สภาพัฒน์ ชี้ ไม่อยากให้พรรคการเมือง นำนโยบายหาเสียงพักหนี้มาใช้อีก หวั่น กระทบวินัยการเงินหนี้ครัวเรือน
ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า มีความเป็นห่วงต่อนโยบายการหาเสียงของพรรคการเมือง โดยเฉพาะการชูนโยบายพักหนี้ ที่อาจทำให้เกิดปัญหาวินัยการเงินและกระทบต่อคนที่ชำระหนี้ดี รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนตามมา โดยวิธีการแก้ปัญหานี้ที่ดีที่สุด ควรจะแก้หนี้เป็นรายบุคคล ซึ่งแม้จะเห็นผลช้าแต่ก็ถือว่ามีประสิทธิภาพ
ปัจจุบัน ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยตอนนี้ยังคงอยู่ในระดับสูงโดยหนี้ส่วนใหญ่กว่า 90% อยู่กับธนาคารรัฐ และอีก 10% อยู่กับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งแม้ภาพรวมหนี้จะอยู่ระบบสถาบันการเงินรัฐเยอะ แต่ก็สถานะก็ยังแข็งแกร่ง ไม่มีปัญหา เนื่องจากธนาคารรัฐจะมีการแยกบัญชีที่เกี่ยวข้องกับโครงการรัฐไว้ต่างหาก จึงไม่กระทบต่อภาพรวม แต่ข้อเสียก็คืออาจจะกระทบต่องบประมาณของรัฐบาล ที่จะต้องหาเงินไปสนับสนุนหรือจ่ายชดเชยให้
“ไม่อยากให้พรรคการเมือง นำนโยบายหาเสียงพักหนี้มาใช้อีก เพราะจะส่งผลเสียต่อหนี้ครัวเรือนในระยะยาว และทำให้คนไทยขาดวินัยในการใช้หนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันนี้ สิ่งแวดล้อมของไทยก็ทำให้คนเป็นหนี้ได้ง่ายขึ้น เช่นการให้ซื้อก่อนผ่อนทีหลัง หรือผ่อน 0% นาน 10 เดือน”
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ห่วงในปี 66 สัญญาณเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวค่อนข้างรวดเร็ว และเริ่มกระทบต่อการส่งออกอย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 65 และปีนี้ก็มองว่าการส่งออกไทยมีโอกาสติดลบสูงหรือยังเก่งอาจทำได้ 0% นอกจากนี้ ในช่วงปลายปี จะเผชิญการเบิกจ่ายภาครัฐ
เนื่องจากจะมีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะทำให้การจัดทำงบประมาณปี 67 ล่าช้าออกไป ทำให้ต้องใช้งบประมาณปีเก่าหรือปี 66 ไปพลางก่อน ซึ่งอาจไม่มีเงินลงทุนโครงการใหม่ใหม่เกิดขึ้นมาได้ โดยประเมินว่างบน่าจะล่าช้าประมาณเดือนครึ่ง หรือหากมีช้ากว่านั้น ก็อาจจะไปเริ่มใช้ได้ในช่วงเดือน ม.ค. 67 เลยทีเดียว
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า แม้ไทยจะมีการกู้เงินช่วยเยียวยาโควิด 1.5 ล้านล้าน แต่ยืนยันว่า ฐานะการคลังของไทยยังมีความมั่นคง มีทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนฐานะการคลัง มีเงินคงคลังอยู่ในระดับที่มีความมั่นคง