พริษฐ์ ชี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วง นายกฯ จะให้ทุนนักเรียนไปต่างประเทศ แต่ไม่ได้พูดจะสร้างความเท่าเทียม แก้หนี้กยศ.ยังไง
ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า
[ 5 วาระสำคัญเรื่องการศึกษาที่นายกฯไม่ได้พูด แต่ควรผลักดันจริงจังในปี 2568 ]
การศึกษาเป็นรากฐานสำคัญของอนาคตประเทศ
เมื่อวาน นายกฯได้ใช้เวลาบางส่วนบนเวทีเพื่อแถลงถึงนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล โดยมีการพูดถึง 3 โครงการ (เช่น การรื้อฟื้นโครงการ ODOS หนึ่งอำเภอ หนึ่งทุน)
สิ่งที่ผมเห็นว่าน่ากังวล ไม่ใช่ “สิ่งที่นายกฯพูด” แต่คือ “สิ่งที่นายกฯไม่ได้พูด” เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสำคัญเรื่องการศึกษา ที่ผมเห็นว่ารัฐบาลควรดำเนินการจริงจังภายในปี 2568 (ปีที่ 3 ของรัฐบาลชุดนี้)
1.นายกฯ พูดถึงการให้ทุนนักเรียนไปเรียน ป.ตรี ที่ต่างประเทศ (1 อำเภอ 1 ทุน) แต่นายกฯไม่ได้พูดว่าจะทำยังไงเพื่อสร้างโอกาสที่เป็นธรรมให้กับนักเรียนไทยในการเข้าถึงการเรียน ป.ตรี ภายในประเทศโดยเฉพาะการแก้ปัญหา กยศ. ที่มีการคาดการณ์ว่าจะขาดสภาพคล่องภายใน 1 ปี และอาจจะทำให้ต้องลดการปล่อยกู้ให้กับนักเรียนผู้กู้ใหม่ถึง 89% ต่อปี หากไม่ได้รับการจัดสรรงบอุดหนุนจากรัฐบาล – นายกฯ จะทำอย่างไรให้ กยศ. ปล่อยกู้ให้กับนักเรียนได้อย่างน้อยตามเกณฑ์เดิมโดยไม่เพิ่มภาระให้กับผู้กู้เรียน?
2.นายกฯ พูดถึงการให้ทุนนักเรียนไปซัมเมอร์แคมป์ที่ต่างประเทศ แต่นายกฯไม่ได้พูดว่าจะทำยังไงเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนทั่วประเทศเข้าถึงแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนภายในประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีไม่เพียงพอและมีความกระจุกตัวอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ – นายกฯ จะพิจารณาอุดหนุนเป็นคูปองการเรียนรู้ให้เยาวชนโดยตรงเพื่อกระตุ้นระบบนิเวศการเรียนรู้ภายในประ้เทศ หรือ อุดหนุนงบประมาณเพิ่มเติมให้ท้องถิ่นในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ หรือไม่?
3.นายกฯ พูดถึงการให้โรงเรียนประจำอำเภอซื้อลิขสิทธิ์เครื่องมือในการสอนภาษาและ AI จากต่างประเทศ แต่นายกฯไม่ได้พูดว่าจะทำยังไงกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศ ที่ไม่ได้มีการจัดทำใหม่หรือปรับปรุงครั้งใหญ่มาตั้งแต่เรามีไอโฟนรุ่นแรก (17+ ปี) และที่ทำให้เกิดสภาวะ “เรียนมาก ได้น้อย” ณ ปัจจุบัน – นายกฯ จะผลักดันให้เรามีหลักสูตรฉบับใหม่ภายใต้รัฐบาลของท่าน (ตามที่ รมช. ศธ. เคยตอบกระทู้ในสภาฯ) หรือไม่ และ นายกฯจะรับประกันอย่างไรว่าหลักสูตรใหม่ จะไม่ใหม่แค่โดยชื่อ แต่จะเน้นสร้างทักษะ-สมรรถนะที่สำคัญสำหรับอนาคต และเน้นการส่งเสริมให้สถานศึกษามีอำนาจและกำลังในการจัดทำหลักสูตรที่เหมาะกับบริบทตนเอง
4.นายกฯ พูดถึงการสร้างโรงเรียนต้นแบบประจำอำเภอ แต่นายกฯไม่ได้พูดว่าจะทำยังไงกับนักเรียนที่เรียนในโรงเรียนขนาดเล็ก 15,000+ โรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งยังขาดแคลนทั้งทรัพยากรและบุคลากร – นายกฯ จะมีการปรับเกณฑ์การอุดหนุนงบรายหัวให้เป็นธรรมกับโรงเรียนทุกขนาดมากขึ้นหรือไม่ และ นายกฯ จะวางเกณฑ์-กลไก-เป้าหมายอย่างไรเกี่ยวกับการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กที่เป็นข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง?
5.นายกฯ พูดถึงการเติมครูเพื่ออัพเกรดโรงเรียนประจำอำเภอ แต่นายกฯไม่ได้พูดว่าจะทำยังไงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของครูที่มีอยู่แล้วในระบบ ผ่านการลดภาระงานธุรการและการยกระดับทักษะครู – นายกฯ จะมีการลดความซ้ำซ้อนของงานในกระทรวงทั้งที่ส่วนกลางและในพื้นที่ (ซึ่งเป็นต้นตอของภาระงานธุรการครูที่ไม่จำเป็น) หรือไม่ และ นายกฯ จะพิจารณาลดโครงการอบรมครูส่วนกลางที่ไม่จำเป็น เพื่อนำงบมาให้ครูและโรงเรียนใช้ในการพัฒนาทักษะตนเอง หรือไม่?
พวกเราทราบดีว่านโยบายการศึกษาเป็นสิ่งที่ทำวันนี้แล้ว ก็อาจจะยังไม่ได้เห็นผลทันทีทันใด ความต่อเนื่องในการผลักดันนโยบายจึงเป็นสิ่งสำคัญ – ผมหวังว่าท่านนายกฯและทีมจะนำคำถามและข้อเสนอเหล่านี้ไปพิจารณาต่ออย่างจริงจัง โดยไม่ลดความสำคัญมันเพียงเพราะเป็นความเห็นจากฝ่ายค้าน
#เพื่อไม่พลาดข่าวสารดีๆ อย่าลืมกดติดตามพวกเรา TOJO NEWS