“อาจารย์อุ๋ย” จี้ รัฐบาลเร่งยกระดับความปลอดภัยทางถนน ทำคนไทยตายชั่วโมงละ 2 คน สูงเป็นอันดับ 1 ในเอเชียและเป็นอันดับ 9 ของโลก
ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า จากเหตุการณ์รถทัวร์โดยสารสายกรุงเทพ-นาทวี ประสบอุบัติเหตุจนทำให้มีผู้เสียชีวิต 16 คน และบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมากนั้น นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้ความเห็นว่า ในปี 2563-2565 คนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นจำนวน 49,525 คน (ซึ่งมากกว่าผู้เสียชีวิตจากโรค COVID-19 ที่มีตัวเลข 34,492 คน) ซึ่งสูงเป็นอันดับ 1 ของทวีปเอเชีย และอันดับ 9 ของโลก จากการจัดอันดับโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งหนึ่งในสาเหตุสำคัญมาจากการบังคับใช้กฎหมายจราจรที่ต้องมีการกวดขันอย่างจริงจังให้เป็นมาตรฐานในระยะยาว ไม่ใช่แต่เฉพาะในช่วงเทศกาลเท่านั้น เช่น พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
ซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบการขนส่งทางบกต้องดูแลรถที่จะนำมาขนส่งให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยพร้อมใช้งานโดยปลอดภัย ไม่บรรทุกผู้โดยสารเกินอัตราที่กำหนด ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง และผู้ขับรถต้องไม่ขับรถเกินกว่าจำนวนชั่วโมงที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ ในรอบ 24 ชั่วโมงห้ามมิให้ผู้ขับรถปฏิบัติหน้าที่ขับรถติดต่อกันเกิน 4 ชั่วโมง นับแต่ขณะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ขับรถ แต่ถ้าในระหว่างนั้น ผู้ขับรถได้พักติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมง ก็ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้อีกไม่เกิน 4 ชั่วโมงติดต่อกัน เป็นต้น
นอกจากนี้ ตนอยากฝากให้รัฐบาลแก้ปัญหาเรื่องความไม่เป็นเอกภาพของการบังคับใช้กฎหมายจราจรทางบก เพราะในปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่เป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ
ซึ่งทำให้ขาดการบูรณาการ ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างดูแลเฉพาะส่วนที่รับผิดชอบ ขาดประสิทธิภาพเท่าที่ควร และทำให้ปัญหาอุบัติเหตุการจราจรบนท้องถนนกลายเป็นภารกิจรอง แต่ถ้ามีการตั้งหน่วยงานให้รับผิดชอบเรื่องนี้โดยเฉพาะโดยการยุบ ควบ รวม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด การแก้ปัญหาอุบัติเหตุและลดปัญหาอุบัติเหตุจราจรในประเทศไทยก็จะเป็นภารกิจหลักภารกิจเดียวขององค์กรนี้ จากนั้นค่อยแบ่งย่อยออกมาว่าควรมีหน่วยงานอะไรที่อยู่ภายใต้องค์กรนี้อีกที เช่น หน่วยงานด้านวิศวกรรมจราจร ซึ่งมีหน้าที่ออกแบบถนน/ยานพาหนะ ให้เกิดความปลอดภัย ปลูกต้นไม้ริมทางที่สามารถดูดซับแรงกระแทกจากการชนของยานพาหนะได้ หรือพิจารณาว่ารถทัวร์สองชั้นปลอดภัยหรือไม่ เป็นต้น
สุดท้ายนี้ตนอยากฝากถึงทุกภาคส่วนในสังคมว่า ปัญหาอุบัติเหตุจราจรไม่ใช่ความรับผิดชอบของหน่วยงานใดหรือใครคนใดคนหนึ่ง แต่สามารถป้องกันได้ โดยการที่ประชาชนทุกคนช่วยกันปฏิบัติตามกฎจราจร มีจิตสำนึกในเรื่องของความปลอดภัย คิดว่าผู้ใช้ถนนทุกคนไม่ว่าจะเป็น คนเดินเท้า คนใช้จักรยาน จักรยานยนต์ รถยนต์ ผู้โดยสาร ฯลฯ ล้วนเปรียบเสมือนญาติพี่น้องหรือบุคคลในครอบครัว และหากต้องมีผู้สูญเสียชีวิตหรือบาดเจ็บทุพลภาพ ก็จะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อสมาชิกในครอบครัวของผู้ประสบเหตุอีกเป็นทอด ๆ และทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียประโยชน์ทางเศรษฐกิจนับ 5 แสนล้านบาทต่อปี (อ้างอิงจากกงานวิจัยของ TDRI)
#เพื่อไม่ให้พลาดข่าวสารดีๆ อย่าลืมกดติดตามพวกเรา TOJO NEWS