ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว มีผื่นแต่ไม่คัน ต่อมาจะมีเลือดออกตามผิวหนังและอวัยวะ
ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์กอยู่ในตระกูลเดียวกับไวรัสอีโบลา ทำให้เกิดอาการไข้และเลือดออก มีค้างคาวผลไม้เป็นสัตว์รังโรค ถูกตั้งชื่อตามเมืองมาร์บวร์กในเยอรมนีซึ่งเป็นประเทศที่มีการรายงานผู้ป่วยรายแรก
การติดเชื้อในคนเริ่มแรกเป็นผลมาจากการสัมผัสในเหมืองหรือถ้ำที่มีค้างคาวผลไม้อยู่อาศัยเป็นกลุ่มเป็นระยะเวลานาน เมื่อเชื้อถูกแพร่ไปยังคนแล้ว คนนั้นจะสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งที่ออกมาจากร่างกายของผู้ติดเชื้อได้เหมือนกับโรคอีโบลา ทั้งนี้ ไวรัสมาร์บวร์ก ถูกพบในปี พ.ศ.2510
จากการระบาดครั้งแรกในเมืองมาร์บวร์ก และแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี รวมทั้งเมืองเบลเกรด ประเทศเซอร์เบีย ซึ่งขณะนั้นเกี่ยวข้องกับห้องปฏิบัติการที่ใช้ลิงเขียวแอฟริกาที่นำมาจากประเทศยูกันดา หลังจากนั้นพบผู้ป่วยโรคไวรัสมาร์บวร์กเพิ่มประปราย ประเทศที่เคยพบการระบาดของโรค ได้แก่ ประเทศในทวีปแอฟริกา เช่น แองโกลา เคนยา ยูกันดา และคองโก สำหรับทวีปยุโรป พบผู้เสียชีวิตเพียงรายเดียวในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา และอีกหนึ่งรายในสหรัฐอเมริกา หลังจากกลับจากการสำรวจถ้ำในประเทศยูกันดา
นพ.ธเรศ กล่าวว่า จากข้อมูลวันที่ 13 ก.พ. 2566 องค์การอนามัยโลกรายงานพบการระบาดของโรคนี้ที่อิเควทอเรียลกินี ในภูมิภาคตอนกลางของทวีปแอฟริกา ซึ่งได้มีการประกาศให้เป็นโรคระบาดร้ายแรง โดยพบผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อ 25 ราย เสียชีวิต 9 ราย ผู้ป่วยมีอาการไข้ อ่อนเพลีย อาเจียนเป็นเลือด และท้องเสีย
ได้มีการกักกันผู้สัมผัสเสี่ยงสูงประมาณ 200 ราย นอกจากนี้ ยังมีรายงานพบผู้ป่วยสงสัย 2 ราย ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 42 ราย ที่ชุมชนโอลัมเซ (Olamze) บริเวณชายแดนประเทศแคเมอรูน พื้นที่ติดกับอิเควทอเรียลกินี เป็นชาย 1 ราย และหญิง 1 ราย อายุ 16 ปี ซึ่งไม่มีประวัติการเดินทางไปยังอิเควทอเรียลกินี
สำหรับประเทศไทยกำหนดให้โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์กเป็น 1 ใน 13 โรคติดต่ออันตราย ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง แม้ยังไม่เคยมีรายงานผู้ป่วยในประเทศไทยมาก่อน ทั้งนี้ โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์กมีระยะฟักตัวตั้งแต่ 2-21 วัน หลังจากสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อหรือสัตว์นำโรค
ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว มีผื่นแต่ไม่คัน ต่อมาจะมีเลือดออกตามผิวหนังและอวัยวะต่างๆ เช่น อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระดำหรือเป็นเลือด เลือดออกตามจมูก ปาก และช่องคลอด บางรายมีภาวะตับหรืออวัยวะอื่นๆ ล้มเหลว หรือเกิดภาวะช็อกได้ ผู้ป่วยหลายรายมีอาการตกเลือดอย่างรุนแรงภายใน 7 วัน ผู้ป่วยมักเสียชีวิตอย่างรวดเร็วในช่วง 8-9 วันหลังจากมีอาการวันแรก โดยมีรายงานอัตราป่วยตายสูงถึงร้อยละ 24-90 ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันและไม่มียารักษาจำเพาะ แพทย์จะรักษาตามอาการร่วมกับให้สารน้ำหรือเลือดทดแทน
#เพื่อไม่พลาดข่าวสารดีๆ อย่าลืมกดติดตามพวกเรา TOJO NEWS