กัณวีร์ ตั้งคำถามกรณี ปิดศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ บางกุ้ง อ.เมือง จ.สุราษฎร์ฯ หากเด็กพม่าไม่เข้าถึงการศึกษา จะเป็นอะไรให้สังคมไทย
ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อพรรคเป็นธรรม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า
เหตุการณ์การปิดศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ บางกุ้ง อ.เมือง จ.สุราษฎร์ฯ ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานจัดการศึกษาให้เด็กเคลื่อนย้ายถิ่นฐานจากประเทศเมียนมาใน จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีเด็กมากกว่าพันคน แต่ศูนย์ฯ นี้ไม่ได้จดทะเบียนเป็นศูนย์การเรียนรู้ตามมาตรา 12 แห่ง พรบ.การศึกษาแห่งชาตินั้น ได้มีการพูดถึงในแวดวงการศึกษา วงกฎหมาย คนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน/มนุษยธรรม และสังคมในวงกว้างโดยทั่วไป
ความคิดแตกต่างหลากหลายครับ หากมองในมุมกฎหมายแล้ว หากไม่จดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมายที่มีอยู่ ผิดสถานเดียว มีโทษปิด ปรับ ดำเนินคดีต่อผู้เกี่ยวข้องทุกคน
แต่หากมองมุมกว้างๆ ขอให้ทุกคนเปิดใจในเรื่องดังกล่าวจากเหตุการณ์การ “ร้องเพลงชาติพม่า” กันก่อนนะครับ มองให้ดีครับ ตามข่าวที่ออกมา มีศูนย์การศึกษาอย่างนี้ที่ดูแลเด็กๆ ซึ่งเป็นลูกๆ ของแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัยจากเมียนมาทั้งหมด 63 แห่งทั่วไทย ที่ดูแลเด็กๆ ทั้งหมดเกือบสองหมื่นคน
และยังมีอีกส่วนมากที่ยังไม่ได้เข้าระบบ และในขณะเดียวกันระบบการศึกษาของไทยก็ไม่สามารถโอบรัดเด็กจำนวนหลายหมื่นคนที่ยังมีพื้นฐานที่แตกต่างกับเด็กไทยเข้าระบบด้วยเช่นกัน !!
คำถามคือ ยิ่งปิด มันจะยิ่งหายไปมั้ย ?? ปิดแล้วใครได้ประโยชน์ ?? เด็กประมาณ 2 หมื่นคน หรือสังคมไทยจะได้ประโยชน์อะไร ?? ปิดแล้วหากเด็กๆ สองหมื่นคนนี้เดินทางกลับประเทศต้นกำเนิดไม่ได้ สามารถเข้าสถานศึกษาในไทยได้มั้ย ?? หากเข้าไม่ได้ เค้าจะเป็นกลุ่มคนที่มีคุณภาพอย่างไร ?? แล้วหากต้องอยู่ในไทยอีกหลายสิบปีหรือตลอดไป และไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ เค้าจะเป็นอะไรในสังคมไทย ?? จะส่งผลที่ดีต่อสังคมไทยหรือไม่ ?? หากพวกเค้ายังไงก็ต้องอยู่ในสังคมไทย เอาเค้าเข้ามาเป็นประชากรที่มีคุณภาพของไทยดีกว่าหรือไม่ ??
เราต้องเริ่มตอบคำถามทีละคำถามด้วยใจที่เปิดกว้างครับ แล้วเราจะเห็นคำตอบที่ปลายทางด้วยตัวคำตอบในแต่ละคำถามมันเอง โดยปราศจากอคติใดๆ ครับ ต้องถือโอกาสนี้ในการจัดระบบศูนย์การศึกษาต่างๆ เหล่านี้ทั้งระบบไปเลยครับ หากเค้าไปไหนไม่ได้ ทำให้ถูกต้องเข้าระบบ ตรวจสอบ และสนับสนุนตามนโยบายการศึกษาของเรา ผู้ปกครองพวกเค้าที่เป็นแรงงานข้ามชาติต้องนำบุตรเข้าระบบอย่างถูกต้องและต้องไม่เป็นภาระให้ใครอีกต่อไป ยืนด้วยขาตัวเอง
เหมือนหลายๆ เรื่องที่มีอยู่ในไทยมาอย่างยาวนานแต่เราเอามาอยู่ใต้พรมตลอดเวลาเป็นหลายทศวรรษ ทำให้เกิดการกวาดล้างเป็นเทศกาล แต่ไม่เคยหายไปอย่างมีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา สุดท้ายผู้ที่ได้รับผลกระทบคือกลุ่มเปราะบางที่ควรจะมีการบริหารจัดการที่ดีกว่านี้ ที่มีประสิทธิภาพและสร้างประสิทธิผลได้มากกว่านี้ และพวกเค้าจะกลับมาช่วยพัฒนาสังคมที่พวกเค้าเข้ามาอยู่อย่างสร้างสรรค์
ตามที่ผมได้พูดไว้เสมอครับ “เปลี่ยนภาระ ให้เป็นพลัง” จะตามเรื่องนี้ให้ติดอีกเรื่องหนึ่งครับ ถึงแม้จะมีเสียงเดียวในสภาฯ แต่จะพยายามทำให้เต็มที่ครับผม
#เพื่อไม่พลาดข่าวสารดีๆ อย่าลืมกดติดตามพวกเรา TOJO NEWS