Connect with us

News

อ.เจษฎา เผย อะไรบ้าง ลักษณะข้าวเก่า 10 ปี ที่น่ากังวล??

Published

on

สรุป 9 ประเด็นสำคัญ จาก อ.เจษฎา กรณีข้าวเก่า 10 ปี กินได้จริงไหม

ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า

“สรุป 9 ประเด็นสำคัญ ข้อมูลเบื้องต้น เกี่ยวกับ “ข้าวเก่า 10 ปี” ที่เป็นข่าวกันตอนนี้”

1.ข้าวดังกล่าว เป็นข้าวสาร 100% พันธุ์ข้าวหอมมะลิ ของโครงการรับจำข้าว ที่เก็บไว้ในคลังข้าว ใน จ.สุรินทร์ มาเป็นเวลา 10 ปี

-เก็บไว้ในโกดังคลังข้าว 2 แห่ง คือ คลังข้าวกิตติชัย-หลัง 2 อำเภอปราสาท จ.สุรินทร์ และคลัง บจก. พูนผลเทรดดิ้ง-หลัง 4 อำเภอเมือง จ.สุรินทร์

-เป็นข้าวที่ร่วมโครงการจำนำข้าว ในปี 2556/2557 โดยเข้ามาเก็บในราวช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. 2557 (10 ปีก่อน)

-คลังกิตติชัย-หลัง 2 รับมอบข้าวสารเมื่อ ม.ค.-มี.ค. 2557 (เก็บมา 10 ปี 2 เดือน) คงเหลือข้าว 11,656 ตัน … มีการรมยากำจัดมอดทุก 2 เดือน

-คลัง บจก.พูนผลเทรดดิ้ง-หลัง 4 รับมอบข้าวสารเมื่อ มี.ค.-เม.ย. 2557 (เก็บมา 10 ปี 7 วัน) คงเหลือ 3,356 ตัน … รมยาทุกเดือน

-รมว. ภูมิธรรม บอกว่า ข้าวในคลังทั้ง 2 แห่ง เก็บรักษาอย่างดี รมยาตามมาตรฐาน ปิดโกดังแน่นหนา ไม่มีนกเข้า ไม่มีฝนตกที่ทำให้ข้าวเสีย

2.คุณภาพของข้าว ทาง รมว. บอกว่า ถ้าดูจากกายภาพ เมล็ดข้าวยังมีจมูกข้าว อาจจะมีความเหลืองมากขึ้น เป็นธรรมชาติของข้าวที่เก็บไว้นานเป็น 10 ปี

-แต่ข้อมูลจากวงการค้าข้าว บอกว่า สีที่เหลืองเข้มขึ้น มีปัจจัยจากการรมยากำจัดมอดด้วย คือ ข้าวปกติ เก็บไว้เฉย ๆ ก็จะเหลืองอยู่แล้ว แต่โดนกระตุ้นด้วยความร้อนจากการอบยา เลยทำให้เหลืองมากขึ้น

-ในกระบวนการอบยากำจัดมอด ต้องใช้ความร้อนเพื่อให้ตัวมอดตาย และไม่ให้ไข่ของมอดเกิดใหม่ (ไข่มอดจะสลาย โดยใช้เวลา 15-20 วัน) จึงต้องอบยาต่อเนื่อง ทุก ๆ 2 เดือน พออบยาบ่อยๆ ความร้อนทำให้ตัวผิวข้าวเป็นสีเหลือง

-การอบยา เป็นวิธีที่ใช้มาอย่างยาวนาน ในการส่งข้าวขายที่ต่างประเทศ กว่าเรือจะเดินทางไปถึง ยาที่รมก็หมดอายุพอดี (ปลอดภัย) แต่หากไม่รม บางประเทศจะไม่ยอมรับข้าว ถ้าเจอมอด

-สารเคมีที่กรมวิชาการเกษตร ก.เกษตร อนุญาตให้ใช้รมข้าวกำจัดมอด อยู่ในปัจจุบัน คือ เมทิลโบรไมด์ (methyl bromide) และอลูมิเนียมฟอสไฟด์ (aluminium phosphide) หรือฟอสฟิน โดยกรมการข้าวระบุว่า จะระเหยไปภายในระยะเวลา 5-7 วัน / เมทิลโปรไมด์ ถ้าตกค้างในข้าวสารแล้ว การล้างหลายๆ ครั้งหรือการหุง จะทำให้ลดลงได้อีก 40-50%

-แต่การรมควันข้าวที่เก็บไว้นี้ ปีละ 6-12 ครั้ง นั้นทำให้เกิดความกังวลว่าจะมีการตกค้างหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน การล้างน้ำหลายครั้ง จะกำจัดสารเมทิลโบรไมด์ที่ยังตกค้างอยู่ในเนื้อข้าวสารได้ จนไม่เกินมาตรฐานหรือไม่

3.ข้าวเก็บข้าวเป็น 10 ปี ยังใช้ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับวิธีการเก็บ

-เมื่อกว่า 10 ปีก่อน ประเทศอินเดีย ก็เคยเก็บสต็อกข้าวไว้นานถึง 8 ปี เพื่อเป็นสต็อกสำรองไว้ในช่วงขาดแคลน

-สำหรับประเทศไทย ไม่ได้เก็บข้าวยาวนานหลายปี เช่นนั้น เพราะจะกลายเป็นค่าใช้จ่าย เป็นต้นทุนของผู้ประกอบการ

-โดยปกติ “ข้าวเก่า” ที่ขายในตลาด ผู้ประกอบการจะเก็บเป็น “ข้าวเปลือก” ไม่ใช่ “ข้าวสาร” โดยในอดีต ไทยทำข้าวนาปี (ทำปีละครั้ง) จึงต้องเก็บ 7-8 เดือน เป็นข้าวเปลือก แล้วข้าว(เก่า)จึงจะแข็งและหุงขึ้นหม้อ

-แต่ในระยะหลัง ไทยปลูกข้าวนาปรัง ข้าวบางแบรนด์หรือยี่ห้อ เริ่มแข็งตั้งแต่ 3 เดือน การเก็บยาวนานถึง 7-8 เดือน กลายเป็นภาระ แบรนด์ข้าวบางรายจึงทำแบรนด์ย่อย แล้วขายแยก

-ส่วนการผลิต “ข้าวแข็ง” สำหรับการขายข้าวบรรจุถุง จะเก็บไว้อย่างมากที่สุด 1-2 ปี เพราะหากเก็บนานกว่านั้น ไม่คุ้มต้นทุน … โครงการเก่า ๆ อย่างเก่ง 3-4 ปี ก็ระบายหมดแล้ว

4.ภาคเอกชนที่มาร่วมพิสูจน์ข้าวด้วย บอกว่า จากที่เห็นด้วยตา ข้าวยังมีคุณภาพดี พร้อมร่วมประมูล โดยคาดว่าราคาจะอยู่ที่ช่วง 15-20 บาทต่อกิโลกรัม

-ตลาดที่ส่งออกจะเป็นตลาดแอฟริกา ซึ่งสนใจข้าวเก่าของไทย (อาจรวมถึงตลาดในประเทศด้วย) ต้องดูคุณภาพว่าจะเป็นตลาดบริโภค หรือเป็นอาหารสัตว์

-ตลาดแอฟริกา เน้นข้าวที่ราคาถูก คนกินข้าวเก่า ส่วนมากเป็นประเทศที่ค่อนข้างยากจน ถ้าข้าวราคา 10 กว่าบาท (ต่อกิโล) ก็จะถูกกว่ามันสำปะหลัง ถูกกว่าขนมปัง

-ถ้าดูราคาแล้ว ข้าวหักท่อน (ป็นข้าวใหม่ที่นำมาเป็นอาหารสัตว์) มีราคาถูกกว่าข้าวเก่าล็อตนี้ ตลาดผู้ซื้อจึงไม่น่าจะซื้อข้าวเก่านี้ไปเป็นอาหารสัตว์

5.ทำไมยังคงเหลือข้าวเก่าจากโครงการรับจำนำข้าว อยู่ที่เอกชน 2 รายนี้

-ข้าวคงเหลือทั้งหมด จากโครงการรับจำนำข้าวปี 2556/2567 ได้ถูก คสช. ที่ยึดอำนาจเมื่อ พ.ศ. 2557 เข้าควบคุม โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) และเริ่มระบายข้าวในเดือน ส.ค. 2557 จนถึงปี 2560

-โดยกระบวนการระบายข้าวนี้ ได้จัดกลุ่มข้าวเป็น 3 กลุ่ม ตามเกณฑ์คุณภาพของข้าว เพื่อขายแบบยกคลัง ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ข้าวทั่วไปเพื่อการบริโภค , กลุ่มที่ 2 เป็นข้าวระบายเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ , กลุ่มที่ 3 เป็นข้าวระบายเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่เพื่อการบริโภค (เช่น ทำปุ๋ย ทำเอทานอล) ซึ่งข้าวส่วนใหญ่ มีทั้งข้าวที่ไม่ได้มาตรฐานคุณภาพ และที่เป็นข้าวดี ปะปนกัน แต่ไม่สามารถแยกกองขายได้

-ในช่วงปี 2560 โกดังข้าวหลายแห่ง ร้องเรียนให้ระงับการระบายข้าว เพราะมีการตั้งราคาต่ำเกินจริง และมีการขายข้าวดี ในราคาข้าวที่ใช้ในอุตสาหกรรมสัตว์ (ราคาเพียงกิโลกรัมละ 4-5 บาท)

-ในช่วงดังกล่าว เจ้าของโกดัง (ทั้งสองนี้) อาจยืนกรานต่อรัฐว่า ราคาขายข้าวต้องได้สูงกว่านี้ ไม่อยากขายเป็นข้าวเสื่อมให้ขาดทุน / ในขณะที่ เจ้าของโกดังข้าวอีกหลายราย ยอมขายขาดทุน เพื่อเอาคลังสินค้าไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นแทน

6.แล้วจะขายข้าวเก่า 10 ปีนี้ไปต่างประเทศได้สำเร็จจริงหรือ

-ครั้งนี้ น่าจะเป็นครั้งแรกของไทย ที่มีการส่งออกข้าวที่เก่านานขนาดนี้ โดยตั้งเป้าไว้ที่จะส่งไปแอฟริกา กลุ่มประเทศยากจนที่น่าจะสนใจซื้อข้าวในราคาถูก

-การขายข้าวให้กับประเทศในทวีปแอฟริกา ส่วนใหญ่จะส่งออก โดยการนำไปนึ่งก่อน .. แต่ปรกติแล้ว การทำ “ข้าวนึ่ง” นั้น จะใช้ ‘ข้าวเปลือก’ มาทำ เพื่อให้ข้าวหักน้อยลง และปรับปรุงคุณค่าทางโภชนาการของข้าวเก่า (ยิ่งเก็บนาน คุณค่าทางโภชนาการก็จะน้อยลง) ให้สารอาหารจากชั้นเปลือก ซึมเข้าไปในเนื้อระหว่างการแช่น้ำและการนึ่ง ทำให้ข้าวที่ได้มีสีเหลืองอ่อน

-ดังนั้น ในกรณีของข้าวเก่า 10 ปี นี้ ซึ่งเก็บไว้เป็นข้าวสาร ก็อาจจะไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการนึ่งข้าวได้ บริษัทที่จะเข้ามาประมูล จะต้องหาวิธีอื่นในการปรับปรุงคุณภาพของข้าว

-ลักษณะที่เป็นที่กังวล ของข้าวเก่า 10 ปีสต็อกนี้ จะแก้ไขอย่างไรเพื่อให้สามารถส่งออกได้ เช่น

1. ข้าวมีสีเหลืองจากการเป็นข้าวเก่า : จะสามารถนำไปขัดสี ให้ออกมาขาว น่าพอใจหรือไม่

2. มีแมลงหรือมอดมากน้อยเพียงใด : มีการรมสารกำจัดมอดและแมลงอยู่ตลอด ซึ่งสารเหล่านี้จะสลายหายไปเมื่อถึงเวลา

3.มีเชื้อรา (และสารพิษจากเชื้อรา) หรือไม่ ? : นักวิชาการบางคนออกมาตั้งคำถาม และต้องมีการตรวจสอบให้ดี

4.มีกลิ่นไม่พึงประสงค์

-ตามเกณฑ์มาตรฐานการส่งออกข้า วซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศ ไว้นั้น จะเน้นไปที่ พื้นข้าว (คือ มีข้าวเมล็ดยาว ข้าวเมล็ดสั้น กี่เปอร์เซนต์) ส่วนผสมของเมล็ดข้าว (คือ มีข้าวเต็มเมล็ด ข้าวหัก ปลายข้าว กี่เปอร์เซนต์) ระดับการขัดสี และสิ่งที่ปน (คือ มีข้าวเมล็ดแดง ที่ขัดสีต่ำกว่ามาตรฐาน ข้าวเมล็ดเหลือง ข้าวเมล็ดท้องไข่ ข้าวเมล็ดเสีย ข้าวเหนียว ข้าวเปลือก ข้าวเมล็ดลีบ ข้าวเมล็ดอ่อน เมล็ดพืชอื่น และวัตถุอื่น กี่เปอร์เซนต์)

-คำนิยาม “พื้นข้าว” คือ สภาพข้าวโดยรวมที่ประกอบด้วยข้าวเต็มเมล็ด ที่มีความยาวในระดับต่างๆ ตามที่กำหนดที่ผสมปนกันอยู่ มีหน่วยเป็นร้อยละโดยน้ำหนัก / “ส่วนผสม” คือส่วนที่ประกอบด้วย ข้าวเต็มเมล็ด ต้นข้าว ข้าวหักและปลายข้าวซีวัน โดยต้นข้าว ข้าวเต็มเมล็ด ต้องมีไม่น้อยกว่าที่กำหนด ส่วนข้าวหัก ปลายข้าวซีวันต้องมีไม่เกินที่กำหนด มีหน่วยเป็นร้อยละโดยน้ำหนัก / “สิ่งเจือปน” ได้แก่ สิ่งที่อาจมีปนได้ ได้แก่ ข้าวประเภทอื่นที่ปนอยู่ ข้าวด้อยคุณภาพ เช่น เมล็ดเสีย เมล็ดลีบ ถูกแมลงทำลาย เมล็ดเหลือง เมล็ดแดง ข้าวท้องไข่ เป็นต้น และวัตถุอื่น เช่น ดอกหญ้า ซึ่งต้องมีไม่เกินที่กำหนด มีหน่วยเป็นร้อยละโดยน้ำหนัก / “ระดับการขัดสี” คือการขัดสีเอารำออกหมดหรือไม่เพียงใด ซึ่งกำหนดไว้สามหรือสี่ระดับ แล้วแต่ประเภทของข้าว คือสีดีพิเศษ สีดี สีดีปานกลาง และสีธรรมดา / “ความชื้น” ต้องไม่เกิน 14% โดยน้ำหนัก

-จะเห็นว่า การส่งออกข้าวนั้น ไม่ได้พิจารณาในเรื่องของกลิ่น จึงตัดปัญหาเรื่องกลิ่นออกได้

-ส่วนข้าวเมล็ดเหลือง สามารถปะปนได้ไม่เกิน 1.0% หมายความว่าก็น่าจะเอาข้าวเก่า 10 ปีนี้ไปปรับปรุงคุณภาพ (หรือเอาไปผสมกับข้าวใหม่)ให้มีเมล็ดเหลืองไม่เกิน 1% ก็จะสามารถส่งออกได้

-ตามปกติ กระทรวงพาณิชย์ มีหน้าที่รับผิดชอบตรวจคุณภาพข้าวก่อนส่งออก ส่วนการตรวจเรื่องแมลงอื่นๆ จะทำโดยบริษัทเอกชน

-การตรวจสอบคุณภาพข้าวที่ส่งออก ว่ามีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดหรือไม่ ต้องตรวจให้ครบทุกคุณลักษณะ หากผิดอย่างหนึ่งอย่างใดก็ถือว่าข้าวนั้นผิดมาตรฐาน

-นอกจากนี้ ผู้ซื้ออาจกำหนดคุณลักษณะอื่น เพิ่มขึ้น เช่น บางรายกำหนดว่าต้องมีการขัดสีเมล็ดข้าวให้วาว สองรอบ (Double polish) , บางราย ต้องการซื้อข้าวเก่าไปผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยว ก็อาจยอมให้มีข้าวเมล็ดเหลืองเกินกว่าที่กำหนดตามมาตรฐานข้าว

-ส่วนเรื่องที่ว่า เก็บไว้นานแค่ไหน มีคุณลักษณะเป็นข้าวเก่าหรือข้าวใหม่นั้น ไม่มีกำหนดไว้ในมาตรฐานข้าว แต่มักเป็นไปตามความตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย (เช่น จีน ซื้อข้าวจากรัฐบาลไทยแบบจีทูจี และระบุว่า ต้องเป็นข้าวฤดูการผลิตใหม่ มีอายุเก็บรักษาไม่เกิน 4 เดือน , ฮ่องกง ส่วนมากจะระบุว่า ต้องเป็นข้าวฤดูการผลิต ปีปัจจุบัน , อินโดนีเซีย ระบุว่าต้องเป็นข้าวฤดูการผลิตล่าสุด ไม่เกิน 6 เดือน , ฟิลิปปินส์ บางรายกำหนดเงื่อนไขเป็นข้าวฤดูการผลิตล่าสุด ไม่เกิน 6 เดือน

7.ส่วนเรื่องสารพิษจากเชื้อรา ที่อาจปนเปื้อนในข้าวเก่านั้น มีมาตรฐานกำหนดเอาไว้เช่นกัน ว่าจะต้องไม่เกินเท่าไหร่

-อะฟลาทอกซิน เป็นสารพิษจากเชื้อรา, เป็นสารก่อมะเร็ง, ทนความร้อนได้สูงถึง 260° C ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ. 2522) กําหนดว่า อาหารจะปนเปื้อนอะฟลาทอกซิน ได้ไม่เกิน 20 ไมโครกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม (จาก http://bqsf.dmsc.moph.go.th/…/2017/06/e-book/aflatoxin.pdf)

-อะฟลาทอกซิน (อังกฤษ: aflatoxins) เป็นสารเคมีมีพิษและก่อมะเร็งที่ผลิตจากราบางชนิด (Aspergillus flavus และ Aspergillus parasiticus) ซึ่งเจริญในดิน พืชพรรณที่ย่อยสลาย ฟางและเมล็ดพืช

-มักพบในโภคภัณฑ์สำคัญที่เก็บอย่างไม่เหมาะสม เช่น มันสำปะหลัง พริกไทย ข้าวโพด เมล็ดฝ้าย ข้าวเดือย ถั่วลิสง ข้าวฟ่าง เมล็ดดอกทานตะวัน ผลเปลือกแข็งเมล็ดเดียว ข้าวสาลี และเครื่องเทศหลายชนิด

-เมื่ออาหารที่ปนเปื้อนถูกแปรรูป อะฟลาทอกซินจะเข้าสู่แหล่งอาหารทั่วไปซึ่งมีการพบทั้งในอาหารคนและสัตว์ เช่นเดียวกับในอาหารสัตว์สำหรับสัตว์ทางการเกษตร

-สัตว์ที่ได้อาหารที่ปนเปื้อน สามารถส่งผ่านอะฟลาทอกซินสู่ไข่ ผลิตภัณฑ์นมและเนื้อสัตว์ได้ (ดูรูปประกอบ)

-เด็กได้รับผลกระทบจากการสัมผัสอะฟลาทอกซินมากเป็นพิษ ทำให้การเติบโตช้า พัฒนาการช้า ตับเสียหายและมะเร็งตับ / ผู้ใหญ่มีความทนต่อการสัมผัสมากกว่า แต่ก็ยังมีความเสี่ยง / ไม่มีสัตว์ชนิดใดมีภูมิต้านทาน

-อะฟลาทอกซินจัดเป็นสารก่อมะเร็งได้มากที่สุดชนิดหนึ่งเท่าที่ทราบ หลังเข้าสู่ร่างกาย อะฟลาทอกซินจะถูกตับ สลายเป็นสารตัวกลางอีพอกไซด์กัมมันต์ หรือถูกย่อยสลายด้วยน้ำ กลายเป็นอะฟลาทอกซิน เอ็ม1 ซึ่งเป็นอันตรายน้อยกว่า

-อะฟลาทอกซินส่วนใหญ่ ได้จากการกิน แต่อะฟลาทอกซินชนิด บี1 ซึ่งเป็นพิษมากที่สุด สามารถผ่านเข้าทางผิวหนังได้

-ค่าระดับการแสดงฤทธิ์ ที่องค์การอาหารและยาสหรัฐ (FDA) กำหนดสำหรับอะฟลาทอกซินในอาหารหรืออาหารสัตว์อยู่ที่ 20 ถึง 300 ส่วนต่อพันล้านส่วน / FDA ยังสามารถประกาศเรียกคืนอาหารคนและสัตว์ได้ เป็นมาตรการล่วงหน้า เพื่อป้องกันการสัมผัส

-คำว่า “อะฟลาทอกซิน” มาจากชื่อของราตัวหนึ่งที่ผลิตสารนี้ คือ Aspergillus flavus มีการประดิษฐ์คำนี้ประมาณ ค.ศ. 1960 หลังการค้นพบว่าสารนี้เป็นบ่อเกิดของ “โรคไก่งวงเอกซ์”

-นอกจาก อะฟลาทอกซิน เอ็ม 1 (Aflatoxin M1) และ อะฟลาทอกซินทั้งหมด (Aflatoxin B1 B2 G1 และ G2) แล้ว สารพิษจากเชื้อรา (Mycotoxins) นั้น ยังมีอีกหลายชนิด เช่น โอคราทอกซินเอ (Ochratoxin A) ดีออกซีนิวาลีนอล (Deoxynivalenol: DON) ฟูโมนิซินบี 1 และบี 2 (Fumonisins B1 และ B2) และพาทูลิน (Patulin) ซึ่งเป็นสารพิษจากธรรมชาติที่ผลิตโดยเชื้อรา หลายชนิดสามารถสร้างสารพิษได้ เช่น Aspergillus, Penicillium, Fusarium, Clavicep, Alternaria และ Stachybotyrs เป็นต้น Mycotoxins เป็นพิษต่อสุขภาพทั้งคนและสัตว์ หากคนหรือสัตว์รับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารพิษในปริมาณสูง อาจทำให้เกิดความเป็นพิษแบบเฉียบพลัน หรือหากได้รับในปริมาณน้อย แต่ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาจเกิดการสะสมและเกิดโรคในภายหลังได้เช่นกัน เช่น ทำให้เกิดโรคมะเร็ง พิษต่อระบบสืบพันธุ์ ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ พิษต่อทารกในครรภ์ พิษต่อตับ พิษต่อไต พิษต่อระบบประสาท กดภูมิคุ้มกันของร่างกาย เป็นต้น

8.แล้วที่นักวิชาการบางท่าน บอกว่า ข้าว ถ้าเก็บได้อย่างเหมาะสม ก็จะเก็บได้นานหลายปี อันนี้ต้องเก็บรักษาอย่างไร ?

-ตัวของ “ข้าวสาร” นั้น ไม่ได้เป็นอาหารที่กำหนด “วันหมดอายุ” เอาไว้ แต่ข้าวที่จะมีอายุการเก็บรักษาได้นานๆ ต้องเก็บรักษาในที่ แห้งและเย็น บรรจุในภาชนะที่ปิดสนิท เพื่อป้องกันฝุ่น ความชื้น สารปนเปื้อน และ แมลง / ถ้าเป็น “ข้าวเต็มเมล็ด (ข้าวกล้อง)” จะมีอายุการเก็บรักษาเพียง 6 เดือนเท่านั้น เนื่องจากมีน้ำมันรำข้าว ควรเก็บไว้ในตู้เย็นหรือช่องแช่แข็ง

-นอกจากแสง อากาศ ที่ควรหลีกเลี่ยงแล้ว ยังควรหลีกเลี่ยงการเก็บข้าวสารไว้ใกล้กับผลผลิตที่มีกลิ่นแรง เช่น กระเทียม หัวหอม เพราะข้าวมีคุณสมบัติสามารถดูดซับกลิ่น

-ส่วนใหญ่ การเก็บข้าว จะเก็บในโรงเก็บตามสภาพปกติ มีควบคุมอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ เนื่องจากค่าใช้จ่ายต่ำ แต่มีโอกาสเสียหายสูง

-การเก็บในสภาพที่ควบคุมอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศ เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด ป้องกันความเสียหายของข้าวได้ดี เก็บรักษาให้คงคุณภาพดีได้เป็นเวลานาน แต่มีการลงทุนและเสียค่าใช้จ่ายสูง ส่วนใหญ่ จึงนิยมสำหรับงานวิจัยเป็นหลัก

-ข้าวที่บรรจุในถุงวางขาย มักจะกำหนดวันหมดอายุ 1 ปี หลังวันผลิตเสมอ แต่ถ้าหุงกินไม่ทัน ก็ไม่จำเป็นต้องทิ้ง ยังสามารถกินได้ เพียงแต่ข้าวจะเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมและระยะเวลา

-การเก็บรักษาข้าว ที่จะช่วยยืดอายุข้าวได้มากขึ้น คือ เก็บในรูป “ข้าวเปลือก” โรงสีจะรับซื้อข้าวเปลือกไว้ เมื่อจะนำออกขาย ถึงค่อยสีข้าวให้เป็น “ข้าวสาร” / ส่วนข้าวสารที่ถูกสีแล้ว เมื่อเก็บไว้นาน ย่อมเกิดการเสื่อมสภาพ เพราะข้าวก็คือแป้งที่ดูดความชื้นได้ง่าย

-“เชื้อรา” ในโรงเก็บข้าวสาร เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดการสูญเสีย หากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เชื้อราสามารถเข้าทำลายได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เมล็ดข้าวมีคุณภาพต่ำ และไม่เป็นที่ต้องการของตลาด

-นอกจากนั้น ยังต้องกังวลเรื่องของ “แมลง”ในโรงเก็บ ที่พบมากที่สุด คือ มอดหัวป้อม ผีเสื้อข้าวเปลือก และด้วงงวงข้าว

9.แล้วที่มีนักวิชาการออกมาเตือนไม่ให้เอาข้าวเก่า 10 ปีนี้มาขายเป็นอาหารคน อาหารสัตว์ แต่ให้ไปทำเอทานอลแทนล่ะ ?

-รศ. พันทิพา พงษ์เพียจันทร์ ที่ปรึกษาฝ่ายวิจัยและวิชาการ คณะเกษตรศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ออกมาโพสต์ข้อความเตือน ลงในเฟซบุ๊ก โดยมีเนื้อหาสรุป ดังนี้

-โดยปกติ อาหารสัตว์ จะเก็บพวกธัญเมล็ดต่าง ๆ (รวมถึงข้าว) ได้อย่างมาก 1 ปี ที่อุณหภูมิห้อง เช่นเดียวกับที่โรงสี / นอกจากการรมควันแล้ว ความชื้นในเมล็ดธัญพืช จะต้องไม่เกิน 12% เพราะพวกนี้สามารถดูดซึมน้ำกลับได้

-จากสภาพการเก็บของโรงสีดังกล่าว ซึ่งเก็บข้าวในกระสอบป่าน ที่วางทับซ้อนกันสูงมาก อาจทำให้อากาศไม่ถ่ายเท ส่งเสริมการดูดซึมน้ำกลับ ความชื้นในเมล็ดข้าวสูงขึ้น ส่งเสริมการเจริญของมอด แมลงต่าง ๆ

-หากจะเก็บไว้นานกว่านี้ จะต้องเก็บในสภาพเย็นแบบแห้ง (Cold dry processing) อุณหภูมิต้องไม่เกิน 13 °C แมลงไม่ฟักออกเป็นตัว

-สภาพการวางทับกระสอบ ทำให้ไม่สามารถรมยาทั่วถึง เห็นได้ชัดว่ามีมอดข้าวและด้วง เมล็ดข้าวมีความชื้น ส่งเสริมการเติบโตของมอด แมลงต่าง ๆ

-มูล ของมอดแมลง นำมาซึ่งการเจริญของเชื้อราและแบคทีเรีย ทำให้ข้าวเน่าและได้รับสารพิษได้ / สภาพข้าวที่หุงออกมา มีไม่น้อย ที่มีสีน้ำตาลตรงปลายเมล็ด นั่นคือ เม็ดข้าวที่ขึ้นรา / ควรตรวจหา สารอะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) โดยใช้เทคนิค บี จี วาย ฟลูโอเรสเซนท์ (Bright Greenish-Yellow Fluorescent)

-สารอะฟลาท็อกซิน ทนอุณหภูมิได้ถึง 250°C และอาจมีสารพิษอื่น ๆ อีกหลายตัว อุณหภูมิข้าวที่หุงน้ำเดือด 100°C ไม่สามารถทำลายพิษจากเชื้อราได้ อาจทำลายได้เพียงแบคทีเรียจากมูลของแมลง

-ไม่ควรขายให้คนนำไปบริโภค เพราะอาจจะทำให้มีผู้ป่วยด้วยมะเร็งมากขึ้น / กรณีนำไปเลี้ยงสัตว์ ก็จะได้ผลิตภัณฑ์ เนื้อ นม ไข่ ที่มีสารพิษจากเชื้อราตกค้างในอาหาร ทำให้เพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งมากขึ้น

-ขอแนะนำให้นำข้าวเหล่านี้ ไปผลิตเป็นแอลกอฮอล์ หรือน้ำส้มสายชู และควรสอบถามนักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร

-การตรวจสอบสารพิษเหล่านี้ สามารถตรวจได้ที่มหาวิทยาลัยที่มีห้องปฏิบัติการตรวจอาหารทั่วไป หรือ กรมปศุสัตว์ หรือบริษัทรับตรวจสารพิษในอาหาร

-นอกจากนี้ รศ.พันทิพา ยังได้โพสต์เฟซบุ้คเพิ่มเติม ถึงการตรวจสอบสารพิษจากเชื้อราในเบื้องต้น ด้วยตนเองอีกด้วย โดยแนะนำว่า “วิธีตรวจข้าว ใช้กล่องกระดาษและกระดาษคาร์บอนสีดำก็ได้ เจาะรูด้านบน ให้หลอดยูวีเสียบได้ ปิดไฟมืดพร้อมผ้าคลุมอีกชั้น ทำตอนกลางคืน จะเห็นการสะท้อนแสงชัด ของโคจิกแอซิด (Kojic acid) ที่บ่งบอกว่ามีอะฟลาท็อกซิน สามารถตรวจในกระเทียม พริกป่น ฯลฯ ได้” และย้ำว่า “สารพิษจากเชื้อรา ไม่ได้มีแค่อะฟลาท็อกซิน มันมีมากกว่านั้น ส่วนใหญ่เป็นท็อกซิน กินแล้วไม่ดิ้นตายทันที เหมือนพวกยาพิษ (poison) แต่จะค่อยๆ สะสมไปเรื่อยๆ จนร่างกายเกิดเจ็บป่วย เช่น มะเร็ง เป็นต้น แม้จะล้างราออกไปแล้ว แต่สารพิษยังมีอยู่

แม้จะตัดส่วนที่ขึ้นราทิ้งออกไป แต่สารพิษได้กระจายไปทั่วแล้ว เช่น กลีบกระเทียมจุ ดสีน้ำตาลถูกตัดออกไปแล้ว หรือผลไม้/ขนมปัง ที่เราคิดว่าตัดหรือบิดเอาส่วนที่เน่าเสียทิ้งไปแล้ว แต่สารพิษกระจายไปทั้งกลีบ ทั้งแผ่นแล้ว”

#เพื่อไม่พลาดข่าวสารดีๆ อย่าลืมกดติดตามพวกเรา TOJO NEWS

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: