Connect with us

News

สิริพงศ์ ชี้ การเรียนการสอนแบบ Active learning รู้ทันโลก ภูมิคุ้มกัน รู้เท่าทันมิจฉาชีพด้วยกระบวนการคิดวิเคราะห์

Published

on

สิริพงศ์ เผย ในอดีตที่ผ่านมาเราเห็นคนกินหรูอยู่สบาย ทำให้เกิดความคิดอยากจะได้อยากจะมีเหมือนเขา ก็ต้องสอนให้เด็กเกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์ให้ได้ Active learning  มีกระบวนการคิดวิเคราะห์

ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2567 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติหน้าที่โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการจัดการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการ ว่า จากนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล สานงานต่อ ก่องานใหม่ “เรียนดี มีความสุข” ทุกมิติ เดินหน้า “ปฏิวัติการศึกษา แก้ปัญหาประเทศ” ตามแนวทาง ”จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ย้ำมาโดยตลอดว่า จะต้องปฏิวัติการศึกษาเพื่อยกระดับการศึกษาของประเทศไทย ให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียมในทุกพื้นที่ มีคุณภาพทัดเทียมสากล

และสามารถแข่งขันได้บนเวทีโลก ซึ่งจะแก้ปัญหาประเทศอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตามแนวทางการจัดการเรียนการสอนมีรูปแบบวิธีการที่แตกต่างหลากหลาย โดยรูปแบบ Active Learning  ก็เป็นหนึ่งในแนวทางตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เชื่อว่าจะทำให้เกิดการพัฒนาผู้เรียนได้ตรงจุด

นายสิริพงศ์ กล่าวต่อไปว่า ยอมรับว่าวิธีการเรียนแบบ Active Learning มีการพูดถึงมานานแล้ว และทำมาก่อนรัฐบาลชุดนี้เป็น 10 ปี แต่ในทางปฏิบัติยังทำได้ล่าช้าอยู่ โรงเรียนก็ยังสอนให้เด็กท่องจำอยู่ เป็นการท่องจำเพื่อทำข้อสอบ ไม่ได้เรียนเพื่อตั้งคำถามและหาคำตอบที่จะนำมาซึ่งความเข้าใจในเนื้อหาสาระ และความเข้าใจหรือองค์ความรู้เหล่านั้นก็จะอยู่ติดตัวเด็กได้มากกว่าการท่องจำ ยกตัวอย่างเด็ก ๆ เวลาท่องจำเพื่อไปสอบ พอสอบเสร็จแล้วอีกสองสัปดาห์มีคนมาถามก็จะตอบว่าจำไม่ได้คืนครูไปหมดแล้ว เพราะนั่นคือการเรียนจากการท่องจำไม่ใช่เรียนจากความเข้าใจ ซึ่งในการประชุมผู้บริหาร ศธ.แทบทุกครั้ง พล.ต.อ.เพิ่มพูน มักจะเน้นย้ำเสมอ ว่า การเรียนสมัยก่อนให้เด็กเรียนแบบท่องจำเป็นนกแก้วนกขุนทอง คือ ท่องไปแบบไม่รู้ความหมาย แต่กระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning จะเป็นกระบวนการที่ทำให้เด็กเข้าใจเนื้อหาในการเรียนได้มากกว่า

“รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายสนับสนุนให้มี หนึ่งอำเภอหนึ่งโรงเรียนคุณภาพ เพื่อให้มีโรงเรียนคุณภาพอย่างน้อยหนึ่งโรงในแต่ละอำเภอ เพื่อให้ชุมชนสามารถฝากอนาคตของเด็ก ๆ กับโรงเรียนนั้น ๆ ได้ เป็นการลดภาระผู้เรียนและผู้ปกครองไม่ต้องแห่เข้ามาเรียนในโรงเรียนแข่งขันสูงหรือโรงเรียนขนาดใหญ่ในเมือง ดังนั้นจากนโยบายนี้จะต้องมีการพัฒนาโรงเรียนควบคู่กันไป ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยี หรือ เทคนิคการสอน หรือ โรงเรียนร่วมพัฒนา รวมถึงการพัฒนาครูแม่ข่ายที่จะไปให้ความรู้กับโรงเรียนที่จะร่วมพัฒนาในอำเภอนั้น ๆ

โดยแนวทางของ Active Learning ก็เป็นรูปแบบหนึ่งที่จะต้องนำไปใช้ในโรงเรียนคุณภาพด้วย” นายสิริพงศ์ กล่าวและว่า ตลอด 2-3 เดือนที่ผ่านมาเราได้ทราบแนวทางของ Active Learning จากสื่อเป็นระยะโดยเฉพาะในการอบรมพัฒนาครูต้นแบบภาคกลาง ที่ได้รับการตอบรับและเสียงชื่นชมอย่างดี  ทำให้ต้องมีการขยายผลไปให้ทั่วทุกภาคทั้งประเทศ เพราะความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีสูงมาก โดยประเด็นที่มุ่งหวังในปีต่อไป คือ ต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้การเรียนการสอนแบบ Active Learning ควบคู่ไปกับเทคโนโลยีได้ เพราะเชื่อว่าเป็นแนวทางที่สามารถทำได้และน่าจะต้องทำ

ผู้ช่วย รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า สำหรับปัญหาการรู้เท่าทันก็เป็นหนึ่งในนโยบายที่จะสร้างให้เด็กไทยทันโลก เท่าทันการเปลี่ยนแปลงเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันต่าง ๆ รวมถึงบรรดามิจฉาชีพที่แฝงมาในรูปแบบต่าง ๆ โดยเราจะต้องร่วมกันสร้างเด็กบนฐานความคิดที่มีหลักเหตุและผล คิดว่ามิจฉาชีพส่วนมากเริ่มจากความโลภของคน ในอดีตที่ผ่านมาเราเห็นคนกินหรูอยู่สบาย ทำให้เกิดความคิดอยากจะได้อยากจะมีเหมือนเขา ก็ต้องสอนให้เด็กเกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์ให้ได้ รวมถึงประสบการณ์และบทเรียนที่ถูกต้องก็มีส่วน เราต้องทำให้เด็กได้รับชุดความรู้ที่ถูกต้องให้ได้ก่อน ซึ่งกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning เป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่ครูจะสามารถนำไปใช้ได้  

ส่วนประเด็นการสร้างเด็กเป็นนวัตกร เราไม่ได้หวังว่าเด็กจะต้องผลิตของเหมือนกันหมดทุกคน เพราะเด็กไม่ใช่โรงงานอุตสาหกรรม แต่การเป็นนวัตกรของเด็กต้องเกิดจากกระบวนการได้เรียนรู้ ได้ลองผิด ลองถูก ซึ่งจะต้องได้ลงมือทำจริง ที่สำคัญจะลองถูกอย่างเดียวก็ไม่ได้ แต่การศึกษาของเราที่ผ่านมาให้เด็กได้ลองแต่ถูก ไม่ได้ลองผิด คือ เอาอะไรที่ได้มีการลองแล้วว่าดีมาให้เด็กทำ เช่น การทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่มีการใส่สารA กับสาร B แล้วได้สารC มาให้เด็กทำเลย ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเวลาเรียนมีน้อยก็ได้ แต่จริง ๆ แล้วควรให้เด็กได้มีโอกาสลองทั้งผิดลองทั้งถูก มันถึงจะเกิดกระบวนการเรียนรู้

ดังนั้นในมุมของการเป็นนวัตกรสิ่งที่สำคัญมากกว่าการที่เด็กจะผลิตของได้ เด็กควรผ่านกระบวนการคิดกระบวนการออกแบบ ได้ทดสอบผิดถูก เพื่อจะได้รู้ว่าผลลัพธ์คืออะไร ซึ่งผลลัพธ์อาจจะไม่ถูกก็ได้ ผิดก็ได้ แต่เด็กจะได้รู้ว่ากระบวนการนี้ผิด ซึ่งนั่นคือกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning

#เพื่อไม่พลาดข่าวสารดีๆ อย่าลืมกดติดตามพวกเรา TOJO NEWS

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: