News
วิโรจน์ ตอบชัด!! การเมืองมีความชอบธรรมที่จะแทรกแซงกองทัพ?
Published
10 ชั่วโมง agoon
By
Admin_Tojoวิโรจน์ เคลียร์ทุกประเด็น การเมืองจะเข้าจัดระเบียบ พ.ร.บ.กลาโหม
ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า
[ เคลียร์ทุกประเด็น เกี่ยวกับ พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ]
ประเด็นที่ 1: การแก้ พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เป็นการทำให้การเมืองแทรกแซงกองทัพ
ตอบ:
วาทกรรม “การเมืองแทรกแซงกองทัพ” เป็นวาทกรรมเชิงลบที่สร้างขึ้นมาเพื่อด้อยค่า “การบริหารราชการกระทรวงกลาโหมของรัฐบาล” โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะสงวนให้กองทัพเป็น “รัฐอิสระ” เป็น “รัฐซ้อนรัฐ” ที่มีอำนาจมืดครอบงำรัฐบาล ขัดขวางไม่ให้กองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน
ถ้าการแทรกแซงหมายถึง การจัดสรรงบประมาณ และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม การออกระเบียบและการกำหนดคุณสมบัติในการแต่งตั้งโยกย้ายที่โปร่งใส และเป็นธรรมเพิ่มขึ้น การกำหนดนโยบายที่ตอบโจทย์ภัยคุกคาม และบริบทของความมั่นคงในรูปแบบใหม่ที่ให้ผลสัมฤทธิ์ที่ดีขึ้น การปรับปรุงนโยบายในการดูแลกำลังพลให้มีสวัสดิภาพที่ดีปลอดจากการซ้อมทรมาน และการค้ามนุษย์ การแทรกแซงแบบนี้ยิ่งต้องควรแทรกแซง มิฉะนั้นนับวันกองทัพก็จะมีแต่ถดถอย ไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติ
ถ้าการแทรกแซง เป็นการกระทำที่อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย เปิดเผยโปร่งใส ประชาชนรับรู้ถึงเจตนารมณ์ที่ดีของการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ทำไมจะแทรกแซงไม่ได้ ถ้ามีการประพฤติมิชอบเกิดขึ้น ก็มีกลไกในสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา คอยตรวจสอบถ่วงดุล มีกลไกของ ป.ป.ช. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลปกครอง ในการเอาผิดฝ่ายบริหารที่ประพฤติมิชอบ
ประเทศที่พัฒนาแล้ว กองทัพต้องอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน ลองคิดกลับกันดูสิครับ ถ้ารัฐบาลที่ได้รับอำนาจจากประชาชนตามกติกาประชาธิปไตย ไม่สามารถแตะต้องอะไรกองทัพได้เลย ทั้งๆ ที่กองทัพใช้งบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชน แต่อำนาจที่มาจากประชาชนกลับปรับเปลี่ยนอะไรกองทัพไม่ได้เลย ต้องยอมให้กองทัพทำตามอำเภอใจของตนเอง แล้วจะปฏิรูปกองทัพให้เข้มแข็งสอดรับกับบริบทความมั่นคงของโลกได้ยังไง
ดังนั้น อำนาจทางการเมืองที่มาจากประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ถ้ามีความโปร่งใส และอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย อำนาจทางการเมืองนั้นมีความชอบธรรมที่จะแทรกแซงกองทัพได้ครับ
ประเด็นที่ 2: การแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม จะทำให้ฝ่ายการเมืองเข้ามามีอำนาจเหนือกรมราชองครักษ์ และหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์
ตอบ
ข้อกล่าวหานี้ต่างหากที่เป็นการกระทำที่บังอาจ และมิบังควร เพราะ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 ได้กำหนดให้มี พ.ร.ฎ.จัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 โดยมีการโอนหน่วยงาน หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ และกรมราชองครักษ์ ซึ่งเดิมสังกัดกระทรวงกลาโหม ให้มาสังกัดที่ “หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์” ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ ดังนั้นการแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม จึงไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์เลย
ผมกลับกังวลใจอย่างมากว่า เดี๋ยวนี้ถึงกลับกล้าหยิบยกเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นข้ออ้าง เพื่อป้องกันการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกองทัพแล้วหรือ นี่หรือครับความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
ประเด็นที่ 3: คุณอนุทินบอกว่า ถ้านักการเมืองไม่สร้างเงื่อนไข ทหารก็ไม่ก่อรัฐประหาร ต่อให้แก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ถ้ามีการทำรัฐประหาร รัฐธรรมนูญก็ถูกฉีกอยู่ดี
ตอบ: ผมต้องบอกคุณอนุทินว่า ไม่ว่าจะด้วยเงื่อนไขใดทหารก็ไม่สามารถนำมาอ้างเพื่อก่อรัฐประหารได้ จริงอยู่เมื่อทำรัฐประหารได้สำเร็จ สิ่งแรกที่คณะรัฐประหารทำ ก็คือ การฉีกรัฐธรรมนูญ ต่อให้เขียนกฎหมายว่าห้ามนำกำลังทหารมาใช้ยึดอำนาจ ก็คงไม่เป็นผล แต่มันเป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่ยืนยันว่า “การทำรัฐประหารเป็นการกระทำชั่วร้ายที่ปล้นอำนาจไปจากประชาชน ที่ประเทศนี้ไม่สามารถยอมรับได้”
การป้องกันการก่อรัฐประหารต้องทำควบคู่กันหลายมาตรการ เช่น การแก้ไข มาตรา 25 ของ พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ของพรรคประชาชน ที่ยกเลิกคณะกรรมกรแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับสูง แล้วให้กระทรวงกลาโหมกำหนดหลักเกณฑ์ และคุณสมบัติให้เป็นมาตรฐาน เพื่อให้การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับสูงเป็นไปตามกติกาโดยชอบธรรม จะช่วยให้ทหารมืออาชีพมีความเติบโตในหน้าที่การงาน ลดทอนการสืบทอดอำนาจ และเครือข่ายอุปถัมภ์ภายในกองทัพลง ซึ่งจะช่วยป้องกันการก่อรัฐประหารได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ถ้ามีการแก้ไข พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร และ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็น
1.แก้ไขให้นายกรัฐมนตรีเท่านั้น ที่สามารถประกาศใช้กฎอัยการศึกได้ ไม่ใช่เป็นแค่ผู้บังคับกองพัน ก็สามารถประกาศใช้กฎอัยการศึกได้แล้ว อย่างที่เป็นอยู่
2.แก้ไขให้ผู้ที่มีอำนาจในการยกเลิกกฎอัยการศึก คือ นายกรัฐมนตรี หรือประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อมีมติเสียงข้างมาจากสภาผู้แทนราษฎรให้ยกเลิกกฎอัยการศึกษา โดยให้นายกรัฐมนตรี หรือประธานสภาผู้แทนราษฎรทูลเกล้าฯ เพื่อให้ทรงมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกกฎอัยการศึก
3.แก้ไขให้ผู้เสียหายมีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาเองได้ ไม่ต้องถูกบังคับให้มอบคดีให้อัยการทหารเป็นโจทก์ แม้ว่าจะมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกก็ตาม
4.แก้ไขให้การพิจารณาคดีที่มีลักษณะเฉพาะให้อยู่ในอำนาจศาลชำนัญพิเศษ เช่น ศาลอาญาทุจริต ศาลทรัพย์สินทางปัญญา และศาลเยาวชน เป็นต้น
5.แก้ไขให้ทหารที่ใช้อำนาจโดยมิชอบ ระหว่างการประกาศใช้กฎอัยการศึก ต้องมีความรับผิดทั้งทางอาญา และทางแพ่ง
การแก้ไขกฎหมายฉบับต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับการบังคับใช้กฎหมายสำคัญอย่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทำร้ายและการกระทำที่ทำให้บุคคลสูญหาย และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ อย่างจริงจัง ไม่ปล่อยให้มีวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด จะเป็นกลไกในการป้องกันการก่อรัฐประหารได้ดีที่สุด
ถ้าต้องสยบยอมต่ออำนาจทหารประหนึ่งทาส ในแบบที่คุณอนุทินเสนอ การก่อรัฐประหารก็ไม่เกิดขึ้นอยู่แล้วล่ะครับ เพราะผู้ปกครอง จะไปยึดอำนาจจากทาสทำไม ในเมื่อทาสยอมเชื่อฟังคำสั่งทุกอย่างอยู่แล้ว
ประเด็นที่ 4: สาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ของพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน นั้นมีประเด็นที่ตรง และต่างกันอย่างไร
ตอบ:
จากการให้สัมภาษณ์ของคุณภูมิธรรม รมว.กลาโหม ที่บอกว่า ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ของคุณประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ นั้นเป็นร่างกฎหมายส่วนตัวในฐานะ สส. ของคุณประยุทธ์ แต่ไม่ใช่จุดยืนของพรรคเพื่อไทย โดยคุณภูมิธรรมบอกว่าจะยึดเอา พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมที่ผ่านสภากลาโหมเท่านั้น ก็แสดงว่า พรรคเพื่อไทยไม่ได้มีจุดยืนชัดเจนในการปฏิรูปกองทัพ ผ่านการแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมเลย คือ จะยอมเป็นตรายางแก้ไขกฎหมายตามที่ทหารสั่งให้แก้เท่านั้น ซึ่งผมรู้สึกผิดหวังกับคำตอบของคุณภูมิธรรมอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ก็ต้องยืนยันว่าร่างแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ฉบับของคุณประยุทธ์ และฉบับของพรรคประชาขน นั้นมีจุดร่วมกันอยู่จุดหนึ่ง ก็คือ ต้องการให้กองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน แม้ว่ารายละเอียดจะแตกต่างกันอยู่บ้าง ก็ตาม
1.มาตรา 25 พรรคประชาชน แก้ไขให้ยกเลิกคณะกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับสูง หรือ Super Board และให้กระทรวงกลาโหมกำหนดหลักเกณฑ์ และคุณสมบัติที่เป็นมาตรฐานชัดเจน ซึ่งเป็นทางออกที่ดีที่สุด ที่จะทำให้นายทหารมืออาชีพที่มีประวัติการทำงาน และผลการปฏิบัติงานที่ดี ได้มีโอกาสเติบโตในหน้าที่การงาน ไม่ต้องไปวิ่งเต้น ไม่ต้องไปอยู่ในเครือข่ายอุปถัมภ์ของนายพลคนไหน ไม่ต้องกลัวว่าการเมืองจะมาแทรกแซง ซึ่งจุดแตกต่างในมาตรานี้ ก็คือ คุณประยุทธ์ไม่ได้เสนอให้ยกเลิก Super Board เพียงแต่เสนอให้เพิ่มปลัดสำนักนายกฯ เข้าไปเป็นกรรมการอีกคนหนึ่ง ซึ่งหากมีการลงมติอย่างไรก็แพ้เหมือนเดิม เพราะเดิมที Super Board มีอยู่ทั้งสิ้น 7 คน คือ รมว.กลาโหม รมช.กลาโหม ปลัดกลาโหม ผบ.สส. ผบ.ทบ. ผบ.ทร. และ ผบ.ทอ. หากมีการลงมติฝ่ายรัฐบาลพลเรือนก็จะแพ้ในอัตรา 2 ต่อ 5 เสมอ ต่อให้เพิ่มปลัดสำนักนายกฯ เข้าไปอีก 1 คน ก็แพ้อยู่ดี โดยจะแพ้ในอัตรา 3 ต่อ 5 ทางเดียวที่จะโหวตชนะได้ ก็คือ ให้นายกฯ แต่งตั้ง รมช.กลาโหม ในจำนวนตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป เช่น อาจจะให้รองนายกฯ ทุกคนควบตำแหน่ง รมช.กลาโหม จาก ครม. 36 คน (นายกฯ + รมต. 35 คน) แม้ว่าจะทำได้ในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติถือว่าเป็นแนวทางที่ขาดความตรงไปตรงมา ซึ่งไม่น่าจะใช่ทางเลือกที่ดีอยู่แล้ว ดังนั้นการเพิ่มปลัดสำนักนายกฯ เข้าไปอีก 1 ตำแหน่งใน Superboard จึงไม่น่าจะใช่ทางออกในการปรับปรุงให้การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับสูงมีความเป็นธรรมขึ้นมาได้
สำหรับการส่งโผแต่งตั้งให้ ครม. เห็นชอบเป็นรายชื่อ ผมคิดว่าเป็นการลดทอนอำนาจของ รมว.กลาโหม และไม่มีกระทรวงไหนทำแบบนี้ และถ้ามองในแง่ร้าย กระบวนการแบบนี้ ก็จะทำให้พรรคร่วมรัฐบาล จองโควต้าการแต่งตั้งโยกย้ายให้กับคนของฝ่ายตนเองอีกด้วย ผมจึงคิดว่าทางที่ดีที่สุด ก็คือ การกำหนดหลักเกณฑ์ และคุณสมบัติที่ชัดเจนเป็นมาตรฐาน ให้ รมว.กลาโหมเห็นชอบ แล้วก็ดำเนินการแต่งตั้งโยกย้าย เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง ตามหลักเกณฑ์ทีกำหนดขึ้นอย่างโปร่งใส ซึ่งจะทำให้นายทหารที่มีความสามารถได้เติบโตในหน้าที่การงาน ไม่มีระบบพรรคระบบพวก ไม่ต้องไปอยู่ภายใต้เครือข่ายอุปถัมภ์ของใคร การแต่งตั้งโยกย้ายด้วยระบบคุณธรรมแบบนี้ล่ะครับ จะทำให้การก่อรัฐประหารทำได้ยากมากๆ
2.ร่างของคุณประยุทธ์ มีการแก้ไขมาตรา 35 และเพิ่มมาตรา 35/1 โดยเขียนกฎหมายห้ามไม่ให้ใช้กำลังทหารในการยึดอำนาจ และล้อมปราบประชาชน รวมทั้งกำหนดให้รัฐบาลมีอำนาจในการระงับยับยั้งการเตรียมการก่อรัฐประหารได้ ซึ่งในประเด็นนี้ ผมไม่ได้มีความเห็นแย้งกับคุณประยุทธ์แต่อย่างใด เพระเข้าใจดีว่า คุณประยุทธ์ต้องการประกาศเจตนารมณ์สำคัญ เพื่อยืนยันว่า “ประชาชนไม่สามารถยอมรับการทำรัฐประหารได้” โดยตราเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในกฎหมายสำคัญอย่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม
อย่างไรก็ตาม การที่จะป้องกันการทำรัฐประหาร จะต้องทำร่วมกันหลายๆ มาตรการควบคู่กัน อาทิ การปรับปรุงให้การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับสูงเป็นไปตามกติกาที่เป็นธรรม ปลอดจากระบบเส้นสาย การแก้ไข พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร การแก้ไข พ.ร.บ.กฎอัยการศึก และการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทำร้ายและการกระทำที่ทำให้บุคคลสูญหาย และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ อย่างจริงจัง
3.มาตรา 42 พรรคประชาชน และคุณประยุทธ์ มีจุดร่วมกันอยู่อย่างหนึ่ง ก็คือ การลดจำนวนสมาชิกในสภากลาโหม และลดสัดส่วนของสมาชิกในสัดส่วนของกองทัพลง เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติหน้าที่ และสภากลาโหมจะได้สามารถพิจารณาภัยคุกคามด้านต่างๆ เช่น ภัยคุกคามด้านไซเบอร์ ภัยคุกคามต่อทรัพยากรธรรมชาติ ภัยคุกคามจากขบวนการค้ายาเสพติด ฯลฯ ที่สอดคล้องบริบทความมั่นคงใหม่ของโลก โดยแต่เดิมสมาชิกในสภากลาโหม มีจำนวนมากถึง 27 คน ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญด้านความมั่นคงด้านอื่นๆ รมว.กลาโหม ก็แต่งตั้งได้แค่ 3 คน แถมยังต้องแต่งตั้งตามมติของสภากลาโหมอีกด้วย สภากลาโหมที่มีความอุ้ยอ้าย และยึดติดอยู่ในกรอบเดิมๆ แบบนี้ ไม่มีทางที่จะนำพากองทัพให้พัฒนาเท่าทันโลกได้เลย ร่างของพรรคประชาชน จึงปรับลดจำนวนสมาชิกของสภากลาโหม เหลือเพียง 12 คน
โดยให้ รมว.กลาโหมแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิได้ 5 คน ในขณะที่ร่างของคุณประยุทธ์ ก็มีการปรับลดจำนวนสมาชิกของสภากลาโหมให้เหลือเพียง 17 คน โดยให้ รมว.กลาโหมแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิได้ 3 คน โดยความเห็นชอบจาก ครม. ซึ่งผมเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบจาก ครม. เลย เพราะการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในกระทรวงอื่นๆ รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงก็สามารถแต่งตั้งได้โดยชอบอยู่แล้ว หากการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิของ รมว.กลาโหม ต้องผ่านความเห็นชอบจาก ครม. นั่นเท่ากับเป็นการลดทอนอำนาจ และด้อยค่าการบริหารงานราชการของ รมว.กลาโหม อย่างไม่สมเหตุสมผล
และผมเองก็ไม่เข้าใจว่า เหตุใดคุณประยุทธ์ จึงตัด รมช.กลาโหม ออกจากสภากลาโหม และและยิ่งไม่เข้าใจไปใหญ่ถึงเหตุผลในการเพิ่มปลัดกระทรวงการคลัง และอธิบดีกรมบัญชีกลางเข้ามา ซึ่งเมื่อพิจารณาจากหน้างานแล้ว ไม่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับงานด้านความมั่นคงเลย
จุดแตกต่างที่สำคัญระหว่างร่างของพรรคประชาชน และร่างของคุณประยุทธ์ ก็คือ ร่างของพรรคประชาชนมีการแก้ไขบทบาทให้สภากลาโหม มีหน้าที่ในการให้คำปรึกษาแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐบาลเท่านั้น ไม่ได้รัฐอิสระที่อยู่เหนือรัฐบาลของประชาชนในแบบที่เป็นอยู่ ซึ่งประเด็นนี้แตกต่างจากร่างของคุณประยุทธ์อย่างชัดเจน ที่สภากลาโหมยังคงเป็น ครม.เงาหลังม่านที่มีอำนาจเหนือรัฐบาลพลเรือนอยู่เช่นเดิม การที่คุณประยุทธ์เสนอให้นายกรัฐมนตรีเข้าไปเป็นประธานสภากลาโหม เพิ่มปลัดกระทรวงการคลัง และอธิบดีกรมบัญชีกลางเข้าไปในสภากลาโหม โดยตัด รมช.กลาโหม ออก ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาการที่กองทัพทำตัวเป็นรัฐซ้อนรัฐอย่างที่เป็นอยู่เลย
.4. นอกจากนี้ร่างของพรรคประชาชน ยังได้มีการแก้ไขมาตรา 30 อีกด้วย เพื่อให้การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพมีความโปร่งใส คำนึงถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี การจ้างงาน และการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศภายในประเทศ ซึ่งจะเป็นแนวทางในการพัฒนากองทัพให้มีความเข้มแข็งที่ยั่งยืน มีความคล่องตัวในการรับมือกับภัยความมั่นคงในรูปแบบต่างๆ ในบริบทของความมั่นคงของโลกยุคใหม่
#เพื่อไม่พลาดข่าวสารดีๆ อย่าลืมกดติดตามพวกเรา TOJO NEWS