News
สะเทือน!! หนังสือเรียนองค์การค้าฯ พ่นพิษ! รุ่งศิลป์ ยัวะ! ฟ้องกราวรูด บอร์ด สกสค.พร้อมพวก 18 ราย
Published
5 เดือน agoon
By
Admin Tojoบอร์ด สกสค. ส่อซวย! ยกชุด พ่วงเอาผิด 18 ราย รุ่งศิลป์ ฟ้อง ป.ป.ช.เอาผิด ปมหนังสือเรียนองค์การค้าฯ
เมื่อวันที่ 6 ส.ค.2567 นายนัทธพลพงศ์ จิวัจฉรานุกูล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทรุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977) จำกัด เปิดเผยว่า ตนได้ยื่นหนังสือกล่าวหาเพิ่มเติมร้องเรียน คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(บอร์ด สกสค.)และคณะกรรมการองค์การค้าของสกสค.(บอร์ด องค์การค้า)ซึ่งเป็นบุคคลชุดเดียวกัน ผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. รองผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค.คณะกรรมการออกข้อกำหนด TOR คณะกรรมการกำหนดราคากลาง และสำนักพิมพ์เอกชน 5 บริษัท ต่อ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
โดย นายนัทธพลพงศ์ กล่าวว่า สืบเนื่องจาก โครงการจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนขององค์การค้า สกสค.ได้ทำการจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียน ปีการศึกษา 2567 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยหลีกเลี่ยงการประกวดราคาและกำหนด TOR กีดกัน บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ ไม่ให้เสนอราคาในกลุ่มประเภทหนังสืออื่นๆ โดยกำหนดให้เสนอราคาจำนวน 4 รายการของแต่ละกลุ่มเท่านั้น ทั้งที่มีจำนวน 30 กลุ่ม ตามความละเอียดที่เคยแจ้งแล้วนั้น แต่ยังมีข้อเท็จจริงบางประการที่บริษัทฯ จะขอกล่าวหาร้องเรียนเพิ่มเติม บุคคลดังกล่าวข้างต้นได้ร่วมกันกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 กล่าวคือ ในการที่องค์การค้าของ สกสค.ได้ดำเนินการจ้างโรงพิมพ์เอกชนเป็นผู้พิมพ์หนังสือให้องค์การค้าฯ นั้น จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560
เนื่องจากองค์การค้าของ สกสค.อยู่ภายใต้การกำกับของ สกสค.และสกสค.เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติ สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 เป็นนิติบุคคลในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ (มาตรา67) รายได้ส่วนหนึ่งมาจากเงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน สกสค. จึงเป็นหน่วยงานของรัฐ และสามารถหารายได้และผลประโยชน์ต่างๆ ผ่านองค์การค้าของ สกสค.ทั้งนี้เป็นไปตามข้อบังคับของ สกสค. ว่าด้วยการบริหารงานองค์การค้าของ สกสค. ดังนั้น องค์การค้าของ สกสค. จึงเป็นหน่วยงานในกำกับของ สกสค. และเป็นหน่วยงานของรัฐ คณะกรรมการ สกสค. และคณะกรรมการองค์การค้าของ สกสค. เป็นบุคคลคนเดียวกันชุดเดียวกัน มาจากรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและข้าราชการระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ และผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. ที่มาบริหารงาน องค์การค้าของ สกสค.บางครั้งก็จ้างมาจากเอกชน บางครั้งก็ให้ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการมาดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ
ดังนั้นองค์การค้าของ สกสค. จึงเป็นหน่วยงานของรัฐ และพนักงานขององค์การค้าของ สกสค.จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561และพระราชบัญญัติว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 การจัดซื้อจัดจ้างของ องค์การค้าของ สกสค. จะต้องปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 หากปฏิบัติไม่ถูกต้องก็จะต้องมีความผิดอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ในเรื่องอำนาจการจัดซื้อจัดจ้างผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. มีอำนาจจัดซื้อจัดจ้างภายใต้วงเงินจำกัดเพียง 20 ล้านบาท ตามข้อบังคับของ สกสค. ถ้าเกินวงเงินเป็นอำนาจของ คณะกรรมการองค์การค้าของสกสค. ซึ่งก็คือ บอร์ด สกสค. แยกกันไม่ออก
ซึ่งการจัดซื้อครั้งนี้มีวงเงินงบประมาณเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 980 ล้านบาท จึงต้องขออนุมัติจากคณะกรรมการองค์การค้าของ สกสค. ซึ่งก็คือบอร์ด สกสค. และการจัดจ้างพิมพ์หนังสือครั้งนี้ องค์การค้าของสกสค.ดำเนินการใช้วิธีคัดเลือก โดยไม่ใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป ทั้งที่ทราบล่วงหน้าแล้วว่าจะต้องมีการจ้างเอกชนพิมพ์หนังสือ เพราะเกินกำลังการผลิตของ องค์การค้าของ สกสค. และมีการจ้างเอกชนพิมพ์หนังสือมาโดยตลอด การใช้วิธีการคัดเลือกโดยหลีกเลี่ยงวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป จึงเป็นการกระทำที่ปกปิด ไม่ประกาศเชิญชวนอย่างแพร่หลาย จึงเป็นการหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542
“ดังนั้นจึงเข้าใจได้ว่าองค์การค้าของ สกสค. ประสงค์ที่จะแบ่งงานพิมพ์ให้กับบริษัทต่างๆ ที่เคยร่วมธุรกิจกับองค์การค้าฯตามรายชื่อบริษัทฯและหจก.ที่กล่าวข้างต้น ในวงการเรียกว่า 5 เสือ เป็นผู้ได้งานกับองค์การค้าของ สกสค. โดยตลอด ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน บริษัทและหจก.ทั้ง 5 ราย ได้ไปซื้อกระดาษกับร้านกระดาษในราคาสูงกว่าท้องตลาดถึง 30% และองค์การค้าของ สกสค. ก็มากำหนดราคากลางในการจ้างพิมพ์ให้สูงตามเพื่อให้สอดคล้องกับราคาที่เอกชนผู้เสนอราคาทั้ง 5 รายซื้อมาและในการเสนอราคาทั้ง 5 ราย จะมีการตกลงกันในการเสนอราคาให้แต่ละรายเสนอราคาต่างกันเล็กน้อย หรือในวงการเรียกว่าหลบราคากัน
และให้แต่ละรายเสนอราคาลดจากราคากลางเพียงเล็กน้อยเช่นกัน เพื่อแบ่งงานกัน ไม่มีการแข่งขันราคาอย่างแท้จริง แม้ว่าการจัดจ้างครั้งนี้องค์การค้าของสกสค. จะอ้างว่าใช้วิธีคัดเลือกสามารถเลือกที่จะซื้อจากใครก็ได้ แต่การใช้วิธีการคัดเลือกดังกล่าวไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 เพราะหลีกเลี่ยงการใช้วิธีประกาศเชิญชวนโดยทั่วไป โดยอ้างว่าจะพิมพ์ไม่ทัน ทั้งที่มีการจ้างพิมพ์ทุกปีและรู้ล่วงหน้าทุกปีเพราะโรงพิมพ์ขององค์การค้าฯ ไม่มีศักยภาพเพียงพอ ซึ่งตนได้ไปยื่นร้องเรียนต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ กรมบัญชีกลาง ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวได้มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาให้ตนทราบแล้ว
โดยสรุปได้ว่า การที่ สกสค. โดยองค์การค้าของ สกสค.กำหนดเงื่อนไขใน TOR ข้อ 4.4 กำหนดว่า “การยื่นข้อเสนอ ผู้ยื่นต้องยื่นข้อเสนอเป็นกลุ่มตามประเภทของหนังสือแบบเรียนการจัดพิมพ์ จำนวน 30 กลุ่ม ตามข้อ 17 ข้อ 8.2 กำหนดว่า “การยื่นเสนอราคาผู้ยื่นเสนอจะยื่นได้จำนวน 1 รายการ ของแต่ละกลุ่ม ตามที่กำหนดในข้อ 8.1 และขอบเขตของงานรายละเอียดและคุณลักษณะ (TOR) โดยไม่มีเงื่อนไขใดทั้งสิ้น และข้อ 16.2 กำหนดว่า “ผู้ว่าจ้างจะพิจารณาราคาต่อรายการ” ซึ่งโครงการนี้เป็นการจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียน ปีการศึกษา 2567 จำนวน 151 รายการ การกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวจึงเป็นการกีดกันการเสนอราคา ทำให้ไม่สามารถยื่นข้อเสนอราคาได้ทั้ง 151 รายการ หรือได้ตามศักยภาพและตามความประสงค์ของผู้ยื่นข้อเสนอ จึงขัดกับหลักการตามนัยมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ซึ่งตามหนังสือแจ้งผลของกรมบัญชีกลางจึงมีความชัดเจนว่า การกำหนดเงื่อนไข ใน TOR ขององค์การค้าของ สกสค. เป็นการกีดกันการเสนอราคา จึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542
ทั้งนี้ สกสค. โดยองค์การค้าของ สกสค. ประสงค์ที่จะแบ่งงานพิมพ์ให้กับบริษัทต่างๆ ที่เคยร่วมธุรกิจกับองค์การค้าฯตามรายชื่อบริษัทฯที่กล่าวข้างต้น จึงทำให้ไม่มีการแข่งขันราคากันอย่างแท้จริง ซึ่งตนได้ยื่นหนังสือร้องเรียนกรณีนี้กับ พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ ในฐานะประธานบอร์ด สกสค.แล้ว แต่ก็ละเว้นไม่ดำเนินการใดๆ จึงเป็นการร่วมกันกระทำความผิดอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ตั้งแต่หลีกเลี่ยงการใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป แต่ไปใช้วิธีคัดเลือก ทำให้ไม่มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และไปกำหนดราคากลางให้สูงตามที่บริษัทและหจก.ทั้ง 5 ราย ไปซื้อกระคาษในราคาสูงกว่าท้องตลาด 30 เปอร์เซ็น และยังไปออกข้อกำหนดในTOR เพื่อกีดกันไม่ให้บริษัทรุ่งศิลป์การพิมพ์ฯเสนอราคาทั้งหมด 151 รายการ แต่ให้เสนอเพียงรายละ 1 กลุ่ม ทั้งที่บริษัทรุ่งศิลป์การพิมพ์ฯมีศักยภาพที่สามารถทำได้ทั้ง 151 รายการ และในราคาที่ต่ำกว่าราคากลาง รวมทั้งเป็นการกีดกันผู้เสนอราคารายอื่นด้วย เพียงเพื่อจะให้กลุ่มบริษัทและ หจก 5 รายดังกล่าว ได้งานแบ่งกัน”นายนัทธพลพงศ์ กล่าว