“สดศรี” แนะ กกต. ปรับกฏเหล็ก 180 วัน ให้รมต. ลาออกจากหัวหน้าพรรคสมาชิกพรรค
ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า นางสดศรี สัตยธรรม อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (อดีตกกต.) กล่าวถึงกรณีกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ว่ากฎเหล็ก 180 วัน สร้างความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง จากการที่รัฐมนตรีลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนและมีการหาเสียงไปด้วย แต่พรรคฝ่ายค้านทำไม่ได้นั้น ว่าจริงๆแล้วรัฐบาลต้องมีหน้าที่ไปช่วยเหลือชาวบ้านอยู่แล้ว
ในขณะเดียวกันต้องแฝงการหาเสียงไปด้วยเพื่อช่วยพรรคตัวเอง ส่วนที่มองว่าเป็นการใช้เงินงบประมาณของหลวงในการลงพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา แต่ตนมีไอเดียว่าจริงๆแล้ว กกต.ควรกำหนดไว้เลยว่าในช่วง 180 วันก่อนการเลือกตั้งนี้ ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีควรจะลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคหรือสมาชิกพรรคการเมือง เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบเกิดขึ้น เพราะจะได้ออกไปช่วยประชาชนในฐานะที่เป็นรัฐมนตรี ผู้มีหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชน
ซึ่ง กกต.ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้ แต่ตอนมองว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่าที่จะให้เขาอยู่ในหมวก 2 ใบ ทั้งการเป็นหัวหน้าพรรคหรือสมาชิกพรรค และการเป็นรัฐมนตรี คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ดีกว่าจะให้เขาใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการช่วยผู้สมัครรับเลือกตั้งในพรรคตัวเอง ทั้งนี้ถึงแม้การที่รัฐมนตรีออกไปช่วยหาเสียงจะสามารถทำได้นอกเวลาราชการ แต่สำหรับรัฐมนตรีที่มีหน้าที่กำกับดูแลเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้จะบอกให้เขาไปหลังเวลาราชการก็คงไปไม่ได้ เพราะเขาออกไปทำงานราชการ
“คงจะเป็นเรื่องดี ถ้ากกต.ปรับปรุงระเบียบที่วางไว้ จะเกิดการไม่ได้เปรียบเสียเปรียบกัน ในขณะเดียวกันจะไม่เกิดปัญหาเรื่องการร้องเรียนว่าบุคคลนั้นเป็นรัฐมนตรีแล้วยังเอาเงินของหลวงไปใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งด้วย ในการออกไปช่วยเหลือชาวบ้านในขณะเกิดอุทกภัย วาตภัย ต่างๆ” อดีต กกต.กล่าว
ทางด้าน นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีการแสดงความเห็นว่าระเบียบ กกต.ว่าด้วยการหาเสียงไม่ให้ความเท่าเทียมกันในการหาเสียง หรือรอนสิทธิในการช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนนั้น ว่าความคิดเห็นดังกล่าวยังมีความคลาดเคลื่อนจากข้อกฎหมายอยู่มาก การที่ กกต.ออกระเบียบนี้เพื่อความเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่มีการหาเสียงเลือกตั้งตามที่กฎหมายกำหนด เพราะโทษตามกฎหมายกำหนด
นอกจากกฎหมายเลือกตั้งที่มีโทษใบเหลือง ใบแดง ใบดำ ใบส้ม หรือยุบพรรคการเมือง ชดใช้ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่แล้ว ยังมีโทษทางอาญาด้วย ซึ่งระเบียบ กกต.ว่าด้วยการหาเสียงที่ออกมาไม่มีสภาพบังคับตามกฎหมาย เป็นเพียงการอธิบายกฎหมายว่าสิ่งใหนทำได้สิ่งใหนทำไม่ได้ตามกฎหมายที่กำหนด
กกต.จะไปกำหนดความผิดหรือโทษเองไม่ได้ เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา และตัวอย่างที่ยกขึ้นมาก็เป็นตัวอย่างที่ได้จากคำพิพากษาของศาล และหนังสือตอบข้อหารือของพรรคการเมือง หรือผู้สมัครรับเลือกตั้ง เช่น ความผิดเกี่ยวกับให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด การใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ หรือการติดป้ายประกาศ หรือการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์
“เรื่องเหล่านี้เป็นข้อห้ามอยู่ในกฎหมาย ซึ่งกกต.ไม่ได้เป็นผู้กำหนดขึ้นเอง กกต.เป็นเพียงผู้นำนำมารวมและอธิบายไว้ในระเบียบให้พรรคการเมืองหรือผู้สมัครได้ศึกษาอย่างสะดวกรวดเร็ว”
นายแสวง ยังกล่าวว่าการหาเสียงและการทำหน้าที่ต้องแยกออกจากกัน การหาเสียง ไม่ว่าผู้ใดจะเป็นรัฐมนตรี ส.ส หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ต้องหาเสียงภายใต้กฎหมายเลือกตั้งอย่างเสมอภาคกัน เช่น ส.ส. หรือ รัฐมนตรี ใช้เงินหรือทรัพย์สินส่วนตัวให้เงินไม่ได้เช่นเดียวกัน เป็นต้น
ส่วนการทำหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกตำแหน่ง เช่น รัฐมนตรี หรือ ส.ส. ก็ทำหน้าตามกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ตามปกติ กกต.ไม่อาจไปก้าวล่วงการทำหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นใคร ถ้าทำตามกฎหมายย่อมได้รับความคุ้มครอง เว้นแต่การใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ และระเบียบนี้ใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 62 ทุกอย่างเป็นไปตามหลักการเดิม คำอธิบายเดิม เพียงแต่ระยะเวลาใช้บังคับยาวนานขึ้นคือ 180 วัน
โดยระยะเวลา 180 วัน กกต.ไม่ได้เป็นผู้กำหนด แต่เป็นกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภา กกต.เป็นเพียงผู้ปฏิบัติตามกฎหมายเท่านั้นหากจะให้เวลาใช้บังคับในการหาเสียงน้อยลง ต้องแก้กฎหมาย และต้องแก้โดยรัฐสภา ไม่ใช่ กกต. แต่ที่กกต.แจ้งและดำเนินการก็เพื่อความเรียบร้อย และความหวังดีกับผู้มีส่วนที่เกี่ยวข้อง เพราะหากมีการกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย หากมีผู้นำมาร้องเรียน ร้องคัดค้านภายหลัง ผลเสียก็จะเกิดแก่พรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งเอง เช่น ถูกเพิกถอนสิทธิรับสมัคร 1 ปี (ใบส้ม) หรือ ตลอดชีวิต(ใบดำ) เลือกตั้งใหม่ (ใบเหลือง) เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง(ใบแดง) ชดใช้ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ หรือยุบพรรคการเมืองแล้วแต่กรณี
#เพื่อไม่พลาดข่าวสาร เรื่องราวสำคัญ อย่าลืมกดติดตามพวกเรา TOJO NEWS