Connect with us

News

ทร.ยิงอาวุธปล่อยพื้นสู่อากาศ ESSM จากร.ล.ภูมิพลฯ – ร.ล.ตากสิน ถูกเป้าฝึกยิงโดรนอย่างแม่นยำ !!

Published

on

ผบ.ทร. ร่วมสังเกตุการณ์ กองทัพเรือฝึกยิงอาวุธปล่อยพื้นสู่อากาศ ESSM จากเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช และเรือหลวงตากสิน ถูกเป้าฝึกยิงโดรนอย่างแม่นยำ ปิดฉากการฝึกกองทัพเรือประจำปี 2567

ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 พลเรือเอก อะดุง  พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ พร้อมด้วย พลเรือเอก เชิงชาย  ชมเชิงแพทย์ อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ และคณะนายทหารระดับสูงของกองทัพเรือ ร่วมสังเกตการณ์การฝึกยิงอาวุธปล่อยนำวิถี พื้น – สู่ – อากาศ แบบ ESSM (Evolved Sea Sparrow Missile) บนเรือหลวงจักรีนฤเบศร โดยการฝึกยิงอาวุธครั้งนี้ ทำการยิงอาวุธปล่อยนำวิถีจำนวนสองนัดไปยังเป้าโดรน แบบ Banshee ของกรมสรรพาวุธทหารเรือ โดยนัดแรกยิงด้วยลูกฝึกยิงโดรนจากเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช ชนเป้าที่ระยะ 7 ไมล์ และนัดที่สองยิงด้วยลูกจริงจากเรือหลวงตากสิน ชนเป้าที่ระยะ 8.5 ไมล์ โดยการยิงอาวุธนำวิถีถูกเป้าครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่ทำการยิงด้วยลูกจริง โดยอาวุธปล่อยถูกเป้าอย่างแม่นยำ ระบบต่าง ๆ ทำงานอย่างถูกต้องสมบูรณ์ แสดงถึงความพร้อมของกำลังรบทางเรือในการปกป้องอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล


โอกาสนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือได้มอบโอวาทแก่กำลังพลที่เข้าร่วมการฝึก พร้อมทั้งขอบคุณและชื่นชมกำลังพลทุกนาย ที่ได้ทุ่มเทและเตรียมการในทําการยิงจนประสบความสําเร็จในวันนี้ โดยมีใจความสำคัญว่า

“ การฝึกยิง ESSM ได้กําหนดให้มีการฝึกยิงตั้งแต่ปีงบประมาณ 66 ที่ผ่านมา โดยพลเรือเอก เชิงชาย  ชมเชิงแพทย์ อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ ซึ่งท่านก็ได้มาร่วมชมความสําเร็จในวันนี้ด้วย ผมขอขอบคุณท่านที่ได้กําหนดนโยบายและมอบแนวทาง ซึ่งพวกเราร่วมกันดําเนินการต่อเนื่องมาจนเป็นผลสําเร็จ ยิงเข้าเป้าอย่างแม่นยํา ด้วยการดําเนินการโดยกําลังพลและยุทโธปกรณ์ของกองทัพเรือทั้งหมด

สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้จะนําพากองทัพเรือไปสู่ความเป็นมืออาชีพ หรือทหารเรืออาชีพ เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นภาคภูมิใจ และจะทําให้ทะเลไทยมีความมั่นคงสืบไป

สำหรับอาวุธปล่อยฯ แบบ ESSM เป็นอาวุธปล่อยฯ ที่กองทัพเรือได้จัดซื้อมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา โดยติดตั้งในเรือ 3 ลำ คือ เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เรือหลวงนเรศวร เรือหลวงตากสิน มีการนำวิถีแบบ Semi – Active ที่ได้รับการพัฒนามาจากอาวุธปล่อยฯ แบบ RIM – 7 หรือ Sea Sparrow Missile มีความเร็วมากกว่า 3 มัค หรือมากกว่า 3,675 กิโลเมตร/ชั่วโมง ยิงได้ไกลมากกว่า 27.78 กิโลเมตร และยิงได้ที่ความสูง 11 กิโลเมตร ซึ่งการฝึกยิงในครั้งนี้เพื่อทดสอบความพร้อมของระบบการยิงอาวุธปล่อยฯ แบบ ESSM ในด้านองค์บุคคล องค์วัตถุ และองค์ยุทธวิธี รวมทั้งเพื่อเพิ่มพูนทักษะความรู้และประสบการณ์ของกำลังพลในการยิง

จากนั้นในเวลา 17.00 น.  ผู้บัญชาการทหารเรือ พร้อมคณะนายทหารระดับสูงของกองทัพเรือ ได้เข้ารับฟังการแถลงผลและเป็นประธานปิดการฝึกกองทัพเรือประจำปี 2567 ณ หอประชุม กองบัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

โอกาสนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้ให้โอวาทว่า “ขอให้การฝึกครั้งนี้ และที่จะมีขึ้นในทุก ๆ ปี เป็นเครื่องมือในการทดสอบ ปรับแก้ไข สร้างความพัฒนาก้าวหน้า เพื่อให้กองทัพเรือมีความพร้อมเมื่อต้องใช้กำลังจริง และเป็นเครื่องมือที่จะบอกกับประชาชนว่า กองทัพเรือมีความพร้อมที่จะรักษา ความมั่นคงอธิปไตยและผลประโยชน์ ของชาติทางทะเล และประชาชน มีความภูมิใจในความเป็นทหารอาชีพ ของพวกเรา”

การฝึกกองทัพเรือเป็นการบูรณาการการฝึก ด้วยการนำขีดความสามารถในการปฏิบัติการทางเรือสาขาต่าง ๆ และการปฏิบัติหน้าที่ของกรมในส่วนบัญชาการ ส่วนยุทธบริการ และส่วนการศึกษา ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน มาทำการฝึกภายใต้สถานการณ์ฝึกเดียวกันและใช้ทรัพยากรร่วมกัน เพื่อให้ทุกหน่วยสามารถปฏิบัติงานร่วมกันอย่างประสานสอดคล้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งได้กำหนดรูปแบบการฝึกเป็นวงรอบการฝึก 2 ปี ภายใต้สถานการณ์ฝึกเดียวกันแบบต่อเนื่องในการฝึกกองทัพเรือ 65 และ การฝึกกองทัพเรือ 66 โดยการฝึกกองทัพเรือ 67 ในปีนี้เป็นการฝึกในสถานการณ์การป้องกันประเทศด้านตะวันออก มุ่งเน้นการทดสอบการปฏิบัติและการอำนวยการยุทธ์ตามคำสั่งยุทธการในสถานการณ์วิกฤตจนถึงขั้นป้องกันประเทศ การทดสอบแนวทางการใช้กำลังของกองทัพเรือ พ.ศ.2563 การทดสอบการปฏิบัติและการบูรณาการการฝึกระหว่างกองทัพเรือกับศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หรือ ศรชล. เมื่อมีสถานการณ์ความขัดแย้งเกิดขึ้น รวมทั้งการใช้กำลังจากกองทัพบก และกองทัพอากาศเข้ามาสนับสนุน

การฝึกกองทัพเรือ 2567 แบ่งขั้นตอนการฝึกออกเป็นขั้นการฝึกปัญหาที่บังคับการ หรือ CPX (Command Post Exercise) เป็นการฝึกทดสอบกระบวนการวางแผนและการตัดสินใจตามกระบวนการวางแผนทางทหาร และการอำนวยการยุทธ์ตามคำสั่งยุทธการ ตั้งแต่สถานการณ์ในภาวะปกติ สถานการณ์วิกฤติจนถึงขั้นสถานการณ์ความขัดแย้งระดับสูง และการฝึกภาคสนาม/ภาคทะเล หรือ FTX (Field Training Exercise) เป็นการฝึกตามสาขาปฏิบัติการของหน่วยต่าง ๆ เพื่อทดสอบความพร้อมองค์บุคคล องค์วัตถุ และองค์ยุทธวิธีในการปฏิบัติตามกิจที่ได้รับมอบ เพื่อสร้างความคุ้นเคยและประสบการณ์ให้กับกำลังพล รวมทั้งเป็นการทดสอบขีดความสามารถในการปฏิบัติการต่าง ๆ

สำหรับผลสรุปการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2567 สามารถตอบสนองต่อวัตถุประสงค์และนโยบายการฝึกของกองทัพเรือได้ทุกประการ ซึ่งได้ปรากฏผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยผลการฝึกในภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ตั้งแต่ระดับยุทธศาสตร์จนถึงระดับยุทธวิธี และยังเป็นการบูรณาการการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมที่สำคัญตามภารกิจ บทบาทหน้าที่ของกองทัพเรือ โดยเมื่อทำการฝึกเสร็จสิ้นแล้ว จะทำให้หน่วยงานทุกภาคส่วนและประชาชนเชื่อมั่นได้ว่า กำลังรบของกองทัพเรือ จะมีความพร้อมในการปกป้องอธิปไตย รักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ ในยามปกติ โดยให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

#เพื่อไม่พลาดข่าวสารดีๆ อย่าลืมกดติดตามพวกเรา TOJO NEWS

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: