อาจารย์ธรณ์ เผยความผิดปกติ จากการตายของพะยูน สะท้อนภาวะโลกร้อนกำลังแย่ขึ้นไปอีก
ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยระบุว่า
เรื่องของพะยูน ที่ผมสรุปสถานการณ์มาเล่าให้เพื่อนธรณ์เข้าใจ เผื่อมีประโยชน์ และเวลามีใครถามจะได้ก๊อปปี้โพสต์นี้ไปให้อ่าน (ยาวมากครับ)
ในอดีตพะยูนตายเฉลี่ยเดือนละ 1 ตัว ปัจจุบัน เดือนละ 3.75 ตัว (2566-67) ถือว่าผิดปรกติอย่างมาก
สาเหตุหลักคือโลกร้อนเปลี่ยนแปลงปัจจัยสิ่งแวดล้อมหลายประการ ทำให้หญ้าทะเลลดลงจนวิกฤต
ยังมีสาเหตุจากมนุษย์ในบางพื้นที่ เช่น ขุดลอกร่องน้ำ กักเซาะชายฝั่ง
พะยูนเต็มวัยต้องการหญ้าทะเล 13-16 ไร่ ปกคลุมพื้นที่อย่างน้อย 60% ในการดำรงชีวิตอยู่ให้พอเพียง
ปัจจุบัน หญ้าทะเลที่สมบูรณ์ระดับนั้น แทบไม่มีเหลือในตรัง/กระบี่/สตูล พะยูนจึงต้องตระเวนกินไปเรื่อยๆ จนหลายตัวเข้ามาในภูเก็ต/อ่าวพังงา ในภูเก็ต/อ่าวพังงาก็เริ่มมีปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรมในบางจุด หญ้าระดับ 60% หาแทบไม่ได้ พะยูนต้องแย่งกัน ตัวที่อ่อนแอก็อด/ป่วย/ตาย พะยูนขึ้นเหนือไปต่อไม่ได้ เขตสุดท้ายคือสารสิน เลยจากนั้นเป็นชายฝั่งเปิด ระยะทาง 45 กม. กว่าจะถึงแหล่งหญ้าทะเลที่ทับละมุ ถ้าจำเป็น พะยูนเดินทางได้ 20-30 กม. แต่เธอชอบน้ำนิ่ง พื้นที่เป็นอ่าว มีหญ้ากินเรื่อยๆ โอกาสที่พะยูนจะไปถึงทับละมุจึงยากมาก เมื่อสุดเขตที่นี่ พะยูนอพยพจึงมารวมกันที่ภูเก็ตตะวันออกและอ่าวพังงา ยังคงมีบางส่วนเหลือในตรัง/กระบี่ มีบ้างไปที่สตูล
อาหารที่เหลือน้อยทำให้พะยูนผอม ป่วย อ่อนแอ และตาย ยังมีภัยคุกคามอื่นๆ จากมนุษย์ ที่ชั่วสุดคือล่าเอาเขี้ยว (ต้องเร่งสืบสวนจับกุม โพสต์ขายในโซเชียลยังมีอยู่เลย) ที่เหลือคือสัญจรทางน้ำ ทำประมง ต้องพูดคุยกับพี่น้องแถวนั้น เพราะพวกเขาไม่ได้ทำผิด พะยูนเข้ามาหาเอง ต้องหาทางบริหารจัดการร่วมกัน เมื่อหญ้าทะเลลดลง โดยเฉพาะหญ้าคาทะเล ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลง อาจส่งผลกระทบแบบที่ไม่เคยเจอ เช่น กรณีสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน การเพิ่มขึ้นอย่างมากของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินในแหล่งหญ้าทะเล อาจเชื่อมโยงกับการเจ็บป่วยของพะยูนเมื่อกินสาหร่ายกลุ่มนี้มากเกินไป
สาหร่ายกลุ่มนี้มีอยู่แล้วในแนวหญ้า ทั้งคู่ใช้ธาตุอาหารในน้ำ แต่เมื่อหญ้าทะเลตายเกือบหมด ธาตุอาหารเหลือเฟือ สาหร่ายจึงเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว
พะยูนหรือ “หมูดุด” จะไถกินไปเรื่อย อาจกินสาหร่ายเข้าไปเป็นจำนวนมาก เกิดผลกระทบ เช่น เป็นพิษ (ยังต้องศึกษาต่อ) ตัวอย่างนี้ชี้ให้เห็นว่า เมื่อระบบนิเวศล่ทสลายเพราะผลกระทบจากโลกร้อน ปัญหามันมาไม่สิ้นสุด การเพาะเลี้ยงพะยูน/ผสมพันธุ์/นำไปปล่อย เป็นเรื่องที่ไม่เคยมีใครทำได้ในโลก และไม่คิดว่าจะทำได้ในเวลาไม่กี่ปี สัตว์ที่คล้ายพะยูน มีเลี้ยงในอควอเรี่ยมคือ “มานาตี” ไม่ใช่พะยูน พฤติกรรมต่างกันเยอะมาก หากพะยูนตายด้วยอัตรานี้ เชื่อว่าในอันดามันปีหน้าจะเหลือน้อยกว่า 100 ตัว และจะเหลือน้อยลงเรื่อยๆ การสำรวจพะยูนทำได้ยาก ต้องทำพร้อมกันหลายที่ แต่เท่าที่เจออยู่ตอนนี้ มีหลักฐานเป็นภาพถ่าย มีแค่ไม่เกิน 30 ตัว (คงมีมากกว่านี้ แต่ยังไม่เจอ)
การช่วยพะยูนเป็นกรณีฉุกเฉิน ทุกอย่างลองผิดลองถูก แบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะสั้น (เดี๋ยวนี้-1 ปี)
ให้อาหารเสริมพะยูน เช่น ผักชนิดต่างๆ พะยูนบางตัวเริ่มสนใจมากิน แต่ยังไม่ถึงขั้นสำเร็จเต็มร้อย
ยังมีอุปสรรค เช่น ปลาแย่งกิน หวงถิ่น ไล่พะยูน (ปลาตัวเล็กแต่ก้าวร้าว พะยูนไม่เคยแย่งปลากิน ไม่รู้ทำอย่างไร) การให้อาหารเสริมอาจช่วยได้บางที่บางตัว สมควรทำและขยายผล แต่เป็นการแก้ปัญหาชั่วคราว
ยังมีแนวคิดช่วยพะยูนผอม/ป่วยมาไว้ในพื้นที่ปิด เพื่อให้คุณหมอดูแล ให้อาหารเพียงพอ เช่น มาไว้ในกระชัง
ตอนนี้กรมอุทยาน/คณะประมงกำลังวางแผนร่วมกัน แต่อาจต้องใช้เวลาหลายเดือน/เป็นปี การออกมาตราการต่างๆ เร่งจับคนล่า พูดคุยกับพี่น้อง เป็นเรื่องที่ทำได้เลย และตอนนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งทำ แต่ต้องดูผลที่ออกมาต่อไประยะยาว (1-5 ปี หรือกว่านั้น) เร่งศึกษาหาทางปลูกหญ้าทะเลในทุกรูปแบบ เช่น ชนิดต่างๆ กั้นแปลงต้นพันธุ์ ปลูกในธรรมชาติ ในบ่อ ฯลฯ
หน่วยวิจัยหญ้าทะเลต้านโลกร้อน คณะประมง มก. กำลังทำอยู่ดังที่เล่าให้เพื่อนธรณ์ฟังเป็นประจำ
กรมทะเลและเครือข่ายอื่นๆ พยายามเร่งทำอีกเช่นกัน ตอนนี้เท่าที่ทราบเริ่มมีคอกกั้นแปลงหญ้าที่ตรัง
อัปเกรดความสามารถในการสำรวจ/ช่วยชีวิตพะยูน ตอนนี้หน่วยงานกำลังของบ แต่คงไม่จบในเวลาอันสั้น ตอนนี้ต้องขอแรงอาสาสมัครช่วยกันบินโดรนไปก่อน สร้างเครือข่ายในพื้นที่ ขยายผลให้ทุกคนมีส่วนช่วยสังเกต แจ้งข่าว อนุรักษ์ ฯลฯ ขยายผลประเด็นนี้ไประดับโลก เพราะเกี่ยวกับผลกระทบโลกร้อน ecosystem collapes ความหลากหลายทางชีวภาพล่มสลาย สัตว์หายากกำลังตาย ฯลฯ
COP29 กำลังเน้นเรื่อง loss & damage มีกองทุนเงินมหาศาล มีผู้เชี่ยวชาญ เราสมควรประกาศตนว่าเราโดนเยอะ และขอความช่วยเหลือในส่วนนี้
สรุป
ผมบอกมาตลอดหลายปีว่าการแก้ปัญหาเรื่องโลกร้อนทำลายระบบนิเวศ เป็นเรื่องยากมากๆๆๆ เพราะเราแทบไม่รู้อะไรเลย ต้องเตรียมตัวหลายด้านต้องทำงานหลายอย่าง ปัจจุบันเกิดแล้ว เริ่มพินาศแล้ว แม้จะเศร้าว่าเคยบอกแล้วบอกอีก สุดท้ายก็มาลงเอยอย่างนี้ แต่เราก็ต้องสู้ทุกทางที่ทำได้ ส่งกำลังใจให้ทุกคนทุกหน่วยงานทุกอาสาสมัครที่พยายามทำภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ จนอยากร้องกรี๊ด
พะยูนตายแล้วไง ? พะยูนมีประโยชน์อะไร ?
ตอบคำถามนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่ามา 30-40 ปี ตัดสินใจว่าจะไม่ตอบอีกแล้ว เพราะมุมมองเราอาจไม่เหมือนกัน
มนุษย์มีประโยชน์อะไร ต่อพะยูน ต่อโลก หากเรามี เราค่อยตั้งคำถามเช่นนี้ ไปถามสัตว์อื่นๆ ครับ
#เพื่อไม่พลาดข่าวสารดีๆ อย่าลืมกดติดตามพวกเรา TOJO NEWS