หมอโอ๋ ชี้ เด็กเติบโตได้ โดยไม่ต้องอาศัยความรุนแรง หลังมี สส.อภิปรายได้ดีเพราะถูก โดยลืมมองแง่มุมอื่น
ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดี หรือเจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า
กฏหมายไม่ตีเด็ก
ในฐานะกรรมาธิการ วันนี้หมอได้มีโอกาสชี้แจงต่อสภาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เรียกย่อๆว่า #กฏหมายไม่ตีเด็ก ซึ่งสภาได้โหวตเห็นชอบรับในหลักการไปแล้วถึง 401 เสียง วันนี้เป็นวาระที่ 2 ที่จะแก้ไขในเชิงถ้อยคำ (ซึ่งกฏหมายนี้ไม่ใช่กฏหมายอาญา เพราะเรามี พรบ.คุ้มครองเด็กอยู่แล้ว เดี๋ยวจะมาเขียนถึงอีกทีนะคะ)
อยากบันทึกสิ่งที่ได้รับรู้ในวันนี้…
สส.ฝั่งหนึ่งหลายคนลุกขึ้นพูดว่า
“ผมโตมาเป็นผู้เป็นคนได้ดีแบบนี้ มาเป็นส.ส. ได้แบบนี้ ก็เพราะไม้เรียวของพ่อแม่“
“ตอนเด็กๆ ผมเคยถูกตีหน้าเสาธง
ผมจึงมาเป็นส.ส. ได้อย่างทุกวันนี้”
”เรามีกฎหมายไม่ให้ครูตีเด็กนักเรียน
จนตอนนี้ดูสิ ผลการเรียนของเด็กไทยตกต่ำลงมาก”
“พ่อแม่ทุกคนรักลูก ลูกคือเทวดาของพ่อแม่ ไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากทำร้ายลูก แต่เราก็ตีลูกด้วยความรัก ไม่งั้นวันนึงเกิดลูกลุกขึ้นมาตีเรา แล้วเราก็ตีลูกไม่ได้หรอ“
”เรากำลังเอาวัฒนธรรมตะวันตก มาใช้กับวัฒนธรรมตะวันออก ซึ่งการตีลูกเป็นการสั่งสอนลูกที่เป็นปกติของคนไทย เราจะตัดเสื้อตัวเดียวมาใส่ให้คนทั้งโลกไม่ได้“
“การที่กรรมาธิการไปแก้ไข มาตรา 3 ความว่าการทำโทษบุตรต้องไม่เข้าข่ายการลดทอนศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์… ผมไม่อยากให้ลูกเป็นลูกบังเกิดเกล้า“
“ผมจำเป็นต้องคว่ำกฎหมายฉบับนี้ ผมอยากให้สังคมไทย เป็นสังคมไทยที่ไม่เอาสังคมต่างประเทศมาใช้ มีพ่อ มีแม่ มีลูก มีสั่งสอนกันได้”
“มีเรื่องปากท้องของประชาชนให้ทำต้องมากมาย ทำไมเราต้องมาทำเรื่องเล็กๆน้อยๆ ที่เป็นเรื่อง sensitive ของสังคมแบบนี้”
สส. อีกฝั่งลุกขึ้นพูดว่า
“คุณอ้าง “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี”
คุณรักลูกน้อยกว่ารักวัวควายเหรอ คุณถึงต้องตีลูก วัวควายเค้ายังให้แค่ผูกไว้”
”เรายังผ่านกฎหมายไม่ทารุณสัตว์ไปอย่างสบายๆ ทำไมเราถึงต้องลังเลที่จะปกป้องสิ่งนี้กับเด็กๆ ที่เค้าไม่มีโอกาสได้ลุกขึ้นพูด“
“การอ้างว่าเราจะตัดเสื้อตัวเดียวใส่กันทั้งโลกไม่ได้ แต่เสื้อตัวนั้นคือเรื่องที่เป็นพื้นฐานที่สุด คือเรื่องของ ”สิทธิมนุษยชน“ ที่เป็นกฎหมายพื้นฐานของทุกประเทศ ไม่มีเด็กคนไหนควรถูกทำร้ายโดยเฉพาะจากคนในครอบครัว”
ในฐานะคนฟัง ก็นั่งมองความคิดทั้งสองฝั่งด้วยความเข้าใจ
สังคมไทยคงต้องถกเถียงกันอีกมากในเรื่องนี้
แค่แปลกใจที่สส. บางท่าน โยงเรื่องคะแนนสอบตกต่ำ ไปกับการไม่ตีเด็กของครู โดยไม่ได้มองถึงปัญหาคุณภาพของหลักสูตรและคุณภาพการศึกษา
หลายท่านโยงเรื่อง “การได้ดี” ไปกับการถูกตี โดยไม่ได้เข้าใจว่าการได้ดี มีมาจากหลายปัจจัย ทั้งความรัก ความเอาใจใส่ การอบรมสั่งสอน ความสามารถ โอกาสที่ได้รับ ฯลฯ และหลายครั้งการ “ได้ดี” ไม่ได้หมายถึงแค่การได้มาเป็นสส. แต่หมายรวมถึงการมีวุฒิภาวะทางความคิดและวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่ดีด้วย
ส่วนตัวแอบผิดหวังที่คนเป็นถึงสส. มองเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก กลายเป็นเรื่องเล็กๆ ไม่สำคัญเหมือนเรื่องปากท้อง นี่เรากำลังพูดเรื่องการพัฒนาทรัพยากรสำคัญของชาติกันอยู่มั้ยนะ?
สุดท้ายกรรมาธิการต้องถอนญัตตินี้ออกไปก่อน เพราะหลังไมค์แจ้งมาว่ามีโอกาสที่จะถูกโหวตคว่ำ
ส่วนตัวเลยตั้งใจจะสร้างความเข้าใจเรื่องนี้ทางสังคมให้มากขึ้นนะคะ
เชื่อว่าเมื่อสังคมขยับความเข้าใจ กฏหมายก็อาจจะง่ายขึ้น เหมือนกฏหมายสมรสเท่าเทียมที่ได้ประกาศใช้แล้วในวันนี้
ติดตามอ่านบทความเรื่อง #ไม่ตีก็ดีได้ ในเพจนี้นะคะ
ว่าจะขอเริ่มจากบทความ “ถูกตีก็ดีมาได้?” แบบที่ท่านสส.อ้างถึงก่อนเลยค่ะ 😅
หมอโอ๋เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน
ผู้เชื่อว่าเด็กๆเติบโตได้ โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง