หมอเตือน อย่ากินค้างคาว หวั่น! เจอเชื้อไวรัสนิปาห์-โคโรนาไวรัส แนะอย่าเสี่ยงกินของแปลกหวั่นทำโรคแพร่ระบาด
ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวถึงกรณีมีหญิงสาวรายหนึ่งทำคอนเทนต์ท้าลองเมนูสุดสยองรับประทานค้างคาวทำให้ประชาชนเกิดความกังวลว่าอาจจะเกิดโรคระบาด ว่า
มีอันตรายแน่นอน โดยสัตว์ที่อยู่ตามธรรมชาติเป็นแหล่งรังโรคที่มนุษย์ยังไม่เคยสัมผัส บางชนิดสามารถแพร่เชื้อจากสัตว์สู่คนได้ โดยเฉพาะค้างคาวที่มีไวรัสเยอะมาก เช่น ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอีโบลา(Ebola) ไวรัสนิปาห์ (Nipah virus) ที่ทำให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบ รวมถึงไวรัสโคโรนา(Corona virus)ที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 และไวรัสอีกหลายชนิด จึงไม่ควรไปสัมผัสกับค้างคาว โดยเฉพาะในประเทศไทยซึ่งมีแหล่งอาหารเต็มไปหมด จึงไม่ควรไปยุ่งกับสัตว์ป่า
ผศ.นพ.โอภาส กล่าวว่า รพ.จุฬาฯ ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มากกว่า 10 ปีสำรวจสัตว์ป่า ดูว่ามีโอกาสเกิดเชื้อไวรัส หรือโรคอะไรที่กระโดดมาคนหรือไม่ รวมถึงมีการสำรวจค้างคาวในประเทศไทยพบว่าเชื้อคล้ายกับไวรัสซาร์ส โคโรนา (Sars-CoV) แต่ยังไม่กระโดดจากสัตว์มาคน แต่หากวันหนึ่งที่ไวรัสพร้อมก็อาจทำให้เกิดโรคได้ ดังนั้น ก็จะมีความเสี่ยง ซึ่งจริงๆ พบได้มาก เช่นที่ประเทศลาวมีรายงานใกล้เคียงกับไทย
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงค์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ออกมาเตือนว่าไม่ควรรับประทาน ค้างคาวเนื่องจากเป็นสัตว์ป่าที่มีลักษณะการบินสูง มีระบบโซน่าป้องกันไม่ให้คนหรือสิ่งอื่นๆ เข้าใกล้ ดังนั้นจึงจับตัวได้ยาก หากสามารถจับได้ง่ายอาจแสดงว่าค้างคาวตัวนั้นป่วย ทำให้เกิดการติดเชื้อ เสี่ยงได้รับเชื้อไวรัส แบคทีเรียซึ่งเชื้อที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งในค้างคาวคือ นิปาห์ไวรัส (Nipah) รองลงมา โคโรนาไวรัส ทั้งนี้เชื้อนิปาห์ไวรัสนั้น เคยมีการติดเชื้อและเสียชีวิตที่ประเทศมาเลเซีย โดยค้างคาวไปแพร่เชื้อในหมู และคนติดเชื้อจากหมู เนื่องจากหมูเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมคล้ายกับคน
“ดังนั้นไม่จำเป็นอย่าไปรับประทาน ทานอย่างอื่นดีกว่า เพราะปกติลำพังมูลค้างคาวก็สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจได้” ผอ.กองระบาดวิทยา กล่าว