ไผ่ ลิกค์ เปิดเหตุผลการของบฯ พื้นที่กำแพงเพชร อิงจากลักษณะพื้นที่และปัญหา ฝากถึง ไอซ์ รักชนก ลดอคติแล้วมาลงพื้นที่ด้วยกัน
ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า นายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร และเลขาธิการพรรคกล้าธรรม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า
[ลดอคติ แล้วมาทำงานเพื่อประชาชนกันเถอะครับ]
จากกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตุ ของ สส.รักชนก พรรคประชาชนว่า การจัดงบประมาณของกระทรวงเกษตรฯ เป็นการจัดงบประมาณแบบ “ดักดาน ” และแม้จะมีการพาดพิงถึงตัวผมและครอบครัวในเชิงเสียดสี ผมขอไม่ตอบโต้ด้วยอารมณ์ เพราะเชื่อว่าการทำหน้าที่ผู้แทนฯ ควรตั้งอยู่บนเหตุผลและข้อเท็จจริงมากกว่าอคติส่วนบุคคล
ดังนั้น ผมขออนุญาตเรียนพี่น้องประชาชนถึงข้อเท็จจริง จากข้อกล่าวหาเรื่องการจัดงบประมาณแบบ “ดักดาน” และความตั้งใจในการทำงานของผม ในกรณีที่มีการกล่าวหาว่าผมใช้อิทธิพลทางการเมืองดึงงบประมาณมาลงเขตตัวเองมากผิดปกติ เพื่อให้ทุกท่านได้ทราบต่อไป
ผมขอชี้แจงเป็นประเด็นเพื่อให้พี่น้องสบายใจและเข้าใจตรงกันดังนี้ครับ งบประมาณเกี่ยวกับการชลประทาน และการพัฒนาที่ดิน ทั้งเพื่อการเกษตร อุปโภค บริโภค ที่ถูกผลักดันลงมานั้น ไม่ได้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนแต่ในเขตจังหวัดกำแพงเพชรเท่านั้น แต่โครงการต่างๆนี้ จะส่งน้ำไปอีก 3 จังหวัด สุโขทัย จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดพิจิตร โดยเฉพาะในส่วนของพื้นที่ฝั่งตะวันตกของจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเป็นพื้นที่ดอนแล้งน้ำ โครงการปรับปรุงพื้นที่ ฝายกักเก็บน้ำต่างๆ จะเป็นประโยชน์กับประชาชนใน 4 จังหวัด อย่างแท้จริง
ผมเป็น สส.เขตมา 3 สมัย ตั้งแต่ปี 2554 ในพื้นที่ที่แทบจะเรียกว่า “บ้านนอก” ได้เต็มปาก
ผมเป็น สส.บ้านนอกครับ! ต้องทำงานใกล้ชิดกับประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกร และต้องมีการประสานงานไปยังจังหวัดใกล้เคียงในกรณีที่จะผลักดันงบประมาณลงมายังจังหวัด เพื่อให้งบประมาณนั้นเกิดประโยชน์สูงสุดไม่ใช่แค่กำแพงเพชรเพียงจังหวัดเดียว กรณีที่มีการกล่าวหา หรือตั้งขอสังเกตุ เรื่อง “งบกระทรวงเกษตรฯ ปี 2569” แล้วโยงว่า พรรคกล้าธรรมได้งบมาก เพราะมีรัฐมนตรีอยู่ในกระทรวง และมี สส. อยู่ในบางเขตที่ได้งบสูง
[ขออนุญาตอธิบายด้วยข้อมูลและหลักการ เพื่อให้ประชาชนพิจารณาด้วยเหตุผล]
1.งบประมาณไม่ได้โยกย้ายตามใจใคร หรือ ตามใจ สส.ได้การจัดสรรงบประมาณ ต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอนทั้งการเสนอโดยหน่วยงานในพื้นที่ ,พิจารณาโดยสำนักงบประมาณ ผ่านคณะกรรมาธิการงบประมาณ, และสุดท้ายได้รับอนุมัติโดยสภาผู้แทนราษฎร
ส.ส.ไม่สามารถสั่งโยกงบเองได้ตามอำเภอใจ ในประเด็นที่หนึ่ง* ผมว่าเพื่อนสมาชิกที่ตั้งข้อสังเกตุว่า “ดักดาน” น่าจะเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี
2.การที่เขตใดเขตหนึ่งได้งบมาก ไม่ได้แปลว่า “พวกเดียวกัน” หรือ “ดักดาน” แต่สะท้อน “ปัญหาเร่งด่วนในพื้นที่
ยกตัวอย่างจังหวัด:
-กำแพงเพชร มีพื้นที่เกษตร 3.6 ล้านไร่ ได้งบ 1,126 ล้านบาท
-เขต 1 (500,000 ไร่) ได้งบ 497 ล้านบาท – เพราะอยู่ในเขตภัยแล้งหนักซ้ำซาก
-เขต 4 850,000 ไร่ได้งบ 128 ล้านบาท – มีระบบชลประทานรองรับบางส่วนอยู่แล้ว
การจัดงบแบบนี้อิงจาก “ลักษณะภูมิประเทศและปัญหาจริง” ไม่ใช่แค่ขนาดพื้นที่
และการจัดสรรงบประมาณด้านการบริหารจัดการนำยังเป็นการจัดสรรที่ได้ประโยชน์ในอีก 3 กลุ่มจังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร
-พะเยา พื้นที่เกษตร 2 ล้านไร่ ได้งบ 1,280 ล้านบาท
พื้นที่อยู่ในลุ่มน้ำเขตสูง ต้องใช้โครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก งบประมาณจึงสูงกว่าค่าเฉลี่ย
-นครราชสีมา มีพื้นที่ใหญ่สุด (8.91 ล้านไร่) ได้งบ 1,354 ล้านบาท
เทียบแล้ว “งบต่อไร่” ต่ำกว่าหลายจังหวัด เพราะมีบางอำเภอมีระบบพื้นฐานอยู่แล้ว และหน่วยงานเสนอของบน้อยกว่าบางจังหวัดอันนี้ประเด็นที่สอง
-ฉะเชิงเทรา
พื้นที่เกษตร 2.37 ล้านไร่ ได้งบ 1,227 ล้านบาท
-เขต 2 (อรรถกร ศิริลัทธยากร – พรรคกล้าธรรม – 500,000 ไร่) ได้งบ 664 ล้านบาท
เขต 1 (เพื่อไทย – 200,000 ไร่) ได้ 0 บาท (ไม่มีการเสนอของบ)
เขต 3 (เพื่อไทย – 1 ล้านไร่) ได้ 266 ล้านบาท
เขต 4 (ประชาชน – 300,000 ไร่) ได้ 297 ล้านบาท
เขต 2 ได้งบมากที่สุด เพราะมีโครงการชลประทานและแหล่งน้ำเพื่อรองรับพื้นที่เพาะปลูกที่ประสบภัยแล้งเรื้อรังมาตลอดอีกทั้งเป็นพื้นที่เปลี่ยนผ่านระหว่างชลประทานเก่าและระบบน้ำใหม่ การที่หน่วยงานในพื้นที่มีการวางแผนล่วงหน้าและเสนอของบครบถ้วน จึงทำให้ได้งบมากกว่าบางเขตที่ไม่มีโครงการ ต้องขอขอบคุณหน่วยงานรัฐและพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ที่ได้ร่วมกันวางแผนบูรณาการณ์ล่วงหน้าเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งเรื้อรัง
3.ถ้าเราดูแค่ตัวเลขรวม แล้วสรุปว่า ‘อุปถัมภ์พรรคพวก’ ผมคิดว่าเราอาจเข้าใจผิด
การจัดสรรงบที่ดีต้องดูปัจจัยหลายอย่าง เช่น
-ความต้องการของประชาชน
-ความจำเป็นเร่งด่วนของพื้นที่
-ภูมิประเทศ (พื้นที่สูง-ต่ำ)
-สภาพความพร้อมของระบบเดิม
-ความเสียหายจากภัยพิบัติในอดีต
-ความร่วมมือของหน่วยงานในพื้นที่ที่เสนอแผนอย่างครบถ้วน
สุดท้ายนักการเมืองเมื่อเราหาเสียงไว้อย่างไร… หากได้รับเลือกเข้าสภาก็ต้องผลักดันคำมั่นสัญญาที่ได้หาเสียงไว้ให้สำเร็จ* เพราะคนที่เลือกเราเข้ามาคือพี่น้องประชาชนในเขตเลือกตั้งนั้นๆครับ
4.พรรคกล้าธรรมยินดีให้ตรวจสอบทุกงบที่ผลักดัน
พวกเราไม่เคยอ้างว่า “ของบเก่ง”แต่เราทำหน้าที่ของผู้แทนประชาชนอย่างเต็มที่ ทั้งผลักทั้งดัน และตามต่อให้เกิดจริงทุกพื้นที่ที่ได้งบ ต้องถูกตรวจสอบได้ ว่าทำอะไร แก้ปัญหาอะไร และถึงมือเกษตรกรจริงหรือไม่
สรุปว่า การที่ใครก็ตามนำงบประมาณที่ได้รับมาเทียบกับขนาดพื้นที่เพียงอย่างเดียว แล้วบอกว่า “ใหญ่กว่าต้องได้มากกว่า” โดยเฉพาะคนๆนั้นน่าจะรู้เรื่องนี้ดี ตรงนี้ผมเชื่อว่าประชาชนมีวิจารณญาณเพียงพอที่จะรับฟังข้อมูลรอบด้าน แล้วพิจารณาได้เองว่าใครกำลังทำงานจริง ใครแค่ใช้วาทกรรมโจมตีเพื่อหวังคะแนนนิยม ผมไม่จำเป็นต้องโต้เถียงด้วย
แต่ผมอยากชี้ให้ประชาชนทั้งประเทศได้มองเห็นถึงโครงสร้างอำนาจใหม่ ที่สร้างความนิยมผ่านช่องทางโซเชี่ยล บิดเบือนด้วยข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน เพื่อสร้างความนิยมให้ตนเองและด้อยค่าผู้อื่น นั่นคือการกระทำที่ค้ำจุนให้คนเช่นนี้ ได้เข้ามาเป็น สส. นั่นคือสิ่งที่เราต้องช่วยกันสร้างวัฒนธรรมการเมืองใหม่ ที่เน้นข้อเท็จจริง เหตุผล และการทำงาน ไม่ใช่การสร้างกระแสด้วยข้อมูลไม่ครบถ้วน ครับ
สุดท้ายครับ พวกเราเชื่อว่าการเมืองที่ดีไม่ใช่การเอาตัวเลขมาโจมตีฝ่ายตรงข้าม หรือบิดเบือนข้อมูล เพราะการกระทำเช่นนั้น ผมคิดว่าเป็นการไม่ให้เกียรติประชาชน แต่เราต้องใช้ข้อมูลให้ครบถ้วน และทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนครับ
พรรคกล้าธรรมพร้อมพูดด้วยเหตุผล และเดินหน้าด้วยผลงาน หากฝ่ายค้านต้องการจะตรวจสอบพวกเราก็ยินดี หรือจะลงพื้นที่เพื่อไปพูดคุยกับชาวบ้านเพื่อให้เกิดความเข้าใจ และรับรู้ถึงปัญหาของพี่น้อง ในฐานะเจ้าบ้าน ผมขอฝากข้อความนี้ไปยังเพื่อนสมาชิกฝ่ายค้าน ลงพื้นที่ไปบ้านนอกด้วยกันไปดูให้เห็นกับตา ไปตรวจสอบให้รู้ไปเลยครับ ว่าการผลักดันงบประมาณพวกผม ใช้อิทธิพล หรือ ใช้ปัญหาของชาวบ้านมาเป็นตัวตั้ง ลดอคติแล้วมาลงพื้นที่ด้วยกันครับ “กำแพงเพชรยินดีต้อนรับเสมอครับ”!
#เพื่อไม่พลาดข่าวสารดีๆ อย่าลืมกดติดตามพวกเรา TOJO NEWS