Connect with us

News

1 ใน 4 กุมาร ทีม รมว.สมัยรบ.ประยุทธ์  เจอศก.ไทย มีปัญหา เวียดนาม แซง!! แถมพ่อค้าแม่ค้าขายของไม่ได้ก็ต้องปิด!!

Published

on

สนธิรัตน์ ชี้ ผู้ประกอบการไทย กลายเป็นเพียงคนกลางขายของ ซึ่งจะโทษกันก็ไม่ได้ในเมื่อการคิดริเริ่มเองดันมีต้นทุนสูง แถมทำออกมารัฐก็ไม่ช่วย ขายแพงก็แข่งไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องปิดตัว

ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตหัวหน้าศูนย์นโยบายและวิชาการของพรรคพปชร.โพสต์ข้อความระบุว่า…

ประเทศไทยติดหล่ม…ใครจะช่วยดัน
ทุกวันนี้ เราเห็นเพื่อนบ้านในอาเซียนอย่างเวียดนามหรือมาเลเซีย เขาก้าวหน้าไปไกล แต่ไทยยังวนอยู่กับปัญหาเดิม ๆ GDP โตช้า งานใหม่ ๆ น้อยลง นวัตกรรมก็สู้ใครไม่ได้ ไทยเคยเติบโตแบบก้าวกระโดด สมัยช่วงปี 2530-2540 เราได้ชื่อว่าเป็น “เสือเศรษฐกิจ” ของเอเชีย แต่เดี๋ยวนี้…เหมือนรถติดอยู่กลางทาง ไฟแดงก็ไม่เปลี่ยนสักที GDP เราเคยโตปีละ 7-8% สมัยนี้เหลือแค่ 2-3% แถมยังส่งออกแต่ของเดิม ๆ ในขณะที่เวียดนาม เขาก็แซงเราไปแล้วในหลายอุตสาหกรรม

ปัญหาคืออะไร? ถ้าให้ผมคิดไว ๆ และคงสอดคล้องกับหลาย ๆ ท่าน คงเป็นเรื่องบ้านเรากฎหมายเยอะแต่ไม่ช่วยอำนวยความสะดวกเท่าไหร่ เพราะเอกชนต้องใช้เวลาไปกับการขออนุญาตต่าง ๆ เยอะมาก แทนที่จะคิดค้นสินค้าใหม่ หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ ต้องมาเสียเวลากับเรื่องใบอนุญาตต่าง ๆ


เอกชนไทยจึงเลี่ยงที่จะคิดหรือพัฒนานวัตกรรมใหม่ โดยเลือกที่จะนำเข้าสินค้ามาขาย ลักษณะแบบนี้เราเห็นได้ทั่วไป ผู้ประกอบการไทยเลยกลายเป็นเพียงคนกลางขายของครับ ซึ่งจะโทษกันก็ไม่ได้ในเมื่อการคิดริเริ่มเองดันมีต้นทุนสูง แถมทำออกมารัฐก็ไม่ช่วย ขายแพงก็แข่งไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องปิดตัว

วันนี้โลกเปลี่ยน การค้าออนไลน์แข่งกันรุนแรง ที่สำคัญคนผลิตจากจีนเอาสินค้าราคาทุนมาขายแข่งกับพ่อค้าแม่ค้าปลีกชาวไทย สุดท้ายประกอบการคนกลางก็อยู่ไม่ได้ แถมรัฐก็ทำอะไรไม่ได้มาก กลายเป็นวิกฤตที่ยังแก้ไม่ตก

ผมคิดว่าวันนี้ต้องหันมาจริงจังกับเรื่องเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้มากขึ้น ตัดขั้นตอนและกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อภาคเอกชนไทย เหมือนที่หลายประเทศเขาทำกันครับ อย่างในเกาหลีใต้ หรือเวียดนาม ที่ในช่วงไม่กี่ปีเขาตัดและรวมกฎหมายได้มากกว่า การทำธุรกิจก็ง่ายขึ้น คนก็อยากเข้าไปลงทุน

ปัญหาที่ตามเมื่อผู้ประกอบการเราน้อยก็คือการผูกขาด ซึ่งจะไปโทษรายใหญ่ก็ไม่ได้อีก เพราะโครงสร้างตลาดบ้านเราไม่เอื้อให้ SME เติบโต พอการแข่งขันมีน้อย บริษัทใหญ่ ๆ ก็ไม่อยากลงทุนพัฒนานวัตกรรม สุดท้ายประเทศก็ไม่ไปไหน เพราะไม่มีอะไรใหม่ให้ขาย กลายเป็นปัญหาทับซ้อนเข้าไปอีก

วันนี้ผมคิดว่าเราต้องจริงจังกับเรื่องพวกนี้กันได้แล้วละครับ ถึงจะเป็นเรื่องเก่า แต่เรายังไม่ก้าวหน้าในเรื่องนี้

การแข่งขันทางการค้าที่รุนแรงทำให้การพึ่งพาภายนอกอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบ แต่เราต้องการการส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมที่เป็นรูปธรรมกว่านี้ เพื่อเป็นความหวังให้คนรุ่นใหม่ ที่เขามีฝัน อยากทำสตาร์ทอัพ

สิ่งแรก ๆ ที่ต้องทำและผมคิดว่านักวิชาการหลายท่านก็พยายามผลักดันกันอยู่คือเรื่อง การลดกฎระเบียบที่ซับซ้อน เพื่อให้เอกชนสามารถจดจ่อกับการวิจัยและพัฒนาได้มากขึ้น แทนที่จะเสียเวลาไปกับการวิ่งเข้าหาบรรดาข้าราชการ กระทรวง กรมต่าง ๆ เพื่อขอใบอนุญาต

เราต้องจริงจัง เรื่องส่งเสริมระบบนิเวศน์ที่เอื้อให้เกิดผู้ประกอบการหน้าใหม่ เพื่อส่งเสริมการแข่งขันในตลาด เพราะมีงานวิชาการที่ผมเคยอ่านผ่านตาไว ๆ บอกว่า ถ้าภาคธุรกิจไหนมีการแข่งขันกันสูงระดับหนึ่ง ผู้ประกอบการจะแข่งกันพัฒนานวัตกรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อภาพรวมของประเทศครับ

เรื่องสุดท้ายผมคิดว่าเราต้องชัดเจนว่าอยากชูการพัฒนาอุตสาหกรรมอะไร เพราะบทเรียนจากหลายประเทศชี้ชัดแล้วครับว่า ยิ่งจำกัดเป้าหมายการส่งเสริมได้ชัดเท่าไหร่ โอกาสความสำเร็จมีสูงมาก และสุดท้ายก็จะกลายเป็นผู้นำในเรื่องนั้น ๆ จนประเทศอื่น ๆ ก็แข่งกับเราไม่ได้

ที่ผมใช้คำว่า “เรา” แทนคำว่า “รัฐบาล” เพราะ นี่ไม่ใช่แค่ปัญหาของรัฐบาลหรือภาคเอกชน แต่เป็นปัญหาของเราทุกคนครับ เพราะถ้าเศรษฐกิจไม่ไปข้างหน้า เราทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศนี้นี่แหละครับที่ต้องลงไปแก้ไขตอนหลัง

ถึงหลายคนจะบอกว่าประเทศไทยเข้าใกล้รัฐล้มเหลว แต่ผมว่ามันยังไม่ใช่ขนาดนั้นครับ ผมยังเห็นนักกิจกรรม นักวิชาการ รวมไปถึงคนตัวเล็กตัวน้อยมากมายออกมาเปล่งเสียงดังบ้าง เบาบ้าง แต่มันก็สะท้อนว่าทุกคนอยากเปลี่ยน และทุกคนอยากเห็นประเทศนี้ดีขึ้นกว่าเดิม

วันนี้โลกกำลังเปลี่ยนเราอย่างรุนแรง ฉะนั้นเราต้องเร่งปรับตัวเองให้ทันหรือนำปรากฎการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นครับ เพราะมันไม่มีเส้นทางข้างหลังให้เราถอยได้อีกแล้วครับ

#เพื่อไม่พลาดข่าวสารดีๆ อย่าลืมกดติดตามพวกเรา TOJO NEWS

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: