Connect with us

News

คนกลุ่มไหนบนเครื่องบิน เสี่ยงอันตรายที่สุด!! หากตกหลุมอากาศ

Published

on

อ.เจษฎา ให้ความรู้กรณีการตกหลุมอากาศ แนะนำ ทำอย่างไรผู้โดยสารจะปลอดภัย

ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า

“เครื่องบิน ตกหลุมอากาศ เกิดขึ้นได้อย่างไร ?”

มาเก็บตกความรู้ เกี่ยวกับการที่เครื่องบินสิงคโปร์ SQ321 ต้องลงฉุกเฉินที่กรุงเทพฯ เนื่องจากเจอสภาพอากาศแปรปรวนรุนแรง ตกหลุมอากาศ จนมีผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต ซึ่งถือว่าเป็นอุบัติเหตุทางการบิน ที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในรอบ 30 ปี

การตกหลุมอากาศ คืออะไร ?

-การตกหลุมอากาศนั้น เป็นผลจากการเคลื่อนที่ของกระแสลม ที่แปรปรวน ยุ่งเหยิงวุ่นวาย และไม่อาจคาดเดาได้

-เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากพายุ ภูเขา แนวปะทะอากาศ และกระแสลมแรง เช่น กระแสลมกรด ( jet stream)

-อากาศที่แปรปรวน จนเป็นหลุมอากาศนั้น มักจะสังเกตไม่เห็น โดยเฉพาะในกรณีที่เรียกว่า “clear air turbulence” ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของความเร็วลม อุณหภูมิอากาศ หรือแรงดันอากาศ ในระยะทางอันสั้น … หลุมอากาศแบบนี้จะหลีกเลี่ยงได้ยาก เนื่องจากไม่สามารถสังเกตเห็นได้โดยตรง ยากที่จะทำนายการเกิด และไม่ปรากฏอยู่บนหน้าจอเรดาร์ตรวจอากาศ

-หลุมอากาศ เกิดขึ้นจาก ลมเฉือน (wind shear) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ของความเร็วและทิศทางของกระแสลม อันเนื่องจากความแตกต่างของอุณหภูมิอากาศ ที่ระดับความสูงแตกต่างกัน … ลมเฉือนนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการบิน โดยเฉพาะเมื่อเกิดขึ้นในระดับเพดานบินที่ค่อนข้างต่ำ

-สำหร้บกรณีการตกหลุมอากาศอย่างรุนแรง ของเครื่อง SQ321 นี้ เป็นไปได้ว่า เกิดจากการมีพายุฝน พายุฟ้าผ่า ก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ใกล้กับเส้นทางการบินของ SQ321

-การก่อตัวของพายุฝนฟ้าคะนอง มักจะทำให้เกิดการเคลื่อนที่ขึ้นของมวลอากาศอย่างรุนแรงและรวดเร็ว บางครั้งอาจเร็วถึง 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และอาจทำให้นักบินแทบไม่มีเวลาที่จะรับมือได้ทัน ถ้ามันเกิดขึ้นตรงหน้าของเครื่องบิน

-เป็นไปได้ว่า เครื่อง SQ321 เจอกับสถานการณ์เช่นนี้ จึงทำให้เครื่องโดนฉุดดึงขึ้น และทำให้เปลี่ยนระดับเพดานบินอย่างแรง ในช่วงเวลาอันสั้น

การบาดเจ็บจากการตกหลุมอากาศนั้นเกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน ?

-มากกว่า 1 ใน 3 ของอุบัติเหตที่เกิดขึ้นกับเครื่องบินโดยสารในประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 ถึง 2018 นั้น เกี่ยวข้องกับการตกหลุมอากาศ โดยที่ส่วนใหญ่ มักจะทำให้มีคนบาดเจ็บ แต่ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายขึ้นกับเครื่องบิน

-ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009-2022 มีผู้โดยสารและลูกเรือที่ได้รับบาดเจ็บ จากการตกหลุมอากาศ ระหว่างเดินทางในสหรัฐอเมริกา รวมมากถึง 163 คน (เป็นลูกเรือ 129 คน และผู้โดยสาร 34 คน)

-ผู้บาดเจ็บมักจะต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล มากกว่า 48 ชั่วโมง (2 วัน) อันเนื่องจากกระดูกหัก มีเลือดออกภายในอย่างรุนแรง และเกิดการบาดเจ็บที่อวัยวะภายใน

-ส่วนการเสียชีวิต จากการตกหลุมอากาศเวลาโดยสารเครื่องบินนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นยาก โดยไม่พบแม้แต่รายเดียวระหว่างปี 2009 ถึง 2022 ในสหรัฐอเมริกา

ทำอย่างไรผู้โดยสารถึงจะปลอดภัย ?

-จากการศึกษา ผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการตกหลุมอากาศนั้น พบว่า ส่วนใหญ่กำลังยืนต่อคิวรอเข้าห้องน้ำ หรือกำลังเดินไปเข้าห้องน้ำ

-และกลุ่มถัดมา คือ กลุ่มที่นั่งอยู่ตรงที่นั่ง โดยไม่ได้ใส่เข็มขัดนิรภัย

-ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ผู้โดยสารต้องคาดเข็มขัดนิรภัยเสมอตลอดเวลา

ภาวะโลกร้อนทำให้เกิดการตกหลุมอากาศเพิ่มขึ้นหรือไม่ ?

-มีงานวิจัยตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2023 โดย ดร. Paul Williams ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ของชั้นบรรยากาศ แห่งมหาวิทยาลัย the University of Reading ระบุว่า มีการเกิดหลุมอากาศ แบบ clear air turbulence อย่างรุนแรง เหนือมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือ เพิ่มมาขึ้นกว่า 50% จากปี 1979 มาถึงปี 2020

-การเพิ่มขึ้นของ clear air turbulence นี้ น่าจะเกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป ภาวะโลกร้อน ที่ไปเปลี่ยนแปลงกระแสลมกรด ( jet stream)

-กระแสลมกรด Jet stream เป็นกระแสลมแรงที่พุ่งเป็นแนวยาว และเกิดขึ้นที่ระดับความสูงมากๆ ซึ่งมักจะอยู่ตรงระดับความสูงที่สายการบินพาณิชย์ใช้บินเดินทาง เพราะมันช่วยให้เครื่องบินมีประสิทธิภาพในการบินที่ดีขึ้น

-อุณหภูมิอากาศนั้น เพิ่มขึ้นในอัตราเร็วที่แตกต่างกัน ตามระยะห่างจากพื้นดิน ดังนั้น อากาศที่อุ่นไม่เท่ากันนี้ นำไปสู่การเกิดกระแสลมแปรปรวน หลุมอากาศได้ เมื่อกระแสลมเคลื่อนที่ในความเร็วที่ต่างกัน

-คาดการณ์กันว่า ในอนาคต การเกิดภาวะโลกร้อน จะทำให้หลุมอากาศแบบ clear air turbulence มีเพิ่มขึ้น กว่า 2-3 เท่าตัว

-แต่ผลการศึกษาดังกล่าวนั้น (ปี 2023) ไม่ได้เป็นการศึกษาสภาพอากาศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือทะเลอันดามัน ที่เครื่องบิน SQ321 ประสบเหตุตกหลุมอากาศ

-มีการศึกษาในปี 2021 โดยมหาวิทยาลัย the University of Arizona พบว่า ตำแหน่งของกระแสลมกรด ในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือ อาจจะเคลื่อนที่ออกไปจากแนวเดิมตามธรรมชาติของมันไป ในช่วงปี 2060 เป็นต้นไป ถ้าระดับของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงไม่ลดลง .. ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้คนที่อยู่ทั้งสองฝากฝั่งของมหาสมุทรแอตแลนติก

ภาพ และ ข้อมูลจาก https://www.straitstimes.com/singapore/transport/singapore-airlines-incident-what-causes-turbulence-and-is-climate-change-making-it-worse

#เพื่อไม่พลาดข่าวสารดีๆ อย่าลืมกดติดตามพวกเรา TOJO NEWS

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: