3 มาตรการ กำราบส่วยทางหลวง สาวถึงโรงงานต้นทาง จัดการกับตำรวจค้าสำนวน เลิกโบกกลั่นแกล้ง
ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล ระบุว่า 3 มาตรการเพิ่มเติม กำราบส่วยทางหลวง 1.สาวถึงโรงงานต้นทาง 2.จัดการกับตำรวจค้าสำนวน 3.เลิกโบกกลั่นแกล้ง
จากการหารือร่วมกันระหว่างผม อ.สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ – Surachet Pravinvongvuth และผู้แทนจากสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กับคณะเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งประกอบด้วย พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.ฎิษพจน์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ตร. รรท.รอง จตร. และ พล.ต.ต.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ รองผู้บัญชาการตํารวจสอบสวนกลาง เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 66 นอกจากการส่งมอบเบาะแสเพื่อการสืบสวนขยายผลเรื่อง “ส่วยสติ๊กเกอร์” แล้ว ที่ประชุมยังมีข้อเสนอเพิ่มเติมร่วมกัน ในการจัดการกับปัญหาส่วยทางหลวง ให้ครอบคลุมเพิ่มเติมอีก 3 มาตรการ ด้วยกัน คือ
1. การพิจารณาดำเนินคดีกับผู้ประกอบการต้นทาง เช่น โรงโม่หิน บ่อดิน บ่อทราย โรงงาน ฯลฯ ที่มีเจตนาใส่น้ำหนักเกินให้กับรถบรรทุก มาตั้งแต่ต้นทาง ยัดเยียดให้แบกตู้คอนเทนเนอร์ 2 ตู้ ในคราวเดียวกัน เนื่องจากผู้ประกอบการต้นทางเหล่านี้ มีตราชั่งที่สถานประกอบการอยู่แล้ว รู้อยู่แก่ใจอยู่แล้วว่าน้ำหนักบรรทุกต้นทางเป็นเท่าใด แต่ก็ยังบังคับยัดเยียดให้รถบรรทุกแบกน้ำหนักเกิน โดยจะพิจารณาดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 86 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ต้องระวางโทษสองในสามส่วน พร้อมกับเสนอให้ยึดใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หรือ ร.ง.4 ด้วย เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการต้นทางเหล่านี้ มักจะบีบบังคับให้ผู้ขับรถบรรทุกต้องจำยอมบรรทุกน้ำหนักเกิน โดยไม่เคยต้องมาร่วมรับผิดชอบอะไร สำหรับการสืบสวนหาผู้ประกอบการต้นทางที่สนับสนุนการกระทำผิด ก็ไม่ยากเลย เพราะรถบรรทุกทุกคัน ต้องติดตั้ง GPS ตามกฎหมายอยู่แล้ว แค่ตรวจสอบข้อมูลเส้นทางการเดินทาง ก็จะทราบโดยทันทีว่าผู้ประกอบการต้นทางนั้นเป็นใคร
2. จัดการกับพนักงานสอบสวนบางนาย ที่มีพฤติกรรม “ค้าสำนวน” ที่นำเอา “การริบรถ” มาใช้เรียกรับผลประโยชน์จากรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ใครที่ยอมจ่าย 30,000-70,000 บาท ก็จะทำสัญญาเช่าช่วงรถเท็จขึ้นมาในสำนวน เพื่อเปลี่ยนสถานะของผู้ขับรถ จาก “ลูกจ้าง” ให้มาเป็น “ผู้เช่ารถ” เพื่อที่รถบรรทุกคันดังกล่าวจะได้ไม่ถูกริบ พฤติกรรมการค้าสำนวนแบบนี้ ทำให้รถบรรทุกที่บรรทุกน้ำหนักเกินไปเพียงเล็กน้อย 100-200 กิโลกรัม ซึ่งไม่มีเจตนาในการบรรทุกน้ำหนักเกินอยู่แล้ว ต้องถูกกฎหมายรังแก ในขณะที่รถบรรทุกที่จงใจบรรทุกน้ำหนักเกิน 30-40 ตัน กลับลอยนวลพ้นผิด หรือรับโทษเพียงแค่สถานเบา
นอกจากนี้ ยังพบเบาะแสเพิ่มเติมว่า ในบางท้องที่ พนักงานสอบสวนไม่ได้ดำเนินการค้าสำนวนโดยลำพัง แต่มีการเชื่อมโยงไปยังพนักงานอัยการบางท่านอีกด้วย ถือเป็นความเสื่อมเสียของกระบวนการยุติธรรมอย่างมาก
ซึ่งกรณีนี้ ทางจเรตำรวจ ได้รับข้อเสนอไปตรวจสอบสำนวนคดีที่เกี่ยวข้องกับรถบรรทุกน้ำหนักเกินย้อนหลัง หากพบพฤติกรรมการค้าสำนวนของพนักงานสอบสวน ก็จะสืบสวนขยายผล และพิจารณาดำเนินการทั้งทางวินัย และทางอาญากับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน โเยไม่มีการละเว้น
3. ทาง พล.ต.ต.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ รองผู้บัญชาการสอบสวนกลาง ได้เสนอแนวทางในการแก้ไขเพิ่มเติมว่า เพื่อป้องกันไม่ให้ตำรวจที่ไม่ดีบางนาย ใช้อำนาจตามอำเภอใจ โบกให้รถบรรทุกจอด แล้ววนตรวจจุกจิกไปมา เพื่อกลั่นแกล้งให้รถบรรทุกที่ไม่ยอมจ่ายส่วย เสียเวลาทำมาหากิน
ทางกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง จะออกคำสั่งเพื่อกำชับการใช้อำนาจของตำรวจทางหลวงทุกสถานี โดยจะโบกให้รถบรรทุกจอดเพื่อตรวจสอบ ในกรณีที่มีเหตุต้องสงสัยเท่านั้น เช่น พบลักษณะรถที่ต้องสงสัยตามการข่าวที่ได้รับ พบการดัดแปลงสภาพรถ หรือพบลักษณะทางกายภาพที่ต้องสงสัยว่าจะบรรทุกน้ำหนักเกิน เป็นต้น
ซึ่งท่านรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ย้ำว่า ด้วยประสบการณ์ของตำรวจทางหลวง แค่พิจารณาด้วยสายตา ก็รู้อยู่แล้วว่ารถบรรทุกสภาพแบบไหน ที่ต้องสงสัยว่าจะบรรทุกน้ำหนักเกิน ดังนั้นการโบกรถที่ไม่มีเหตุต้องสงสัยให้จอดตามอำเภอใจ เพื่อทำให้เสียเวลาทำมาหากิน จะต้องไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป
สุดท้ายนี้ ผมขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกท่าน ทั้งท่าน พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ พล.ต.ท.ฎิษพจน์ อิศรางกูร ณ อยุธยา พล.ต.ต.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ และ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว และเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกท่าน ที่กรุณาให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาส่วนทางหลวงนี้อย่างจริงจัง
สำหรับพรรคก้าวไกล ผม และ อ.สุรเชษฐ์ ก็จะเร่งผลักดันการแก้ไขที่ควบคู่กันไปกับการปราบปรามของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อีก 5 ด้านด้วยกัน คือ
1. การทบทวนแก้ไขกฎหมายที่ไม่ทันสมัย ไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริง บทกำหนดโทษที่ไม่ได้สัดส่วน การให้ดุลพินิจกับเจ้าหน้าที่ที่ล้นเกิน การขออนุญาต และงานทะเบียนที่มีขั้นตอนมากมายเกินจำเป็น
2. การออกกฎหมาย พ.ร.บ.ปกป้องผู้เปิดโปงการทุจริต (Whistleblower Protection Act) เพื่อทลายการทุจริตแบบยกรัง ทั้งขบวนการ สาวถึงต้นตอ
3. การวางระบบในการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐอย่างโปร่งใส มี AI ในการตรวจจับข้อพิรุธที่ส่อเค้าการทุจริต
4. การผลักดันให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ลง เช่น การชั่งน้ำหนักขณะรถวิ่ง (Weigh In Motion: WIM) และการใช้ระบบ GPS ในการสาวถึงผู้ประกอบการต้นทาง ที่มีเจตนาใส่น้ำหนักบรรทุกเกิน เป็นต้น
5. การยกเลิกระบบตั๋ว และการซื้อขายตำแหน่งในแวดวงตำรวจ และข้าราชการ ในกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ เพื่อให้ข้าราชการที่ตั้งใจทำงานโดยสุจริต มีความก้าวหน้าในอาชีพ ได้รับผิดชอบในระดับบังคับบัญชา ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้งานราชการ มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และปลอดจากการคอรัปชั่น
ผมเชื่อว่า ถ้าพวกเราช่วยกันทำตามหมุดหมายทั้งหมดเหล่านี้ ประเทศชาติบ้านเมือง จะดีขึ้นอย่างแน่นอนครับ
#เพื่อไม่ให้พลาดข่าวสารดีๆ อย่าลืมกดติดตามพวกเรา TOJO NEWS