หมอ พบ เยาวชนกลุ่มมหาวิทยาลัย มีความเสี่ยงโรคซึมเศร้า วิตกกังวล และเครียด
ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากผลการประเมินสุขภาพจิตด้วย Mental Health Check In (MHCI) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงปัจจุบัน พบว่า เยาวชนกลุ่มมหาวิทยาลัย (อายุ 19 -24 ปี) จำนวน 26,887 ราย มีความเสี่ยงซึมเศร้าร้อยละ 25.68 และมีความเครียดสูงร้อยละ 19.21
ซึ่งนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีความเฉพาะที่จะเกิดปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และเครียด มีเพิ่มขึ้นตลอดช่วงวัยรุ่น และสูงสุดในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น
และจากการดำเนิน“โครงการคู่เครือข่ายดูแลจิตใจ ก้าวสู่คนไทยคุณภาพ” ของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นมา ได้คัดกรองและดูแลสุขภาพจิตนักศึกษาไปแล้ว จำนวน 23,740 ราย ในจำนวนนี้ไม่พบความเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต จำนวน 18,066 ราย
แต่ทว่าพบผู้มีความเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต จำนวน 5,235 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาที่ต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต (กลุ่มสีเหลือง) จำนวน 1,630 ราย
โดยขณะนี้มีจำนวนนักศึกษาที่ได้รับการดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตจนดีขึ้นแล้ว จำนวน 1,166 ราย อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มนี้พบจำนวนนักศึกษาความเสี่ยงที่จำเป็นต้องส่งต่อให้แพทย์ดูแล (กลุ่มสีแดง) ทั้งสิ้น 439 ราย
ซึ่งขณะนี้สุขภาพจิตดีขึ้นแล้ว จำนวน 232 ราย กระบวนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันจะช่วยทำให้เกิดการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือที่ดีขึ้นคณาจารย์มีระบบในการช่วยเหลือเป็นที่พึ่ง ทำให้ครอบครัวนักศึกษาอุ่นใจยิ่งขึ้น