Connect with us

Politics

จับตา! กมธ.งบฯปี 66 ถก ทอ. อุทธรณ์งบฯซื้อ F-35A

Published

on

ลุ้นได้หรือไม่! พรุ่งนี้ กมธ.งบฯปี 66 ถก ทอ. อุทธรณ์งบฯซื้อ F-35A

ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2566 ที่มี นายวราเทพ รัตนากร รองประธานคณะกมธ.วิสามัญฯ เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาเรื่องที่กองทัพอากาศยื่นอุทธรณ์ขอปรับลดงบประมาณในโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ F-35 A ระยะที่ 1 จำนวน 2 ลำ จากเดิมวงเงิน 738 ล้านบาท เหลือ 369.1 ล้านบาท

ภายหลังคณะอนุกมธ. ครุภัณฑ์และไอซีที ในกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2566 ที่มีนายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานอนุกมธ.ฯ พิจารณาตัดงบประมาณในโครงการทั้งหมด โดยบรรยากาศการประชุมมีกมธ.หลายคนท้วงติงถึงความไม่ชัดเจนในการยื่นอุทธรณ์ของกองทัพอากาศอย่างกว้างขวาง

ทั้งนี้นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะอนุกมธ. ครุภัณฑ์และไอซีที กล่าวว่า ในปีนี้ห้องอนุกมธ.มีรายการใหญ่พิจารณาคือโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ F-35 A ที่อนุกมธ.มติเอกฉันท์ว่าเรื่องนี้ยังไม่มีความจำเป็นตั้งงบประมาณ ขอให้ไปตั้งงบประมาณในปีหน้าก็ยังทัน ด้วยเหตุผลว่าการขอเครื่องบินขับไล่ F-35 A จากทางสหรัฐฯ จำนวน 2 ลำ มูลค่า 7,400 ล้านบาท เป็นเพียงเครื่องบินเปล่าๆ ไม่รวมอาวุธ และเรื่องนี้ยังไม่ผ่านการพิจารณาของสภาคองเกรส

ซึ่งขั้นตอนต่างๆผ่านสภาคองเกรสจะใช้เวลาประมาณ 20 เดือน หากสภาคองเกรสอนุมัติให้ขายค่อยตั้งงบประมาณในปี 2567 ก็ยังทัน เวลาเราจะซื้อเครื่องบินต้องขอราคาก่อน จากนั้นสหรัฐฯจะออกจดหมายให้เรา แต่สุดท้ายการจะขายหรือไม่ขายอยู่ที่สภาฯคองเกรส ซึ่งการจัดซื้อยังไม่มีความจำเป็นที่จะเอาเงินไปกอดไว้ตอนนี้ ดังนั้นรอให้สภาคองเกรสอนุมัติก่อน กองทัพอากาศก็ไม่เสียเวลาและไม่ได้เสียหาย การเอาเงินไปไว้แล้วไม่ได้ใช้ เราควรเอาเงินไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ดีกว่า อีกทั้งกองทัพอากาศยังไม่มีความสามารถในการบริหารงบผูกพันตั้งแต่ปี 64 ได้ ซึ่งแค่เรื่องง่ายๆยังทำไม่ได้ และยังมีเงินคงค้างกอดไว้อยู่ 1,283 ล้านบาท

ด้านนายปวีณ แซ่จึง อดีตส.ส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย ในฐานะกมธ.วิสามัญฯ กล่าวว่า การป้องกันรักษาอธิปไตยต้องมียุทโธปกรณ์ ซึ่งเราผลิตเองไม่ได้ ตนไม่เห็นด้วยที่จะยกเลิกตัดงบประมาณทั้งหมด ไม่ให้มีงบประมาณใดๆทั้งสิ้น เราตั้งงบปีนี้และไปผูกพันปีหน้าได้ หากทางสหรัฐฯถามว่าท่านเตรียมการหรือยัง แต่เรายังไม่ได้ตั้งบประมาณอะไรเลย การซื้อยุทโธปกรณ์ต้องตั้งงบประมาณล่วงหน้า

ส่วนกมธ.จะลงมติเห็นด้วยหรือไม่นั้น เป็นเอกสิทธิ์ของกมธ. หากอนุมัติให้ครึ่งหนึ่งก็ยังดี เพื่อเป็นกำลังใจให้กองทัพ การซื้ออาวุธหรือเครื่องบินหากเราไม่เตรียมการเลย ปี 67 ถามว่าจะทำอะไร หากเขาตอบว่าจะขายให้ เราจะเอาเงินที่ไหนไปดำเนินการ แถมยังมีคนกลุ่มหนึ่งไปให้สัมภาษณ์ว่าจะตัดเงิน ราวกับว่ากมธ.ทั้งหมดต้องปฏิบัติตาม

ขณะที่นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล ในฐานะคณะอนุกมธ. ครุภัณฑ์และไอซีที กล่าวว่า โครงการจัดซื้อจัดหาเครื่องบินขับไล่ F-35 A นั้น เอกสารที่อนุกมธ.ฯ ได้รับคำชี้แจงจากกองทัพอากาศมีบรรทัดเดียวในหน้าสุดท้าย ทำให้อนุกมธ.ฯไม่มีเอกสารอะไรเลย มีเพียงคำพูดปากเปล่า แล้วจะให้เราผ่าน เพราะคำพูดของเสนาธิการทหารอากาศได้อย่างไร

อีกทั้งข้อมูลยังย้อนแย้ง เพราะในสภาฯ ทางรมช.กลาโหมบอกว่าจะได้ใช้เครื่องบินภายใน 2 ปี แต่ผบ.ทอ. บอกว่า 4 ปี ขณะที่ในห้องอนุกมธ.ฯบอกว่า 10 ปี จึงไม่รู้ว่าเราจะได้ใช้เครื่องบิน 2 ลำเมื่อไหร่ ระยะเวลาที่จะได้ก็ไม่ชัดเจน วงเงินทั้งหมดก็ไม่ชัดเจนว่าสรุปแล้วทั้งฝูงบินต้องใช้เงินเท่าไหร่ กองทัพอากาศตอบเราไม่ได้ บอกแค่ว่า 2 ลำ ราคา 7,000 กว่าล้านบาท รวมถึงที่ผ่านมาอดีตผบ.ทอ.บอกว่ากองทัพอากาศยังไม่จำเป็นต้องซื้อเครื่องบินใหม่ เพราะของเก่าพอใช้แน่นอน แต่ผบ.ทอ.คนใหม่กลับบอกว่าจะซื้อเครื่องใหม่ เพราะขาดแคลน ตอนนี้เลยไม่รู้ว่าอะไรสำคัญและมีความจำเป็นแค่ไหน ไม่มีการเปรียบเทียบยี่ห้ออื่น ทุกอย่างมาปากเปล่าหมดเลย

ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กมธ.วิสามัญฯ กล่าวว่า หนังสือขออุทธรณ์ของกองทัพอากาศนั้นมีการขอปรับลดงบประมาณระยะที่ 1 เป็นจำนวน 369.1 ล้านบาทให้กองทัพอากาศยังสามารถดำเนินโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีระยะที่ 1 ในขั้นตอนต่อไป ไม่ได้แปลว่าลดเหลือ 1 ลำใช่หรือไม่ แต่ยังคงเป็น 2 ลำ เพียงแต่ว่าในปี2566 แทนที่จะตั้งประมาณไว้ 738 ล้านบาทก็ตั้งเพียงครึ่งเดียว

และจะต้องเอาในส่วนที่ขาดไปนั้นไปตั้งบวกในปีถัดไปรวม 4 ปีเป็นเงิน 7,882 ล้านบาทใช่หรือไม่ ตอนนี้ในตัวเลขดังกล่าวจะตกลำละ 110 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตนอ่านจากข่าวว่าในเดือนม.ค.ปี 2566 ทางสภาคองเกรสจะอนุมัติล็อตใหญ่การจัดซื้อเครื่องบินF-35 ประมาณ 3,000 ลำในคราวเดียว ทางกองทัพอากาศไทยจึงไม่อยากตกขบวน แม้เราจะซื้อแค่ 2 ลำ หากเป็นเช่นนี้ถ้าเราคิดว่าเครื่องบินรบดังกล่าวเป็นยุทธภัณฑ์ที่มีความจำเป็น เพื่อใช้ในการสร้างความเข้มแข็งให้กองทัพ ตนไม่อาจก้าวล่วงว่ากองทัพควรจะมีหรือไม่ควรมี เพราะตนไม่ได้เป็นทหาร และตนคิดว่าเขาคงจะมีการวิเคราะห์พอสมควร ไม่รู้เหตุผลอะไรมากกว่านั้น

ตอนนี้ในกรณีแบบนี้ส่วนตัวคิดว่าในกรณีที่เขาขอมา และพยายามไม่ให้เป็นภาระต่องบประมาณในปี 2566 ก็คือว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรจะไปสนับสนุน ไม่มีลุงจากป่าไหนมาติดต่อตน เพราะตนอภิปรายจากหลักเหตุผลที่คิดว่ามีความจำเป็น แม้ว่าปกติแล้วตนจะอภิปรายแย้งกองทัพตลอดเวลาในหลายเรื่อง แต่เรื่องนี้ตนคิดว่ายังจำเป็นต้องให้เขา

ขณะที่นายสรวุฒิ กล่าวว่า เครื่องบินขับไล่ F-35 A เป็นเครื่องบินที่นั่งเดียว กว่าจะให้นักบินขึ้นไปทำการบินได้ต้องใช้ชั่วโมงบินต้องสูง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเมื่อขึ้นบินแล้วจะไม่ตก ดังนั้นสิ่งที่จะนำมาพิจารณาประกอบคือระบบการฝึกบิน เพื่อจำลองเหตุการณ์ต่างๆว่านักบินมีขีดดความสามารถทำได้หรือไม่ เครื่องบินขับไล่ F-35 A ทางกมธ.ไม่ปฏิเสธว่าเป็นเครื่องบินที่ทันสมัยล้ำยุค และดีที่สุดเท่าที่เราจัดหาได้ เป็นเครื่องบินเจน 5 ซึ่งเราไม่ปฏิเสธความจำเป็น แต่ด้วยข้อจำกัดงบประมาณประเทศ เราไม่สามารถจัดหาพร้อมกันทีเดียวได้มากๆ เพราะเราไม่ใช่ประเทศร่ำรวย เหมือนกับประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์

อย่างกรณีเมียนมา ถ้าเราไม่มีเครื่องบินF-16 ตนคิดว่าเมียนมาก็จะไม่เกรงใจเรา สามารถรุกล้ำเข้ามาได้ทั้งซ้ายและขวา เครื่องบินเจน 5 นอกจากเครื่องบินF-35 ยังมีเครื่องบินF-22 ส่วนจีนมีเครื่องบินJC-20 ขณะที่รัสเซียมีเครื่องบิน SU 50 และ SU 75 เป็นเครื่องที่ล้ำยุด แค่หมวกนักบิน 1 ใบ ราคา 10 กว่าล้านบาท และต้องตัดแบบคนต่อคน ส่วนที่สอบถามว่าอาวุธจะใช้อะไรนั้น จะเป็นระบบ Cloud หากเทียบกับเครื่องบินสมัยเก่าถือว่าคุ้มค่า แต่ความเสี่ยงที่ได้มาถ้าเราไปผูกกับเทคโนโลยีตะวันตกมากเกินไป วันหนึ่งถ้าความสัมพันธ์ไม่เหมือนเดิม เขาเกิดล็อค Cloud ตัวนี้ขึ้นมาเราก็มีปัญหา เครื่องบินก็จอดเฉยๆ แต่ตรงนี้ไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะว่าเราเป็นพันธมิตรค่ายตะวันตกมานาน เครื่องบินชั้นนำระดับสูงเราก็จัดหามาจากค่ายตะวันตกทั้งนั้น

อย่างไรก็ตามขอให้กมธ.ใช้ดุลยพินิจในการปรับลดหรือไม่ปรับลด สิ่งที่ตนอยากบอกคือปีที่แล้วหลายคนในห้องนี้ยังพูดว่าสมัยนี้หรือจะมีสงคราม เราก็ได้เห็นแล้วในยุโรปคือปัญหารัสเซีย-ยูเครน ดังนั้นความเสี่ยงของประเทศไทยมีตลอดเวลา ตอนนี้เรามีเครื่องบินประมาณ 60-70 ลำที่พร้อมบินและทำการรบ แต่ในปี 2575 กำลังหลักเหล่านั้นต้องถูกทดแทนตามวงรอบ และต้องปลดระวางไป ซึ่งจะเหลือเครื่องบินที่ใช้บินได้จริง 20 กว่าลำ ขณะที่เวียดนามมีเครื่องบิน SU 30 ที่มีความสูสีเครื่องบินF-35 มีจำนวน 34 ลำ

“หากเราจัดซื้อเครื่องบิน F-35 ครั้งนี้จะสามารถใช้งานได้ไปอีก 40-50 ปี และเราสามารถใช้ระบบอาวุธได้ร่วมกับเครื่องบินF-16 ทั้งนี้เครื่องบิน F-35 สามารถทดแทนเครื่องบินได้ 3-4 เครื่อง ทั้งเครื่องบินรบโจมตีอัลฟ่าเจ็ท เครื่องบินขับไล่กรินเพน เครื่องบินขับไล่ F-5 ส่วนที่ถามว่าวันนี้เราจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องให้งบประมาณไปก่อน ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่เราต้องล้ำหน้าคน มาวันนี้เราต้องตัดสินใจว่าเราจะเชื่อถือกองทัพอากาศหรือไม่ว่าถ้าไม่ให้งบประมาณไปเลยเราจะได้ LOA หรือไม่ กองทัพอากาศให้ข้อมูลว่าปี 2527 เราเคยมีการขอจัดซื้อเครื่องบินF-18

แต่สุดท้ายซื้อไม่ได้เพราะราคาแพงไป จึงได้เครื่องบิน F- 16 มา 1 ฝูง จำนวน 18 ลำ คำถามสำคัญคือถ้าเราไม่ให้อะไรเลยถือเป็นการผูกมัดหรือไม่ พรุ่งนี้เป็นคำถามสำคัญว่าประเทศเราจะมีดุลอำนาจอย่างไร และเครื่องบิน F-35 จำนวน 2 ลำ ผมคิดว่าน้อยมากจริงๆ แต่ภาวะประเทศเราเป็นแบบนี้ สิ่งที่อยากฝากกมธ.ช่วยตัดสินใจคือถ้าสมมติว่ากองทัพอากาศได้เงินก้อนนี้ไปและให้หลักประกันต่อที่ประชุมแห่งนี้ได้ เขาจะไม่เอาเงินส่วนนี้ไปเปลี่ยนแปลงงบประมาณเพื่อทำอย่างอื่น

ซึ่งผมได้สอบถามสำนักงบประมาณแล้วว่าหลักการพูดได้ แต่จะรับปากต้องเป็นสัญญาลูกผู้ชาย ถ้าใครเขามาเป็นส.ส.ครั้งหน้าแล้วกองทัพอากาศจัดซื้อไม่ได้ หรือสหรัฐฯไม่ให้ หรือค่าเงินเปลี่ยนแปลงทำให้ราคาขยับก็ฝากไว้ด้วยว่าถ้าเขาเปลี่ยนแปลงงบประมาณขอให้ติดตามด้วย” นายสรวุฒิ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ตามกระบวนคาดว่ากมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2566 จะมีการโหวตชี้ขาดในวันพรุ่งนี้ (3 ส.ค.)ในเรื่องที่กองทัพอากาศยื่นอุทธรณ์มา

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: