จุลพันธ์ เผย นโยบายเติมเงิน 10,000 บาท จะเป็นการจุดชนวนให้เกิดการจับจ่ายในระบบเศรษฐกิจ สร้างโอกาส เกิดการจ้างงาน การลงทุนสร้างอาชีพ และรัฐบาลจะได้รับเงินคืนมาในรูปแบบของภาษี
ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้านโยบายโครงการเติมเงิน “ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท” ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาหลักเกณฑ์ความชัดเจนทุกๆอย่าง ทั้งขั้นตอนการใช้ กรอบระยะเวลาความเหมาะสม กลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับการเติมเงิน รวมถึงแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการฯ ซึ่งต้องอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง
โดยวันที่พฤหัสบดีที่ 12 ตุลาคมนี้ จะมีการประชุมนัดแรกของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ถึงความจำเป็น และวัตถุประสงค์ของโครงการ เพื่อหาข้อสรุปแนวทาง เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ ฯ พิจารณาต่อไป ซึ่งรายละเอียดความชัดเจนเกี่ยวกับโครงการฯ ทั้งหมด จะเปิดเผยให้ทราบภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้แน่นอน
สำหรับข้อเสนอแนะจากหลายฝ่าย จะมีการนำเข้าหารืออย่างแน่นอน แต่คงเป็นการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม ไม่ใช่ “การยกเลิกโครงการฯ ” ยืนยันทำโครงการฯนี้ แน่นอน
เพราะประชาชนทุกคนต่างรอคอยอยู่ อยากเห็นนโยบายนี้เดินหน้าตามที่ได้หาเสียงไว้ นโยบายเติมเงิน 10,000 บาทนี้ จะเป็นการจุดชนวนให้เกิดการจับจ่ายในระบบเศรษฐกิจ สร้างโอกาส เกิดการจ้างงาน การลงทุนสร้างอาชีพ และรัฐบาลจะได้รับเงินคืนมาในรูปแบบของภาษี และวางรากฐานสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
ด้านนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า การเติมเงินครั้งนี้ไม่เหมือนกับการเติมเงินในอดีต เรามีเงื่อนไขเพื่อให้ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจในเชิงบวกมากกว่าการกระจายงบประมาณแบบเดิม เปลี่ยนจากอนาล็อกเป็นดิจิทัล ทำให้ใช้เงินง่ายกว่า ไวกว่า และเงินในครั้งนี้ก็มีจำนวนมากต่อครอบครัว ที่จะส่งผลให้เกิดการลงทุนขนาดเล็ก เกิดการสร้างอาชีพใหม่ การลงทุนใหม่ ๆ ความเหลื่อมล้ำลดลง
นายเผ่าภูมิ ระบุว่า ส่วนหลายคนมองว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจมิติเดียว ยังไม่ได้ครบถ้วนรอบด้าน ยืนยันว่า เรามีนโยบายอื่น ๆ เพิ่มเติม มองไปถึงการสร้าง Super Application นำประเทศไปสู่ Digital Economy รวมถึงมีแผนและมาตรการในการส่งเสริมการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมใหม่ ๆ และอีกเรื่องคือความแตกต่างกันระหว่างเสถียรภาพ กับศักยภาพ
ที่ผ่านมาเราโตแบบมีเสถียรภาพ แต่โตต่ำ ไม่เพียงพอ แนวคิดใหม่นี้คือให้โตไปทั้งคู่ทั้งศักยภาพและเสถียรภาพ เพื่อสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงชดเชยรายจ่ายอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นข้อเสนอที่กระทรวงการคลังต้องนำไปพิจารณาเพื่อหาข้อสรุปต่อไป
#เพื่อไม่พลาดข่าวสารดีๆ อย่าลืมกดติดตามพวกเรา TOJO NEWS