จตุพร เผย ให้เงินขอทาน เท่ากับส่งเสริม ชี้การขอทานในประเทศไทยมีกว่า 5,000 คน มีทั้งรูปแบบของการออกมาขอทานเองและรูปแบบขบวนการ
ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กล่าวถึงกรณีการขอทานในประเทศไทย ที่มีทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ รวมถึงกลุ่มขบวนการขอทาน ว่า ด้วยเหตุที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ทำให้สังคมตั้งคำถามถึงกระทรวง พม. จะทำอย่างไร จึงอยากเสนอให้ทุกฝ่ายร่วมกันทำในมิติเชิงป้องกัน ที่สามารถเริ่มได้จากตัวเราคือ หยุดให้เงินขอทานและขอสร้างความเข้าใจว่าการขอทานผิดกฎหมาย หากส่งเสริมไปให้เงินหรือทำบุญ การขอทานจะไม่หมดไปจากประเทศไทย
นอกจากนี้ ขอให้ตั้งข้อสังเกต หากเห็นคนขอทานให้แจ้งข้อมูลไปที่ สายด่วน 1300 กระทรวง พม. ซึ่งภายใน 24 ชั่วโมงจะมีทีมเคลื่อนที่เร็วลงพื้นที่ทันทีตามข้อสั่งการของนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่กำชับให้ พม. รับผิดชอบหากมีผู้แจ้งมาต้องตอบสนองอย่างเร็ว เพราะหากไปช้า อาจจะมีการเคลื่อนจุดทำให้ไม่เจอตัว
ดังนั้นคนไทยต้องร่วมกันทำมาตรการในเชิงป้องกัน ถึงแม้จะมีคนนั่งขอทาน แต่ถ้าหากเราไม่ให้เงินก็จะไม่ก่อเกิดรายได้ แต่หากจะยังมีคนใจบุญและให้เงิน ก็เสมือนเป็นการส่งเสริมให้คนกระทำผิดกฎหมาย
อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า การขอทานในประเทศไทยมีกว่า 5,000 คน มีทั้งรูปแบบของการออกมาขอทานเองและรูปแบบขบวนการ และนับตั้งแต่มี พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน สามารถช่วยให้คนขอทาน 3,000 คน กลับคืนสู่ครอบครัวได้ ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 1,000 ราย เข้าอยู่ในสถานคุ้มครองที่มีแผนการพัฒนาทักษะอาชีพ เพื่อมุ่งหวังให้คนกลุ่มนี้กลับไปอยู่ในสังคมได้ตามปกติ
นอกจากนี้ได้มีการแยกระหว่างคนขอทานและคนที่แสดงความสามารถพิเศษออกจากกัน ซึ่งจะเห็นว่าสถิติผู้แสดงความสามารถพิเศษที่มีการทดสอบและติดบัตรให้สามารถแสดงได้ในพื้นที่ที่มีการประกาศ มีจำนวนเพิ่มขึ้น ขณะที่ตัวเลขคนขอทานจำนวนลดลง โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 แต่หลังจากช่วงโควิดอาจจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัญหาการตกงาน