น่าเสียดายที่ไม่ใช้เวลาที่มีค่านั้น ในการเรียนรู้ สั่งสมประสบการณ์ที่มีโอกาสยากที่จะได้เรียนรู้ และทำหน้าที่ของตนเองอย่างตรงไปตรงมา

มาถึงวันหนึ่งที่ อ.อุตตม (หลังจากถูกพิษทางการเมือง ออกจาก พปชร. และการเป็นรัฐมนตรี) เรียกผมไปคุยด้วย และบอกว่าจะตั้งพรรคการเมือง เพื่อทำงานการเมืองโดยยึดถือประโยชน์ของประเทศเป็นหลักให้เกิดขึ้นได้จริง ๆ พร้อมกับถามว่าสนใจจะมาร่วมงานกันไหม … ผมมีคำถามที่ถามไปในขณะนั้นว่า ไม่อิงขั้วอำนาจเก่าที่ไล่เราออกมาใช่ไหม ก็ได้รับคำตอบว่า “ใช่” และอีกคำถามหนึ่งคือ ถ้าถึงเวลาจะเสนอ อ.สมคิด เป็น candidate นายกรัฐมนตรีหรือไม่ ก็ได้รับตอบว่า “แน่นอน”

2 คำถามกับ 2 คำตอบนั้น เป็นจุดตัดสินใจให้ผมลาออกจาก พปชร. และสิ้นสุดสมาชิกภาพการเป็น สส. โดยผมไม่มีความลังเล เพราะผมเชื่อมั่นในแนวทางการใช้น้ำดีเจือจางน้ำเน่า และมั่นใจว่า ในที่สุดจะมีน้ำดีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้น้ำเน่าหมดไปในที่สุด แม้ผลสำเร็จดังกล่าว อาจจะไม่เห็นในช่วงที่ผมยังมีแรงทำงาน หรือไม่เห็นในช่วงชีวิตของผม แต่ถ้าไม่เริ่ม ก็คงไม่สามารถจะเริ่มสิ่งดี ๆ ได้ … Tomorrow is NOW

จะเห็นได้ว่า อ.สมคิด ที่ผมรู้จักนั้น ผมไม่ได้เคารพนับถืออาจารย์ เพราะความสัมพันธ์อะไรกับอาจารย์เลย อาจารย์ไม่เคยสอนหนังสือผม อาจารย์ไม่เคยเอื้อประโยชน์อะไรให้ผม มีแต่ใช้ผมทำงาน ผมไม่ใช่คนสนิทใกล้ชิดกับอาจารย์ แม้จนทุกวันนี้ ก็ไม่ใช่คนที่อาจารย์จะนึกถึงหรือรู้จัก เพียงแต่ผมเห็นความทุ่มเท ความจริงใจ ในการทำงานของอาจารย์เพื่อประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก ยอมเหนื่อยทั้งกายและใจ ยอมถูกด่า และอีกสารพัด เพียงเพื่อประโยชน์ของประเทศ

ซึ่งเอาจริง ๆ แล้ว หากอาจารย์จะใช้ความรู้ ความสามารถ การได้รับการยอมรับในระดับสากล ทัศนคติ ความคิดที่ใหม่เสมอ ไม่ได้แก่ไปตามอายุที่เพิ่มขึ้น แต่อายุที่เพิ่มขึ้นนั้น กลับกลายเป็นประสบการณ์ที่ทำให้อาจารย์มีความพร้อมในทุก ๆ ด้าน ซึ่งคุณสมบัติที่มีอยู่ในตัวของอาจารย์ทั้งหมดนี้ หากอาจารย์จะใช้เพื่อแสวงหาประโยชน์ของตัวเอง ก็คงได้เห็น อ.สมคิด ที่ร่ำรวย (เหมือนกับ คนที่มีชื่อเสียงระดับอาจารย์หลายคน รุ่นราวคราวเดียวกัน) แต่ในความเป็นจริง วันนี้ อ.สมคิด ก็เพียงมีฐานะพอมีพอกิน ไม่ปรากฏความร่ำรวยให้เห็น ไม่มีเรื่องด่างพร้อย … และนี่เอง ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผมมีความเคารพนับถือ อ.สมคิด

อ.สมคิด ที่ผมรู้จัก อาจจะไม่เหมือนกับ อ.สมคิด ที่คนอื่นรู้จัก ผมก็เพียงอยากแบ่งปันความคิด ความเห็น และมุมมองที่ผมได้เห็นประจักษ์ด้วยตัวเองเท่านั้นครับ

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: