อุตตม พรรคสร้างอนาคตไทย แนะเอกชน นักลงทุน ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์เรื่องค่าใช้จ่ายและรายได้เป็นหลัก ดูโอกาสใหม่ๆด้านอาชีพไว้รองรับหากเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด
ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า นายอุตตม สาวนายน แกนนำและผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสร้างอนาคตไทย เปิดเผยถึงผลกระทบจากสถานการณ์สู้รบระหว่างประเทศรัสเซียกับยูเครน ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของไทยที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยระบุว่า มีความกังวลใจ เพราะไม่สามารถคาดเดาได้ว่าทิศทางของเหตุการณ์นี้ จะดำเนินต่อไปอย่างไร จะขยายวงเพิ่มความรุนแรง หรือจะยุติลงเมื่อใด ส่วนตัวผมหวังว่า เหตุการณ์จะยุติลงด้วยแนวทางสันติวิธีในเร็ววัน เพราะได้ส่งผลกระทบไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยที่ภาวะเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะอ่อนแอจากพิษโควิด อาจกลายเป็นปัญหาซ้ำเติมประเทศไทยหนักหน่วงยิ่งขึ้น และอาจกระทบต่อโอกาสที่เศรษฐกิจประเทศจะพลิกฟื้นได้ภายในปีนี้ตามที่มีการคาดหวังหรือประเมินไว้จากหน่วยงานต่างๆ
นายอุตตม ระบุต่อว่า สงครามยูเครน เพิ่มความผันผวน และความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะต้นทุนพลังงานพุ่งสูง ประกอบกับวัตถุดิบในการผลิตอาหาร และสินค้าหลายประเภทเริ่มขาดแคลน ตลอดจนมาตรการตอบโต้ทางการค้าระหว่างรัสเซียกับประเทศต่างๆ ที่อาจถูกนำออกใช้เพิ่มเติมอีก ก็จะกระทบต่อการฟื้นและขยายตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวม ซึ่งก็จะมีผลต่อภาคการส่งออก และภาคท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักทางเศรษฐกิจของไทยได้ ตลอดจน ความไม่แน่นอนในทิศทางนโยบายของธนาคารกลางประเทศผู้นำเศรษฐกิจ ที่อาจปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นจากนี้ไป
“ในสถานการณ์เช่นนี้ ประเทศไทยคงหลีกเลี่ยงการถูกกระทบได้ยากสิ่งที่ประเทศไทยควรเร่งทำในเวลานี้ นอกเหนือจากดูแลประชาชนที่ถูกผลกระทบอย่างครอบคลุมแล้ว เราควรวางแผนล่วงหน้าเพื่อรับมือสถานการณ์ในระยะต่อไปด้วยความรอบคอบไว้ก่อน ซึ่งการหารือและร่วมมือใกล้ชิดระหว่างรัฐและเอกชนเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง” นายอุตตม ระบุ
นายอุตตม ระบุอีกว่า สำหรับการวางแผนรับมือสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ย่อมเกี่ยวข้องกับการจัดสรรงบประมาณที่จำเป็น โดยภาครัฐควรพิจารณาการรักษาเสถียรภาพด้านการเงินการคลังรวมถึงตลาดทุนมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะในยามที่ภาวะเศรษฐกิจไม่ปกติและมีความเสี่ยงสูงนั้น เสถียรภาพและความเข้มแข็งของระบบ จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน รวมถึงนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และจะเป็นเกราะให้เศรษฐกิจของประเทศในยามที่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีปัญหารุนแรง และหากจำเป็นต้องมีการกู้ยืม ก็จะต้องไม่ให้เป็นภาระต่อการเงินการคลังของประเทศในอนาคต การจัดสรรงบประมาณควรนำไปสู่การใช้จ่ายที่คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพให้มากที่สุด
“หากมีการกู้ยืม ควรมีการจัดสรรงบประมาณอย่างเป็นระบบและมีเป้าหมายที่ชัดเจน โดยนอกเหนือจากงบประมาณเพื่อมาตรการดูแลและเยียวยาระยะสั้นแล้ว ควรจัดสรรงบประมาณเพื่อลงทุนในภาคส่วนต่างๆ ด้วยโครงการที่มีพลังเพียงพอ เน้นการสร้างงาน สร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถให้ภาคเอกชนไปพร้อมกัน เพื่อวางพื้นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต” นายอุตตม ระบุ
นายอุตตม ยังได้กล่าวถึงในส่วนของภาคเอกชนด้วยว่า ในภาวะที่มีความไม่แน่นอนและความเสี่ยงเช่นนี้ ภาคเอกชนควรเตรียมพร้อมวางแผนรับมือไว้ด้วยเช่นกัน สิ่งสำคัญที่ภาคเอกชนต้องคำนึงถึงในลำดับต้น คือการรักษาสภาพคล่องในระยะสั้นให้เพียงพอมากที่สุด ส่วนการลงทุนใหม่หรือลงทุนเพิ่มในระหว่างนี้ คงต้องใช้ความระมัดระวังและรัดกุมในการเลือกลงทุน แต่ทั้งนี้เราไม่จำเป็นต้องปิดประตูในการลงทุนใหม่เสียทั้งหมด เพราะอดีตที่ผ่านมาได้ชี้ให้เห็นว่า ในทุกภาวะวิกฤตย่อมมีโอกาสแทรกอยู่ด้วย
ดังนั้นผู้ประกอบการก็ควรจะสอดส่องดูโอกาสในการลงทุนใหม่ไปพร้อมๆกัน แต่ย้ำว่าต้องกระทำด้วยความรัดกุม รอบคอบ สำหรับภาคประชาชน ลูกจ้าง พนักงาน ก็คงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ในเรื่องค่าใช้จ่ายและรายได้เป็นหลัก และเป็นเวลาที่เราสามารถทบทวนศักยภาพของตัวเองที่มีอยู่ เพื่อพัฒนานำไปสู่โอกาสใหม่ๆด้านอาชีพไว้รองรับหากเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด
“ในภาวะที่พวกเราต้องเผชิญกับความท้าทายและความเสี่ยงที่กำลังเพิ่มขึ้นมากเช่นปัจจุบัน ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนย่อมมีความจำเป็น โดยความร่วมมือใกล้ชิดจะเป็นรากฐานของการกำหนดมาตรการ และแนวทางการดูแลแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นให้ตรงเป้าและสัมฤทธิผล ขณะเดียวกันก็เป็นการเติมกำลังใจให้กันและกัน ให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะจัดการกับสถานการณ์ที่อาจรุนแรงขึ้น และเราจะสามารถก้าวข้ามอุปสรรคไปได้ในทุกรูปแบบ” นายอุตตม ระบุ