ธีระชัย ชี้ ถ้ากัมพูชายอมรับว่าเกาะกูดเป็นของไทยจริง กัมพูชาจะต้องลากเส้นไหล่ทวีปตามอนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป ข้อ 6 ข้อย่อย 2 ซึ่งจะไม่สามารถเข้ามาแม้แต่ใกล้เกาะกูดได้เลย ใช่หรือไม่?
ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความกรณีการแถลงข่าว MOU44 ของรัฐบาลว่า กระทรวงต่างประเทศโปรดตอบคำถามให้ตรงจุด
นางสาวแพทองธาร นายกรัฐมนตรี และนางสุพรรณวษา โชติกญาณ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ แถลงเกี่ยวกับ MOU44 ซึ่งซ้ำเดิม โดยมีสองประเด็นหลัก คือ
หนึ่ง ไทยไม่เสียเกาะกูดแน่นอน เพราะกัมพูชายอมรับอยู่แล้วว่าเกาะกูดเป็นของไทย
สอง MOU44 ไม่ทำให้ไทยเสียสิทธิ เพราะการอ้างสิทธิของแต่ละฝ่ายจะยังคงอยู่
ผมขอท้าทายให้กระทรวงต่างประเทศชี้แจงในทุกประเด็นต่อไปนี้ แบบชัดๆ
ข้อ 1) นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศผู้ออกมาสนับสนุน MOU44 นายสุรเกียรติ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศผู้ลงนามใน MOU44 และตัวท่านอธิบดีเอง ทราบหรือไม่ว่า
1.1 กฤษฎีกาของกัมพูชาที่ประกาศเส้นไหล่ทวีปผ่านเกาะกูดนั้น ระบุชัดแจ้งว่าอ้างอิงสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ใช่หรือไม่?
1.2 สาเหตุที่กัมพูชาอ้างอิงสนธิสัญญาฯ ก็เพื่อเป็น “เหตุแห่งสิทธิทางประวัติศาสตร์” ตามอนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตฯ ข้อ 12 ข้อย่อย 1 ใช่หรือไม่?
1.3 แต่ในปี ค.ศ. 1907 ที่ ร.5 ทำสนธิสัญญาฯ นั้น กติกาสากลไม่มีเรื่องไหล่ทวีป ข้อความเกี่ยวกับเกาะกูดและแผนที่สังเขปบรรยายพื้นที่บนบก ไม่เกี่ยวกับพื้นที่ทะเล กัมพูชาจึงบิดเบือนสนธิสัญญาฯ ใช่หรือไม่?
1.4 นอกจากนี้ อนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป เป็นคนละฉบับกับ อนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตฯ ใช่หรือไม่?
1.5 อนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป ไม่มีข้อยกเว้นเรื่อง “เหตุแห่งสิทธิทางประวัติศาสตร์” แม้แต่ข้อเดียว ใช่หรือไม่?
1.6 การที่กัมพูชาอ้างสนธิสัญญาฯ จึงเป็นการปะปนสองอนุสัญญาเข้าด้วยกัน ใช่หรือไม่?
1.7 เส้นไหล่ทวีปที่กัมพูชาลากผ่านเกาะกูด ขัดกับอนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป อย่างสิ้นเชิง ใช่หรือไม่?
1.8 ถ้ากัมพูชายอมรับว่าเกาะกูดเป็นของไทยจริง กัมพูชาจะต้องลากเส้นไหล่ทวีปตามอนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป ข้อ 6 ข้อย่อย 2 ซึ่งจะไม่สามารถเข้ามาแม้แต่ใกล้เกาะกูดได้เลย ใช่หรือไม่?
1.9 กระทรวงต่างประเทศบรรจุเอาเส้นไหล่ทวีปที่กัมพูชาลากผ่านเกาะกูด ทั้งที่รู้ดีอยู่แล้วว่าเส้นนี้ขัดกับอนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป กลับบรรจุใน MOU44 ซึ่งทำให้ไทยเสี่ยงเรื่องดินแดนและสิทธิประโยชน์ในทะเลโดยไม่จำเป็น ด้วยเหตุผลใด?
ข้อ 2) ไทยเสียเขาพระวิหารเพราะศาลโลกวินิจฉัยว่า กัมพูชาส่งแผนที่ผิดให้กระทรวงฯ ที่แสดงว่าเขาพระวิหารตั้งอยู่ในเขตของกัมพูชา แต่กระทรวงฯ ไม่โต้แย้ง จึงเป็นการยอมรับโดยปริยาย ท่านจำได้หรือไม่?
จากประสบการณ์เขาพระวิหาร การที่กระทรวงฯ ยอมรับเอาเส้นไหล่ทวีปที่ขัดกับอนุสัญญาไหล่ทวีป ไปลงนามร่วมไว้ใน MOU44 จะไม่ทำให้ประชาชนคนไทยกังวลได้อย่างไร?
ผมเองไม่ขัดข้องการเจรจาพัฒนาปิโตรเลียม
แต่ต้องไม่ไปก่อความเสี่ยงต่ออธิปไตยดังที่เป็นอยู่ใน MOU44 จึงเรียกร้องให้ยกเลิก MOU44 โดยพลัน
#เพื่อไม่พลาดข่าวสารดีๆ อย่าลืมกดติดตามพวกเรา TOJO NEWS