รักชนก ตรวจสอบต่อ มูลค่าจริงของตึก SKYY9 และทำไม สนง.ประกันสังคมถึงเลือกตึกนี้
ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า นางสาวรักชนก ศรีนอก สส.กทม. พรรคประชาชน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก พร้อมข้อความระบุว่า
พวกเราแบ่งการตรวจสอบออกเป็นสองประเด็นหลัก
ประเด็นที่ 1.การประเมินมูลค่าจริงของตึก การประเมินมูลค่าหุ้นของบริษัทที่ถือครองตึก และ ข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนอื่น ๆ
ประเด็นที่ 2.กระบวนการตัดสินใจลงทุน กมธ ติดตามงบฯ จึงได้ทำหนังสือขอข้อมูลเพิ่มจากสำนักงานประกันสังคม เรื่องตึก SKYY9 จะได้ชัดว่าทำไม สำนักงานประกันสังคมถึงจงใจเลือกลงทุน ในดีลที่เสี่ยงสูงแต่ตอบแทนต่ำอย่างดีล SKYY9
-ในด้านการประเมินมูลค่าของตึกและมูลค่าหุ้นบริษัทที่ถือครองตึก กมธ ได้ขอรายงานการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน Prime Asset Private Equity Trust หรือ ตึก SKYY9 ที่กองทุนประกันสังคมลงทุน ของผู้ประเมินอิสระที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงาน ก.ล.ต. จำนวน 2 ราย และรายงานที่ปรึกษาทางการเงินอิสระที่ประเมินมูลค่าหุ้นอีก 1 ราย
จะได้เห็นวิธีการประเมิน ว่าประเมินกันท่าไหน ผู้บริหารกองทุนประกันสังคมมั่นอกมั่นใจจนเอามาอ้างว่า เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าแล้วเพราะซื้อต่ำกว่าราคาประเมิน
จะได้เห็นกันชัด ๆ ไปเลย ว่าสมมุติฐานแบบไหน ที่ผู้ประเมินอิสระใช้ในการคำนวนมูลค่าที่แสนจะโอเวอร์แบบนี้ ที่ย้อนแย้งกับสิ่งที่ ผู้เชี่ยวชาญประเมินทั้งในด้าน ต้นทุน (Cost Approach) และ รายได้ (Income Approach) ที่หลากหลายผู้เชี่ยวชาญได้ประเมินไว้ รวมไปถึง ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ (ที่พรุ่งนี้ก็ไม่ยอมมาชี้แจง) ทำการประเมินมูลค่าหุ้นของบริษัท AGRE101 ด้วยวิธีมูลค่าปัจจุบันสุทธิของกระแสเงินสด (Discounted Cash Flow) ยังไงถึงราคาออกมามากกว่า 7,000 ล้านบาททั้งที่บริษัทมีสินทรัพย์เป็นตึกแค่ตึกเดียว
ทำไม ราคาที่กองทุนประกันสังคมซื้อมันถึงต่างกับต้นทุนอาคารทางบัญชีที่บันทึกไว้เพียง 3,600 ล้านบาท ถึง 2 เท่า สำหรับการซื้ออาคารที่พึ่งรีโนเวทจากการเป็นตึกร้าง และ ยังไม่มีผู้เช่า (หรือ OR 1%) ตอนที่กองทุนประกันสังคมตัดสินใจซื้อ
-ในด้านกระบวนการตัดสินใจลงทุน กมธ ได้ขอบันทึกรายงานประชุมและชวเลข คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาการลงทุนสินทรัพย์นอกตลาด กองทุนประกันสังคม, คณะกรรมการลงทุน (IC) และ คณะกรรมการกองทุนประกันสังคม ในการประชุมพิจารณาอนุมัติการลงทุนใน Prime Asset Private Equity Trust
จะได้เห็นว่า กองทุนประกันสังคม ใช้หลักอะไรมา คาดการณ์และประเมินความเสี่ยง ในตอนนำเสนอคณะอนุกรรมการฯ ก่อนที่ประกันสังคมจะลงทุน
ที่กองทุนประกันสังคมคาดการณ์ทั้งรายได้ อัตราการเช่า (Occupancy Rate) และ ค่าเช่า ไว้ก่อนลงทุน มันใกล้เคียงกับข้อมูลจริงหลังกองทุนประกันสังคมลงทุนไปแล้วแค่ไหนบ้าง
คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาสินทรัพย์นอกตลาด และคณะกรรมการลงทุน (IC) ตอนที่จะตัดสินใจลงทุนในทรัสต์นี้ มีการถกเถียงและให้ความคิดเห็นกันยังไงบ้าง
เมื่อเราเรียบเรียงเนื้อหาจากบันทึกการประชุมแล้วก็จะทราบว่า ผู้ที่ลงนามในใบสั่งซื้อและรับผิดชอบต่อการลงทุนในครั้งนี้หากตรวจสอบแล้วพบว่าไม่โปร่งใส เป็นตึกที่ปั้นมูลค่าและลอยมาเสนอขาดการเปรียบเทียบกับสินทรัพย์อื่น ๆ คือใคร
แต่ไม่ว่าข้อมูลจะเป็นยังไง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแน่ๆแล้ว คือ กองทุนประกันสังคมเลือกลงทุนในตึกที่รีโนเวทจากตึกร้างล้าสมัย แถมยังไม่มีผู้เช่ามาก่อนและลงทุนเองแบบ 100% ซึ่งเป็นการลงทุนที่เสี่ยงสูงมากเกินที่กองทุนแบบประกันสังคมจะเอาเงินของผู้ประกันตนมาเสี่ยงลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงแบบนี้ รวมถึงกระบวนการลงทุนของประกันสังคมที่ขาดความโปร่งใสต้องการการปฏิรูปโดยด่วนเพราะ กองบริหารการลงทุน สำนักงานประกันสังคม ดูแลเงินลงทุนกว่า 2.6 ล้านล้านบาทซึ่งเป็นเงินของผู้ประกันตน ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีช่องทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากกว่าปัจจุบันนี้ ไม่เช่นนั้นความเชื่อมั่นต่อ กองทุนประกันสังคมก็จะค่อย ๆ สลายหายไปเรื่อย ๆ จนหมดไป
#เพื่อไม่พลาดข่าวสารดีๆ อย่าลืมกดติดตามพวกเรา TOJO NEWS