“สามารถ” ไม่เห็นด้วย สูตรหาร 100 เหตุพรรคที่มีการรวมตัวเป็นกลุ่มเฉพาะอาชีพ ก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ผิดกับสูตรหาร 500 ที่ความหลากหลายของพรรคการเมืองจะมีมากขึ้น เชื่อ! สูตรนี้จะชนะโหวต
ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงแนวทางที่สมาชิกรัฐสภาจะโหวตลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญในการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. วาระ 2-3 ในเรื่องสูตรการคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ว่าจะเลือกใช้สูตรหารด้วย 100 หรือหารด้วย 500 ว่า
การอภิปรายมาตรา 6 เรื่องจำนวนส.ส.พึงมี ก็น่าจะได้ข้อยุติในวันนี้( 6ก.ค.)และตนเองขอฟันธงว่าสูตรหาร 500 จะชนะโหวต ซึ่งตนเห็นด้วยว่าสูตรนี้เหมาะสมที่สุด เพราะจะทำให้ความหลากหลายของพรรคการเมืองมีมากขึ้น เพราะหากใช้สูตรหาร100 พรรคที่มีการรวมตัวเป็นกลุ่มเฉพาะอาชีพ ก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งตรงจุดนี้มีความสุ่มเสี่ยงที่จะขัดต่อรัฐธรรมนูญ เราต้องอย่าลืมว่ารธน.ฉบับ2560 ให้ความสำคัญกับเสียงของประชาชนว่าทุกคะแนนเสียงของประชาชนจะต้องไม่ตกน้ำ และพรรคการเมืองสามารถเกิดขึ้นได้ โดยให้ทุกกลุ่มอาชีพสามารถรวมตัวกันเพื่อเป็นตัวแทนประชาชน
ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากจากพรรคการเมืองใหญ่ อย่างพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ ณ เวลานั้น ลงมติเลือกสูตรหาร100 คิดน่าจะดี ในขณะที่คณะกรรมาธิการเสียงข้างน้อยเลือกสูตรหาร500 ซึ่งเป็นเสียงของส.ส.พรรคเล็ก อาทิ พรรคภูมิใจไทย ส่วนพรรคก้าวไกล บอกได้ทั้ง2สูตร
ซึ่งผมขอย้อนถามว่าประเด็นแก้เป็นบัตรสองใบ และสูตรหาร500หรือ100เป็นการตกลงกันเองของรัฐสภา ซึ่งไม่ได้อยู่ในกฎหมายลูก ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือ สว.ไม่เห็นด้วย เพราะหากใช้สูตรหาร100อาจจะขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งผู้ที่ลงมติที่ฝ่าฝืนหรือขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ มีการกำหนดบทลงโทษว่าผู้ลงมติจะต้องรับผิดชอบ ดังนั้น สว.มองว่าสูตรหาร 500 จะเป็นการลงมติที่ปลอดภัยกับตัวเองมากกว่า ดังนั้น ผมมั่นใจว่าวันนี้ผลการโหวตหาร500จะเป็นฝ่ายชนะแน่นอน เป็นเสียงข้างมากในการลงมติ
นายสามารถ ยังระบุถึงกรณีที่นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานวิปของพรรค ระบุว่า พรรคฯต้องยึดหลักการหาร 100 เนื่องจากพรรคฯ เป็นผู้เสนอขอแก้ไขประเด็นสูตรหารด้วย 500 เพราะผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 86 และ 91นั้น นายสามารถ กล่าวว่า
ประเด็นดังกล่าวนายชินวรณ์ มองว่า ให้ยึดหลักการตอนพรรคเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แบ่งเป็นส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ100คน และส.ส.เขต400คนอยู่แล้ว ดังนั้น หากใช้สูตรหาร 500 จะขัดกับหลักการที่พรรคเป็นผู้แสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว แต่ทั้งนี้ตนคิดว่า ต้องอย่าลืมว่า ตอนคุณเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น คุณลืมว่า ต้องยึดตามหลักการและเจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมที่กำหนดไว้ว่าเรื่องส.ส.พึงมี ทุกคะแนนเสียงของประชาชนจะต้องไม่ตกน้ำหรือเปล่า ซึ่งเป็นที่มาบัตรใบเดียว
แต่เมื่อจะให้เปลี่ยนแปลงเป็นบัตรสองใบ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ บอกว่า การแก้รัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐสภาอยู่แล้ว แต่การแก้ไขจะต้องไม่ขัดหลักการและเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ โดยก่อนหน้านี้ เมื่อนพ.วรงค์ เดชกิจววิกรม์ กับนพ.ระวีมาศฉมาดล ได้ไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยประเด็นดังกล่าว ศาลท่านไม่รับไว้พิจารณา โดยให้เหตุผลว่า ผู้ยื่นหรือผู้ร้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย ดังนั้น ประเด็นดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญจึงยังไม่ได้ตัดสินว่า ถูกหรือผิดแต่อย่างใด