Connect with us

News

มฟล. ก้าวทันโลก! ดันการศึกษาสมัยใหม่ จับมือ พว. เปลี่ยนการเรียนรู้แบบ Passive Learning เป็น Active Learning พัฒนาการศึกษาไทย

Published

on

มฟล. ร่วมกับ พว. ชู Active Learning พัฒนาศักยภาพระบบการศึกษาไทย ช่วยเด็กไทยพัฒนา ไม่ต้องท่องตำรา

ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า 22 ก.ย.65 ที่ ห้องประชุม ชั้น 5 สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ มีพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)ทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง(มฟล.) กับ สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ(พว.) โดย รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า

มฟล.เป็นมหาวิทยาลัยรุ่นใหม่เป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งมั่นตามพระปณิธานของสมเด็จย่า ในการปลูกป่าสร้างคน ดูแลสิ่งแวดล้อม และช่วยเหลือประเทศชาติในด้านต่าง ๆ ซึ่งการสร้างคนของ มฟล.ก็ตรงกับงานของ พว.ที่มีจุดมุ่งหมายในการสร้างให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีการศึกษาที่มีมาตรฐานและคุณภาพที่ถึงพร้อม คือพร้อมที่จะทำงานไม่เพียงในประเทศแต่เป็นระดับนานาชาติ ดังนั้นการทำความร่วมมือในวันนี้เชื่อว่าจะช่วยให้การทำงานของทั้งสองสถาบันสามารถดำเนินไปได้อย่างมีคุณภาพและชัดเจน ที่สำคัญจะสามารถร่วมกันสร้างการเรียนรู้สมัยใหม่เพื่อเผยแพร่ออกสู่สังคมอย่างไม่มีข้อจำกัด

“การศึกษาจะสะดุดหยุดยั้งไม่ได้ แม้จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 จะทำให้ทุกอย่างหยุดชะงัก แต่การจัดการศึกษายังต้องเดินต่อไป สามารถเรียนได้ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนอย่างมีคุณภาพ ซึ่งเป็นการตอบโจทย์การศึกษาสมัยใหม่ การทำงานร่วมกับ พว.คือ การสนับสนุนการเรียนรู้ทุกด้าน เพื่อสร้างความพร้อมของผู้เรียนแล้วส่งต่อให้ มฟล. และยังจะร่วมกันผลิตสื่อซึ่งจะเป็นอีกมิติหนึ่งในการช่วยเหลือนักเรียนให้เข้าถึงการเรียนรู้กับความทันสมัยในการศึกษาสมัยใหม่ และเปลี่ยนจากการเรียนรู้แบบ Passive Learning เป็น Active Learning ที่ต้องทำทั้งประเทศ”อธิการบดี มฟล.กล่าว

ด้าน ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ ประธานกรรมการบริหาร พว. ฐานะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่า อนาคตทางการศึกษาของประเทศคงต้องเป็นไปตามบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลก ในศตวรรษที่ 21 มีตัวแปรต่าง ๆ เข้ามามากมาย ทำให้คนต้องมีศักยภาพ โดยเฉพาะด้านการคิดและการปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การดำเนินชีวิตอย่างมีศักยภาพบนตรรกะของการมีเหตุมีผล

ซึ่งการที่คนจะมีความรู้และความคิดรวบยอดแบบมีหลักการได้จะต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบActive Learning เท่านั้น แต่ถ้ายังเป็นการเรียนรู้แบบเดิมเด็กจะไม่สามารถถักทอสร้างความรู้ได้เอง และเมื่อยังไม่สามารถสร้างความรู้ได้เองก็จะไม่สามารถสรุปองค์ความรู้ออกมาเป็นหลักการได้ ทำให้ไม่มีความคิดรวบยอดในด้านใดได้เลย ดังนั้นความคิดรวบยอดจึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะเชื่อมโยงไปสู่หลักการที่จะนำไปสู่การดำเนินชีวิตได้จริง ไปสู่การพัฒนาการทำงานที่มีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้นกระบวนการเรียนรู้จะต้องปรับเปลี่ยน

“ข้อดีของการเรียนรู้แบบ Active Learning คือ เด็กจะเกิดความเข้าใจหลังจากได้คิดเอง ทำเอง ประเมินเองและสรุปเอง ซึ่งจะสัมพันธ์กับการเรียนรู้ของสมอง ที่จะบันทึกเป็นความจำระยะยาว เพราะสมองส่วนความจำระยะยาวจะต้องทำงานควบคู่กับการปฏิบัติ ฉะนั้นถ้าเราให้เด็กเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติสมองของเด็กก็จะพัฒนา เด็กก็จะเข้าใจ จำได้โดยไม่ต้องท่อง ซึ่งการเข้าใจแบบนี้จะเป็นการเข้าใจแบบลึกซึ้ง ทะลุปรุโปร่งและแตกฉานมากกว่าการท่องโดยไม่รู้ความหมาย”ดร.ศักดิ์สิน กล่าว

และว่า สำหรับความร่วมมือกับ มฟล.ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เพราะเป็นที่ทราบดีว่าการขยายผลการพัฒนาทักษะเพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดการเรียนรู้จะต้องขยายไปทั่วประเทศ จึงจำเป็นต้องมีสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่มาช่วยขับเคลื่อนองค์ความรู้ เพื่อร่วมกันสร้างประโยชน์และพัฒนาศักยภาพของเด็กไทยทั้งประเทศ

เพื่อไม่พลาดข่าวสารดีๆ อย่าลืมกดติดตามพวกเรา TOJO NEWS

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: