อาจารย์อุ๋ย ชี้ ปริศนาคดีแตงโม ตอกย้ำต้องปฏิรูปตำรวจ แยกฝ่ายสอบสวนเป็นหน่วยงานอิสระ ให้อัยการมีอำนาจร่วมสอบสวน
ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสเฟซบุ๊กแสดงความเห็นว่า “จากกรณีคดีการเสียชีวิตของคุณภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ หรือแตงโม นักแสดงชื่อดัง ซึ่งมีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตถึงสาเหตุของการเสียชีวิต ว่าน่าจะไม่ใช่เกิดจากอุบัติเหตุ เพราะมีข้อเคลือบแคลงสงสัยหลายอย่างในการสอบสวน นั้น
รัฐธรรมนูญปี 2560 หมวด 16 เรื่องการปฏิรูปประเทศ มาตรา 258 (ง) ด้านกระบวนการยุติธรรม กำหนดให้ต้องมีการปฏิรูปสร้างให้ประชาชนต้องได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า สร้างกลไกการบังคับใช้กฎหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคม รวมทั้งปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญาให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการอย่างเหมาะสม เป็นต้น
ซึ่งในปัจจุบันทั้งอำนาจการสืบสวน ตรวจตรา แจ้งข้อหา จับกุม และสอบสวน อยู่ในบุคคลคนเดียวกันคือตำรวจ เป็นอำนาจเบ็ดเสร็จ ต่างกับในประเทศที่เจริญแล้วหลายประเทศ ที่ตำรวจจะทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมเป็นหลัก มีความชำนาญในการใช้ไหวพริบ สัญชาตญาณ การจดจำและใช้อาวุธต่อสู้กับคนร้ายและป้องกันตัว ส่วนการสอบสวนทำแค่การสอบปากคำเบื้องต้นเท่านั้น ส่วนการสอบสวนหลักในเนื้อหาของคดีต้องกระทำโดยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในตัวบทกฎหมาย และความสามารถในการค้นหา รวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งเป็นทักษะคนละแขนงกันเลย
ดังนั้นเราต้องแยกอำนาจสอบสวนเป็นอิสระ ไม่ให้ตกอยู่ใต้อำนาจบังคับบัญชาของใคร เพราะถ้าผู้กำกับหรือผู้บังคับบัญชารวบอำนาจไว้หมดทั้งการสอบสวน การดำเนินคดี และการจับกุม การสอบสวนก็จะไม่มีความเป็นอิสระ หรือที่มักเรียกกันว่ามีการตั้งธงไว้แล้ว
โดยส่วนตัวผมเห็นว่า ต้องแยกงานสอบสวนออกมาจากงานของตำรวจ โดยแยกออกมาจากองค์กรของตำรวจเลยเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างอิสระตามข้อเท็จจริงและกฎหมาย โดยพนักงานสอบสวนในหน่วยงานที่แยกออกมานี้ ต้องเป็นผู้มีคุณวุฒิปริญญาด้านกฎหมายและเนติบัณฑิต และต้องไม่มีชั้นยศ เพราะไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยศหรือหัวโขนไปเบ่งกับใคร ให้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐปกติ มีแต่ตำแหน่ง เช่น หัวหน้าฝ่าย หัวหน้าแผนก หัวหน้ากอง ฯลฯ เป็นต้น และพิจารณาความดีความชอบด้วยระบบคุณธรรม (merit system) อย่างแท้จริง คือ ผลงานในการไขคดีให้เกิดความกระจ่าง เพราะความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว
นอกจากนี้ ควรให้ฝ่ายปกครองและอัยการเข้าร่วมตรวจสอบพยานหลักฐานในคดีอาญาร่วมกับพนักงานสอบสวนและตำรวจทันที ณ ที่เกิดเหตุ โดยต้องให้อัยการมีหน้าที่เข้าตรวจสอบและดำเนินการสอบสวนได้เหมือนประเทศที่เจริญแล้ว (แบบในซีรีย์ที่เราเคยดู ๆ กัน) ซึ่ง ป. วิอาญาปัจจุบันอัยการมีเพียงอำนาจสั่งให้ตำรวจดำเนินการสอบสวนตามมาตรา 140 ซึ่งเป็นการสั่งหลังจากตำรวจทำสำนวนเสร็จแล้วแล้ว กล่าวคืออัยการเห็นจะแต่เอกสารที่พนักงานสอบสวน (ซึ่งก็อาจเป็นทีมเดียวกับตำรวจชุดจับกุมนั่นแหละ) ชงมาแล้วเท่านั้น ซึ่งอัยการไม่มีทางรู้เลยว่าสำนวนนั้นจะถูกต้องตรงตามเหตุการณ์จริงแค่ไหน ผมจึงอยากฝากไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องให้ถอดบทเรียนจากคดีของคุณแตงโม ปรับปรุงระบบการสอบสวนของไทยเราให้มีมาตรฐาน เชื่อถือได้เหมือนสากลโลกเขาเสียที ด้วยความปรารถนาดี
#เพื่อไม่พลาดข่าวสารดีๆ อย่าลืมกดติดตามพวกเรา TOJO NEWS