Connect with us

News

เริ่มแล้ว! รร.ยอแซฟพิจิตร รร.เซนต์โยเซฟเพชรบุรี ยก Active Learning พัฒนาครู สู่คุณภาพนักเรียนปั้นชิ้นงานนวัตกรรมได้

Published

on

รร.ยอแซฟพิจิตร และ รร.เซนต์โยเซฟเพชรบุรี เชื่อ Active Learning ครูสามารถพัฒนาจนมีผลงานนวัตกรรมของตนเอง ชี้ หากนำหลักการที่ได้ไปจัดการเรียนการสอนก็จะส่งผลให้นักเรียนสามารถสร้างผลงาน ชิ้นงานนวัตกรรมได้

ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ระหว่าง โรงเรียนยอแซฟพิจิตร กับ พว. และ โรงเรียนเซนต์โยเซฟเพชรบุรี กับ พว.

โดย น.ส.ชนิดา  จันทะโก รองผู้อำนวยการโรงเรียนยอแซฟพิจิตร กล่าวว่า โรงเรียนยอแซฟพิจิตร ได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ในรูปแบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ โดยสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ การที่ พว.ให้ความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรของโรงเรียนให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดความเรียนรู้แบบ Active Learning เนื่องจากบุคลากรบางกลุ่มอาจจะยังมีความเข้าใจไม่ชัดเจน แต่เมื่อได้รับการพัฒนาทั้งหนังสือ คู่มือ และ สื่อเทคโนโลยีสามารถช่วยให้บุคลากรและครูมีความมั่นใจมากขึ้น และสิ่งที่เกิดขึ้น คือ ผู้เรียนได้รับการพัฒนาอย่างมีคุณภาพสอดคล้องกับการพัฒนาในศตวรรษที่ 21

“ปัญหาแรกของทุกโรงเรียน คือ ครูบางส่วน ไม่มีกระบวนการที่ชัดเจนในการสอนแบบ Active Learning แต่เมื่อมีการพัฒนาคุณครูให้เข้าใจกระบวนการสอนและการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่ชัดเจน ทำให้ครูสามารถพัฒนาจนมีผลงานนวัตกรรมของตนเอง ซึ่งเมื่อนำหลักการที่ได้ไปจัดการเรียนการสอนก็จะส่งผลให้นักเรียนสามารถสร้างผลงานหรือชิ้นงานนวัตกรรมได้ ซึ่งถึงแม้อาจจะยังไม่ถึงขั้นเป็น best practice แต่ก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ นำไปใช้ในครอบครัวได้ และเชื่อว่าในอนาคตจะนำไปสู่ชุมชนและท้องถิ่นได้ด้วย”น.ส.ชนิดา กล่าว

น.ส.พรนภา ปรัชญาคุณ ผู้อำนวยการโรงเรียนเซนต์โยเซฟเพชรบุรี กล่าวว่า  โรงเรียนเซนต์โยเซฟเพชรบุรีให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยหวังให้มีการจัดการศึกษาที่ดี จากการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ เพื่อให้เยาวชนที่เข้ามาศึกษาในโรงเรียนของเราทุกคนเติบโตขึ้นมาเป็นพลเมืองที่มีความสามารถ มีกระบวนการคิดขั้นสูง มีทักษะจำเป็นในศตวรรษที่ 21 และมีคุณลักษณะที่ดีติดตัวไปเป็นคนดีของสังคม นำทักษะไปใช้สร้างอาชีพ สร้างงาน พัฒนาคุณภาพชีวิตของตน สังคม และชุมชนให้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ  โดยการจัดการศึกษาให้เกิดผลกับผู้เรียนดังกล่าวต้องอาศัยกระบวนการจัดการเรียนรู้ สื่อและหนังสือเรียนที่มีคุณภาพ ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง สรุปความรู้ได้เอง สร้างทักษะและคุณลักษณะสำคัญจากการทำงานให้ติดตัวเป็นอุปนิสัย ที่พร้อมแสดงออกเป็นสมรรถนะในการปฏิบัติงานในชีวิตจริงที่มีความหมายต่อผู้เรียน

“เราเชื่อมั่นว่า พว.มีองค์ความรู้ในการพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการคิด สื่อและหนังสือเรียนที่มีคุณภาพให้กับสถานศึกษาทุกระดับ ซึ่งโรงเรียนเซนต์โยเซฟเพชรบุรีมีความต้องการที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษา พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา และสร้างเครือข่ายความร่วมมือของชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ เพื่อส่งเสริมศักยภาพครูและของผู้เรียนอย่างทั่วถึง   และตอบสนองการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ รวมถึงตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 โรงเรียนเซนต์โยเซฟเพชรบุรี จึงร่วมกับ พว.จัดทำบันทึกความเข้าใจ ความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ครั้งนี้ขึ้น”  ผอ.โรงเรียนเซนต์โยเซฟเพชรบุรี กล่าว

ด้าน ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ ประธานกรรมการบริหาร พว. กล่าวว่า เป็นนโยบายที่ชัดเจนของกระทรวงศึกษาธิการแล้วว่า จะต้องจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ซึ่งเวลานี้จะต้องขยายผลเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้สอดคล้องกับแนวทางที่ถูกต้องของการเรียนรู้แบบ Active Learning ซึ่งคือ การเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติ โดยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps จะทำให้การเรียนรู้ในรูปแบบ Active Learning พัฒนา ความสามารถในการสร้างความรู้ได้ด้วยตัวเองอย่างครบทุกมิติ และตอบโจทย์เป้าหมายของหลักสูตร คือมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ว่า เด็กจะต้องมีความสามารถในการแสดงออกได้อย่างรอบด้านและครบถ้วน รวมถึงต้องมีความรู้ในระดับหลักการได้

“ขณะนี้ประเทศไทยมีนักเรียนประมาณ 10 ถึง 11 ล้านคน ถ้ากระทรวงศึกษาธิการขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจังคิดว่าภายใน 3 ปี ถ้าทำได้ผลต่ำสุด 30% เด็กไทยในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจะสามารถสร้างนวัตกรรมได้ 3 ล้านนวัตกรรม ซึ่งในทวีปเอเชียยังไม่มีประเทศไหนทำได้ แต่ประเทศไทยจะทำได้ และจะกลายเป็นประเทศชั้นนำของทวีปได้ทันที”ดร.ศักดิ์สินกล่าวและว่า การเรียนรู้แบบ Active Learning เป็นการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ สมองจะบันทึกไว้เป็นความจำระยะยาวเหมือนเล่นกีฬาชนิดใดเป็นแล้วสมองจะบันทึกไว้แล้วไม่มีวันลืม  เช่น ขี่จักรยานเป็นแล้ว ว่ายน้ำเป็นแล้ว ก็ไม่ลืม แล้วก็ไม่ต้องท่องด้วย เป็นหลักการกระบวนการของการเรียนรู้ แบบ Active Learning เรียนรู้แล้วทำได้ตลอดชีวิต

ดร.ศักดิ์สิน กล่าวด้วยว่า ในศตวรรษที่ 21 นี้ นักการศึกษาทั่วโลกพูดเหมือนกันหมดว่าการเรียนรู้ต้องเรียนผ่านกระบวนการหรือผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ โดยการเรียนรู้นั้นจะต้องเป็นความรู้ในระดับความคิดรวบยอดอย่างมีหลักการ ซึ่งจะสามารถนำหลักการนั้นไปเรียนรู้ได้ในทุก ๆ เรื่อง เรียนรู้ในวิชาอื่น ๆ ได้ทั้งหมด และเรียนรู้ในชีวิตจริงได้ รวมถึงไปพัฒนาองค์ความรู้ในการประกอบอาชีพของครอบครัวได้ ซึ่งถือเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่จะเกิดประโยชน์กับนักเรียนอย่างมาก ต่างจากการเรียนรู้รูปแบบเดิมที่เน้นการท่องจำไม่เกิดความรู้ที่แท้จริง

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: