Connect with us

Politics

ศาลปกครอง สั่งให้ “ชัยวัฒน์” กลับเข้ารับราชการ

Published

on

ศาลปกครอง มีคำสั่งให้ “ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร” กลับเข้ารับราชการชั่วคราว

ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า ศาลปกครองเพชรบุรี มีคำสั่งทุเลา ให้ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร กลับเข้ารับราชการ เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีคำสั่งอื่น หลังโดนปลดออกเมื่อเมษายนปีก่อน

ศาลปกครองเพชรบุรีมีคำสั่งทุเลาการบังคับคดีให้ ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และตำแหน่งสุดท้ายก่อนถูกปลดออกจากราชการคือ ผู้อำนวยการสำนัก สังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 กลับเข้ารับราชการไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

หลังก่อนหน้านี้คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มีมติปลดชัยวัฒน์ออกจากราชการ หลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ชี้มูลความผิด ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญา โดยการเผาทำลายทรัพย์สินของชาวบ้านบางกลอยในป่าแก่งกระจาน

โดยคำสั่งของศาลระบุใจความสำคัญว่า คำสั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ 132/2564 ลงวันที่ 2 เมษายน 2564 ที่ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ อันสืบเนื่องมาจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ได้มีมติชี้มูลดังกล่าว โดยไม่ได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ก่อนออกคำสั่งดังกล่าว จึงมีเหตุอันควรสงสัยว่า คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย

อีกทั้งการให้คำสั่งดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไป ย่อมมีผลให้ผู้ฟ้องคดีต้องพ้นจากการเป็นข้าราชการสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ซึ่งนอกจากผู้ฟ้องคดี (ชัยวัฒน์) จะได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการไม่ได้รับเงินเดือน สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการต่างๆ ตามสิทธิที่พึงมีพึงได้ในฐานะข้าราชการพลเรือนแล้ว ผู้ฟ้องคดียังต้องขาดโอกาสและความเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ราชการ

โดยขณะยื่นคำฟ้องนี้ผู้ฟ้องคดียังเหลือระยะเวลารับราชการได้อีกไม่เกิน 2 ปีเท่านั้น หากศาลได้มีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งที่พิพาทในภายหลัง ผู้ฟ้องคดีอาจไม่มีโอกาสได้กลับเข้ารับราชการอีก และในระหว่างการพิจารณาคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 อาจดำเนินการสรรหาบุคคลอื่นมาดำรงตำแหน่งทดแทนผู้ฟ้องคดี

กรณีนี้จึงเป็นความเดือดร้อนเสียหายที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จะได้โต้แย้งคัดค้านว่า หากภายหลังศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งที่ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการแล้ว ผู้ฟ้องคดีสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้นั้น เห็นว่าค่าเสียหายที่เป็นตัวเงินย่อมไม่อาจเทียบได้กับเกียรติยศ ชื่อเสียง และความก้าวหน้าในชีวิตราชการของผู้ฟ้องคดีที่ต้องสูญเสียไปเพราะการออกคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดังกล่าว

ประกอบกับคำชี้แจงของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ชี้แจงว่าได้มีคำสั่งที่ 439/2564 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2564 แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนัก (ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (วิชาการป่าไม้)) ระดับสูง สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 ไปแล้ว อันเป็นการชี้ให้เห็นว่า ตำแหน่งที่ผู้ฟ้องคดีดำรงอยู่นั้นมีความสำคัญต่อหน้าที่ตามกฎหมายเกี่ยวกับการรักษา คุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติของประเทศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงไม่อาจให้ตำแหน่งดังกล่าวว่างลงเป็นระยะเวลายาวนานได้

อีกทั้งผู้ฟ้องคดีได้ชี้แจงว่า ขณะดำรงตำแหน่งดังกล่าวผู้ฟ้องคดีได้ปฏิบัติหน้าที่ในการจับกุมและปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้จำนวน 474 คดี ซึ่งแล้วเสร็จ 64 คดี และยังมีคดีที่ยังไม่สิ้นสุดอีก 386 คดี ที่ผู้ฟ้องคดีอาจต้องไปเป็นพยานในชั้นพิจารณาคดีของศาลด้วยตนเอง

กรณีนี้จึงเห็นได้ว่า ผู้ฟ้องคดียังคงมีหน้าที่อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ภารกิจของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 สำเร็จลุล่วงด้วยดี

ดังนั้น การให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองที่พิพาทโดยให้ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนัก (ผู้อำนวยการระดับสูง) สังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ต่อไปเป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่นนั้น ย่อมเป็นประโยชน์แก่การบริหารงานหรือบริการสาธารณะของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และมิได้เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐ หรือการบริการสาธารณะของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 แต่อย่างใด

กรณีนี้จึงมีเหตุอันสมควรที่ศาลปกครองจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ 132/2564 ลงวันที่ 2 เมษายน 2564 ที่ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น จึงมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ 132/2564 ลงวันที่ 2 เมษายน 2564 ที่ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: